รศ.ดร.วิลาสินี ฝันอยากเห็นระบบสื่อตอบสนองคนทั้งประเทศ
เปิดโจทย์การปฏิรูปสื่อควรทำครบวงจร ทั้งปฏิรูปเชิงโครงสร้าง แก้ไขกม. ด้าน ดร.สมเกียรติ ชี้ช่องการเสนอเรื่องราวต่างๆ ต้องทำในขณะที่ภาครัฐกำลังเปิด ชูโมเดลการกำกับดูแลร่วม แต่ไม่ใช่ถอดแบบ แพทยสภา-สภาทนายความ
วันนี้ (9 ส.ค.) มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการเรียนรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) จัดงานเสวนา เรื่อง “ปรับแนวคิด เปลี่ยนโฟกัส : “สื่อ” กับการขับเคลื่อนสังคมไทย” ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ” ณ ห้องประชุมจรัสเมือง 2 โรงแรมทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร มี รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม (สสส.) และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) และหนึ่งในคณะทำงานพัฒนากลไกควบคุมกันเองทางวิชาชีพ คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน(คพส.) ร่วมเป็นวิทยากร
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวถึงปัญหาของการปฏิรูปสื่อ โดยได้ยกตัวอย่างโมเดลลูกตุ้ม ของ รศ.ดร.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา ที่วิเคราะห์การทำงานของการปฏิรูปสื่อตลอดระยะเวลา 10 ปี พบว่า ที่ผ่านมาลูกตุ้มนั้น ไม่ได้อยู่ในจังหวะที่เท่ากัน แต่จะเอียงให้ความสำคัญที่การปฏิรูปองค์กรสื่อ ตัวกระบวนการ โดยเฉพาะในสื่อกระแสหลักมาก ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากวัฒนธรรมบริโภคสื่อของคนไทยที่มักให้โอกาสสำหรับผู้ผลิตสื่อเพียงทางเดียว มากกว่าที่จะเพิ่มน้ำหนักฝ่ายที่เป็นบริโภคเป็นคนตัดสินใจ แม้ว่าความจริงการที่จะทำให้สื่อขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยได้นั้น ต้องมีการบริโภคสื่อที่เข้มแข็งและให้สังคมมีส่วนร่วมก็ตาม
“นอกจากนั้น การที่ยังไม่ได้มีกลไกหรือระบบที่มีการเฝ้าระวังสื่อ ในการช่วยขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งขาดการสนับสนุนชัดเจน หรือแม้กระทั่งการศึกษาที่ไม่ได้หล่อหลอมตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลให้เกิดปัญหา ดังนั้น หากต้องการปฏิรูปเพื่อเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยที่ดี การสื่อสารมวลชนควรเปิดการถ่วงดุล ทั้งซ้ายและขวา เกิดการถ่วงดุลระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่เพิ่มน้ำหนักเพียงด้านใดด้านหนึ่ง”
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า หากมองสังคมไทยที่ผ่านมา มิติการรู้เท่าทันสื่อ แบ่งเป็น 2 มิติ คือ ทักษะส่วนบุคคล และทักษะเชิงระบบและกลไก ขณะนี้ส่วนใหญ่ได้รับความสำเร็จในเชิงทักษะส่วนบุคคล ได้จากการพัฒนาในหลักสูตรการเรียนการสอน ที่ถือเป็นทักษะชีวิต เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ไม่มีที่สิ้นสุด แต่หากมองความจำเป็นกับการปฏิรูปสื่อที่กำลังจะเกิดขึ้น การให้ความสำคัญในมิติทักษะเชิงบุคคลเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องเปิดระบบและกลไกการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อช่วยทำให้ทักษะส่วนบุคคล เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะการตั้งให้มีองค์กรวิชาชีพด้านสื่อที่ต้องช่วยกันตรวจสอบอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน
