"สุทธิชัย หยุ่น" เปิดตำราสอนสื่อไม่จำเป็นทำข่าวตามกระแส เสิร์ฟสังคม
สังคมกำหนดเอง "ปฏิรูปสื่อ" ไม่ต้องมาประกาศ เช่นกรณีโฆษณา "ขอโทษประเทศไทย" ชี้โซเชียลมีเดียทำให้ "หมาเฝ้าบ้าน" เต็มบ้านเมืองใช้ช่วยตรวจสอบรบ.แย่ๆ นักการเมืองห่วยได้ ขณะที่ "วรากรณ์" จี้รัฐทำตามคำพูด "ปฏิรูปสื่อภาครัฐ" ตามที่เสนอไป
วันนี้ (22 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สถาบันอิศรามูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดประชุมใหญ่วิชาการวิชาชีพสื่อสารมวลชนระดับชาติ ประจำปี 2553 ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค.ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องบัวหลวงแกรนด์รูม มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดงาน
จากนั้นรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปสื่อภาครัฐ ปาฐกถาเรื่อง “กระบวนการปฏิรูปสื่อภาครัฐ” โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย รศ.มาลี บุญศิริพันธ์,รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์,รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์, ผศ.รัชนี วงศ์สุมิตร,ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์,นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์,นายสมหมาย ปาริจฉัตต์,นายวสันต์ ภัยหลีกลี้,นายธรรมนิตย์ สุมันตกุล,ดร.อนุสรณ์ ศรีแก้ว,นายภัทระ คำพิทักษ์ และนายไพโรจน์ พลเพชร มีการประชุมกันทั้งหมด 14 ครั้ง และทำงานเสร็จหลายในเรื่อง
“ งานเรื่องแรกคือการปฏิรูปช่อง 11 และกรมประชาสัมพันธ์ได้เสนอให้เป็นองค์กรมหาชน และมีการประเมินค่าใช้จ่ายเงินที่รัฐบาลต้องใช้ในการปรับบทบาทซึ่งมีดร.สมเกียรติ และรศ.ดร.วิลาสินี เป็นผู้มีบทบาทผลักดัน ส่วนเรื่องที่2 ให้ปรับปรุงระบบวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ที่มีการจัดการอำนาจการทำงานที่สับสน เรื่องที่ 3 เสนอให้ปรับปรุงช่อง9 และเรื่องสุดท้ายเสนอบัญญัติ 10 ประการให้กับสื่อภาครัฐ ซึ่งข้อเสนอแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2552”
ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางปฏิรูปสื่อภาครัฐ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่เพียงสรุปข้อเสนอ ไม่ได้มีอำนาจในการเข้าไปปฏิรูปสื่อ ซึ่งเข้าใจว่ารัฐมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปสื่อภาครัฐ แต่เกรงกลัวในเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นต้องตัดอำนาจในการต่อรองเงื่อนไขกับคนที่มีอำนาจออกไป แยกผลประโยชน์ของรัฐกับรัฐบาลออกจากกัน รัฐบาลต้องไม่ใช้สื่อของประชาชนในการเป็นกระบอกเสียง
“ถึงเวลาแล้วที่ต้องรักษาคำพูดที่ทำมา ที่จะบังคับทำให้ทุกคนทำตามแผนปฏิรูปที่กำหนดไว้แล้ว ต้องตัดอำนาจในการเปลี่ยนคำพูดตัวเอง ต้องทำตามแผนปฏิรูปการศึกษา แผนปฏิรูปสื่อที่กำหนดไว้แล้วล่วงหน้า แบบนี้จะเป็นการเดินทางไปข้างหน้าได้”
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าเราจะปฏิรูปประเทศไทย แต่ทุกคนยังคิดว่าเป็นหน้าที่ของกรรมการปฏิรูป ก็ไม่มีวันสำเร็จ ต้องทำให้คนไทยตระหนักว่าการปฏิรูปประเทศไทยนั้นต้องเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน เช่นเดียวกับการปฏิรูปการศึกษา สำเร็จได้ถ้าพ่อแม่เริ่มปฏิรูปตัวเอง