“สิ่งที่จะทำให้เกิดองค์กรเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่ออย่างยั่งยืนและเป็นระบบ มี 5 ประการ คือ 1. ระบบหรือกลไก ไม่ใช่เพียงการมีองค์กรเฝ้าระวังสื่อหรือมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคที่มีสถานภาพที่ชัดเจน แต่ต้องมีมาตรฐานของการเฝ้าระวังอย่างเป็นวิชาการ ถกเถียงได้ ยกระดับในแง่ของงานวิชาการ และต้องยอมรับได้ในทางวิชาชีพ โดยเป็นอิสระแต่รองรับจากองค์กรวิชาชีพ 2.ต้องมีช่องทางเชื่อมต่อกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรวิชาชีพ และองค์กรผู้ผลิตสื่อ สถาบันการเรียนรู้ จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ แม้กระทั่งฝ่ายนโยบาย องค์กรอิสระ หรือหน่วยงานของรัฐ 3.การมีเครือข่ายสังคม ในการเชื่อมต่อ ขยายผล ในการเฝ้าระวัง และต้องมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง 4.การเชื่อมโยงเครื่องมือเข้าสู่องค์กรต่างๆที่สำคัญ อาทิ การปฏิรูปประเทศไทย เพื่อเข้าไปสร้างการรู้เท่าทันสื่อในการขับเคลื่อนวาระต่างๆในการเปลี่ยนแปลงประเทศ 5. ต้องทำให้กระบวนการนี้ ฝังอยู่ในระบบการเรียนรู้ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ”
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวถึงโจทย์สำคัญในการปฏิรูปสื่อ ควรทำอะไรที่ครบวงจร โดยอยากเห็นระบบสื่อที่ตอบสนองคนทั้งประเทศ พร้อมเสนอต้องทำทั้งการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ในการแก้ไขกฎหมายที่จะเป็นผลทำให้เกิดความเป็นธรรม ,การปฏิรูปความเป็นเจ้าของสื่อได้รับความเป็นธรรม , มีกลไกการกำกับดูแลเนื้อหา , มีการดูแลตนเองของสื่อ สร้างกลไกอิสระของผู้บริโภคสื่อ และสุดท้ายต้องมีกลไกการเงินสนับสนุนด้วย
ด้าน ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สื่อหากมองในระบบต้องมองเป็นจิ๊กซอว์ เพราะทุกส่วนต้องร่วมกัน เชื่อมโยงให้เป็นหนึ่ง แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.ด้านโครงสร้าง ขณะนี้โครงสร้างมีการพัฒนาไปส่วนหนึ่ง ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี ทำให้หน้าตาของสื่อเปลี่ยนเป็น นิวส์มีเดีย มากขึ้น หรือแม้กระทั่งฟรีทีวีก็ยังถูกทดแทนด้วยทีวีดาวเทียมและทีวีอินเทอร์เน็ต และ 2.เนื้อหา ที่ยังมีการปฏิรูปไปอย่างช้าๆ และเป็นเหตุของการสร้างความขัดแย้ง เข้าใจไม่ตรงกัน ดังนั้น การปฏิรูปสื่อควรมองทั้ง “ระบบ” ไม่ใช่เอาเพียงส่วนเดียว
“นอกจากนั้น การทำหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ต้องเข้ามาช่วยปรับการดูแลของวิชาชีพสื่อ เพราะยังมีจุดอ่อนสำคัญ ที่ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมได้ดีเพียงพอ คือ การเข้ามาเป็นสมาชิกที่ไม่ได้ถูกบังคับ เมื่อทำผิดก็เพียงถอนตัว และไม่ถูกลงโทษ ทำให้องค์กรสื่อไม่สามารถควบคุมด้านจริยธรรมวิชาชีพได้อย่างเข้มแข็ง ทำให้ไม่สามารถแก้ไขรากฐานได้ทั้งหมด ดังนั้น ต้องเปลี่ยนแนวคิดการกำกับดูแลอย่างเดียว เป็นการกำกับดูแลร่วม ขอยืมอำนาจรัฐบางรูปแบบมาดูแลกำกับ ทำให้เกิดการเป็นสมาชิกภาพ โดยอัตโนมัติ เพื่อช่วยลงโทษกับองค์กรสื่อต่างๆ”
ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า หากให้องค์กรวิชาชีพสื่อร่วมมือกับรัฐไม่เพียงพอ ต้องให้ส่วนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลด้านวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภค ภาคประชาชนที่ต้องรวมตัวกัน ตรวจสอบถ่วงดุลด้วย จึงจะสามารถร่วมเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อ
“การเสนอเรื่องราวต่างๆ ต้องทำในขณะที่ภาครัฐกำลังเปิด รวบรวมและเสนอไปยังรัฐบาล จะทำให้การปฏิรูปเดินไปได้ แต่โมเดลการกำกับดูแลร่วม ไม่ใช่ทำเหมือน แพทยสภาหรือสภาทนายความ เพราะนักข่าวไม่มีใบประกอบวิชาชีพ จึงไม่เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของบุคคล แต่กระบวนการจะเป็นเรื่องขององค์กร ที่เข้ามาเป็นวิชาชีพเพียงอย่างเดียว สุดท้าย อย่าคิดว่า เมื่อมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ( กสทช.)แล้วการปฏิรูปโครงสร้างจะจบ แต่หากดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ ต้องดูแลที่ด้านเนื้อหา”