สปอต "ขอโทษประเทศไทย" จุดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่
ทั้งนี้ ช่วงเช้ามีการอภิปราย หัวข้อ "ปฏิรูปสื่อสู่การปฏิรูปสังคม" วิทยากรประกอบด้วย นายสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น, รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สปริงส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (สปริงส์นิวส์) และนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล บรรณาธิการเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ ดำเนินรายการโดยดร.ณัฎฐา โกมลวาทิน สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทั้งนี้ก่อนอภิปรายมีการเปิดสปอต "ขอโทษประเทศไทย" ให้ร่วมชม
นายสุทธิชัย หยุ่น กล่าวถึงสปอตขอโทษประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของการปฏิรูปสื่อ โดยไม่ต้องออกมาประกาศว่าปฏิรูป สังคมกำหนดสื่อเองอยู่แล้วว่า จะต้องปฏิรูปอย่างไร รัฐบาลต้องเลิกคิดได้แล้วว่าจะเข้ามาควบคุม ไม่มีอีกแล้วที่จะมาตีกรอบไม่ให้สังคมรับรู้ โซเชี่ยลมีเดียทำได้ โดยไม่ต้องมีใครหรือรัฐบาลมาบอก นี่คือจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสื่อแล้ว และเสรีภาพเท่านั้นทำให้สังคมเดินหน้าได้
“ผมปฏิเสธที่จะขึ้นเวทีสัมมนาปฏิรูปสื่อมานานเพราะไม่ชอบให้ใครมาชี้นิ้วสั่งให้เราต้องปฏิรูป เราปฏิรูปสื่อทุกวันอยู่แล้วทุกครั้งที่ประชุมข่าว ขณะนี้สังคมกำลังปฏิรูปอย่างใหญ่หลวง นักการเมืองต่างหากที่ล้าช้าไม่ทันสมัย ไม่ควรมาบอกว่าปฏิรูปสื่อหรือไม่ วันนี้ได้เวลาแล้วที่ต้องออกจากความเชื่อเก่าๆ สังคมจะบอกสื่อเราเองว่าสื่อต้องปฏิรูปอย่างไร สปอตขอโทษประเทศไทยเป็นจุดประกายเล็กๆ ที่นำไปสู่ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่”
บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น กล่าวว่า การกระจายตัวของสื่ออย่างกว้างขวางทำให้เราต้องมาคุยเรื่องสื่อกันใหม่ สมาคมนักข่าวฯ องค์กรวิชาชีพต้องขยายกรอบจริยธรรมวิชาชีพกันใหม่ ทำให้บทบาทสื่อหลักที่เคยเป็นหมาเฝ้าบ้านจะค่อยๆหายไป เพราะโซเชียลมีเดียทำให้หมาเฝ้าบ้านมีเต็มบ้านเต็มเมือง ดังนั้นสังคมต้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากการใช้โซเชี่ยลมีเดีย เชื่อว่าถ้าใช้เป็นจะช่วยตรวจสอบรัฐบาลที่แย่ นักการเมืองที่ห่วยได้ ท้ายที่สุดแล้วสื่อกระแสหลักก็ต้องลงมาเล่นในกติกาเดียวกันกับสื่อโซเชียลมีเดีย
“ขณะนี้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คเหมือนสี่แยกกลางเมืองมีคนมากมายมาคุยกัน นี่คือเสน่ห์กลางเมือง ซึ่งสังคมไม่ต้องห่วงว่านักข่าวจะมาแย่งพื้นที่ส่วนนี้จากสังคม คนในรัฐบาลใช้โซเชียลมีเดียกันเยอะ แต่ก็ใช้แค่เพื่อประชาสัมพันธ์ ไม่ค่อยมารับฟังประชาชน”
นายสุทธิชัย กล่าวอีกว่า การมาของนักข่าวพลเมือง คือการตรวจสอบสื่อหลักครั้งที่หนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งคนทำข่าวที่เน้นใช้โซเชียลมีเดียมากๆ ต้องไม่หลงทางว่าคือคำตอบทั้งหมด ดังนั้นถ้าใครก็เป็นนักข่าวได้ ฉะนั้นนักข่าวจะต้องสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพต้องลึกและกว้างที่ต่างจากคนทั่วไปที่ทำได้
“เราต้องปฏิรูปสื่อทุกเช้า ถ้าคุณไม่ปรับ ไม่มีคุณภาพ ก็จะกลายเป็นสื่องี่เง่า ที่ประชาชนไม่ต้องการ และนักข่าวต้องเร็วกว่าประชาชนครึ่งก้าวเข้าโค้งไปมองเหตุการณ์ก่อน ถ้าเลยไปหนึ่งก้าวจะไม่เห็นประชาชน แต่ถ้าอยู่หลังประชาชนเมื่อใดสังคมไม่ให้อภัยคุณแน่”
ไม่จำเป็นต้องทำข่าวตามกระแส "เสิร์ฟสังคม"
สำหรับปัญหาที่นักข่าวสื่อกระแสหลักโดยเฉพาะทีวีไม่ค่อยทำหน้าที่นำเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนนั้น นายสุทธิชัย กล่าวว่า ไม่จริงที่นักข่าวทีวีจะทำข่าวสืบสวนไม่ได้ ขึ้นอยู่ที่คุณภาพของคน และไม่จำเป็นต้องทำข่าวตามกระแสของสังคม ป้อนสังคม แต่จะต้องทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องดีต่อสังคม แม้สังคมอาจจะไม่เห็นด้วย
ส่วนทางออกปัญหาเรื่องทุนในการส่งเสริมให้นักข่าวทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนนั้น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น กล่าวว่า คือ ต้องสร้างการทำสื่อแบบไม่มุ่งหวังกำไร เสนอให้สื่อลองใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทาง ประชาชนกับนักข่าวเสนอโครงการทำข่าวสืบสวน หรือให้ประชาชนขอมาว่าจะให้ทำข่าวเรื่องใดแล้วสนับสนุนทุนให้
“คนไทยเวลาพูดว่าสื่อ พูดดี แต่ไม่เคยทำ หรือสนับสนุนสื่อเลย อย่าลืมว่าสื่อก็เป็นลูกจ้าง อีกทางคือ เปิดเว็บไซต์บอกไปเลยว่าอยากให้ทำข่าวอะไรเชิงลึก แล้วจะสนับสนุน แต่ข้อจำกัดคือโครงสร้างสื่อยังต้องใช้เงินมาบริหาร หากต้องการสื่อที่อิสระ สื่อต้องเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และการปฏิรูปสื่อต้องไปถึงหน้าจอทีวี ไม่ควรมีแต่นักวิชาการซ้ำซาก พูดเรื่องเดิมๆ พิธีกรถามเดิมๆ ซึ่งถือเป็นความมักง่าย” นายสุทธิชัย กล่าว และว่า วันนี้คนข่าวมีจิตวิญญาณทางวารสารศาสตร์หายไป ดังนั้นควรต้องสอนให้มีคุณภาพวารสารศาสตร์ตั้งแต่มัธยมศึกษา ส่วนที่ถามกันว่าหนังสือพิมพ์กำลังจะตายนั้น ตนเชื่อว่าวารสารศาสตร์จะไม่มีทางตาย
เหน็บ "ปฏิรูปสื่อ" คำที่เป็น "วาระทางการเมือง"
ส่วนรศ.มาลี บุญศิริพันธ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสปอตโฆษณาชุดขอโทษประเทศไทยว่า เป็นสิ่งที่สะท้อนความกลัวและวิธีคิดแบบเดิมๆ ของคนที่ดูแลสื่อและสื่อ ซึ่งได้สะท้อนว่าสื่อตอบสนองสิ่งที่ประชาชนอยากรู้หรือไม่ สื่อควรจะให้ความรู้ประชาชนว่าทำไมถึงออกอากาศไม่ได้ แทนที่สื่อจะบอกแค่เพียงว่าถูกแบน
“ ที่ผ่านมาคำว่าปฏิรูปสื่อเหมือนเป็นคำที่เป็นวาระทางการเมือง เหมือนสื่อทำหน้าที่ไม่ดีแล้วควรจะปฏิรูป ทุกครั้งที่มีการปฏิรูปสื่อกลายเป็นเรื่องการเมือง ไม่เคยมีการพูดถึงผลประโยชน์ประชาชน” รศ.มาลี กล่าว และว่า การปฏิรูปสื่อนั้นต้องเริ่มจากตั้งแต่เข้ามาและรู้สึกว่าเป็นสื่อมวลชน ไม่ใช่วงการสื่อมาพูดกันเอง แต่ต้องเป็นการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย
รศ.มาลี กล่าวอีกว่า การปฏิรูปสื่อต้องสร้างภูมิคุ้มกันการรู้เท่าทันสื่อให้ประชาชน ถ้าประชาชนไม่เชื่อข้อมูลในสื่อแล้วจะสามารถไปหาข้อมูลตรวจสอบได้ที่ใดบ้าง เช่น กรณีโซเชียลมีเดียนั้นเป็นการเปิดโอกาสประชาชนแสดงความเห็นและเข้ามาตรวจสอบได้ และข้อมูลความเห็นเหล่านี้จากประชาชนก็เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลด้วยในการสร้างนโยบายที่ดีให้พลเมือง ซึ่งนี่คือความสำคัญของการเป็นพลเมืองด้วย
"ถ้าจะปฏิรูปสื่อกันจริงๆ ต้องสร้างทำให้ประชาชนตรวจสอบสื่อได้ โดยคนที่สื่อต้องดูแลที่สุดคือประชาชน สื่อต้องปฏิรูปตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ให้ใครมาบอกว่า ต้องปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปแท้จริงต้องมองถึงองค์กรสื่อด้วย ดังนั้นเสนอให้ต้องสร้างความรู้เรื่องสื่อให้ประชาชนและต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามาร่วมปฏิรูป สื่อไม่ดีอย่าไปดู และวันนี้องค์กรสื่ออาจต้องมีการนิยามคำว่า สื่อหนังสือพิมพ์กันใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมถึงสื่อใหม่ที่เกิดขึ้น”
ขณะที่นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล บรรณาธิการเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ กล่าวว่า คำจำกัดความสื่อมวลชนในวันนี้ไม่ได้เหมือน 20 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงแล้ว และตราบใดที่มีการเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตเราจะพูดเรื่องปฏิรูปสื่อกันได้อย่างไร ซึ่งไม่เห็นด้วย หากอยากให้คนมีความรู้แยกแยะอะไรได้มากขึ้น ก็ต้องปล่อยให้คนเรียนรู้
“ในเมื่อประชาชนใช้โซเชียลมีเดียแล้ว ประชาชนก็คือสื่อ เสรีภาพของประชาชนจะคือเสรีภาพสื่อด้วยหรือไม่ ดังนั้นจะเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อด้วยหรือไม่”บก.เว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ กล่าว พร้อมแสดงความห่วงใยการใช้โซเชียลมีเดียของสื่อกระแสหลักที่พึ่งการทำข่าวจากสื่อนี้เสียมาก
นางสาวสฤณี กล่าวด้วยว่า สื่อรุ่นใหม่อย่าไปคิดว่าทำงานให้องค์กรสื่อ ขอให้คิดว่า เราจะทำหน้าที่สื่ออย่างไร อย่าไปท้อใจถ้าทำข่าวดีๆ แล้วไม่มีใครสนใจ เพราะถ้าเราใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเป็น สักวันคนก็จะเข้าค้นเจอประเด็นดีๆ ของเราเอง
ด้านนายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สปริงส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (สปริงส์นิวส์) กล่าวว่า โลกของสื่อวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งแรกไม่ใช่ปฏิรูปเรื่องสื่อ แต่เป็นเรื่องการศึกษา และฝากให้ทุกสื่อทั้งกระแสหลักและกระแสรองกลับมาเน้นที่ความรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับช่วงบ่าย ที่ประชุมมีการนำเสนอผลงานวิจัย จำนวน 6 เรื่อง จาก 27 เรื่อง เช่น การถอดบทเรียนการรายงานข่าวชุมนุมทางการเมืองสงครามหรือสันติภาพ, บทบาทการ์ตูนการเมืองในสถานการณ์ความขัดแย้ง,การสร้างสุขภาวะทางการสื่อสาร,ปัญหาการลอกข่าวของนักข่าวไทย, จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์กับความผิดฐานหมิ่นประมาท และงานวิจัยเรื่อง ความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวหนังสือพิมพ์ประเด็นความขัดแย้งทางความคิด กรณีศึกษาการนำเสนอข่าวปัญหาการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร ซึ่งในวันที่ 23 พ.ค.จะมีการนำเสนองานวิจัยที่เหลือ พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็นต่อการปฏิรูปสื่อ