ไล่ล่าปิดเว็บแรงไป นายกฯ เล็งหามาตรการสมดุล
ย้ำปฏิรูปสื่อ เปิดให้สื่อดูแล-กำกับกันเอง ห่วงวิทยุ-ทีวี เทคโนโลยีไปเร็ว แต่องค์กรที่กำกับดูแล อ่อนประสบการณ์ พร้อมหนุนเข้มแข็ง ส่วนสื่ออินเตอร์เน็ต อภิสิทธิ์ เผยกำลังเล็งหาแนวทางทำงานให้เกิดความพอดี ทั้งการใช้พื้นที่ และไล่ล่าปิดเว็บของเจ้าหน้าที่รัฐ เข้มเกินไป
วันนี้ (18 ก.ค.) เวลา 09.00 น. ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 77 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อสารมวลชนว่า การทำงานในเรื่องของการปฏิรูปสื่อคงจะแตกต่างจากงานทางด้านอื่น ๆ เพราะไม่มีคณะกรรมการขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เนื่องจากไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการในรูปแบบอย่างนั้น โดยสิ่งที่ต้องการทำก็คือทำอย่างไรที่จะให้สื่อสารมวลชนนั้นมีเสรี และใช้เสรีนั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการกำกับดูแลจุดยืนของรัฐบาล ต้องการที่จะให้สื่อสามารถทำหน้าที่ในการกำกับดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด
“ที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพต่าง ๆ ได้มีการจัดประชุมสัมมนา ขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐก็มี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อม ๆ กับทางคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยทำงานในด้านการประสานงานอยู่”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการเดินทางไปพบปะสื่อ 2 ค่ายใหญ่ พบว่า มีงานหลายเรื่องซึ่งเป็นงานซึ่งทำงานด้วยกันมาก่อนหน้านี้ คือการพยายามที่จะผลักดันในเรื่องของกฎหมายการคุ้มครองวิชาชีพสื่อ การเร่งรัดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมากำหนดแนวทางในการกำกับดูแลกิจการในเรื่องของวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และก็มีองค์กรกำกับที่เป็นอิสระ ซึ่งก็เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรจะได้มีการช่วยส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มความเข้มแข็งขององค์กรวิชาชีพ เพราะสื่อขณะนี้ก็มีหลายประเภทหลายแขนง ที่มีความเข้มแข็งมีความต่อเนื่องมาโดยตลอดก็คือหนังสือพิมพ์ ส่วนวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียงนั้น ยังมีปัญหาองค์กรที่มาทำงานดูแลกันเองในส่วนของสื่อในสาขาเหล่านี้ อาจจะยังไม่ได้มีประสบการณ์ยาวนาน และต้องทำงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างจะรวดเร็วมาก ซึ่งจะต้องมีการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง
ขณะเดียวกันการปฏิรูปสื่อขององค์กรภาคประชาชนที่เข้ามาติดตามในเรื่องของการทำงานของสื่อ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาสนับสนุน แต่ยังค่อนข้างอยู่ในระดับที่จำกัด รวมทั้งองค์กรที่มาติดตามเฝ้าระวังประเมินเรื่องของพื้นที่สื่อ เช่น การนำเสนอข่าวนั้นให้พื้นที่อย่างเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร รวมไปถึงเรื่องของการที่จะดูความเหมาะสมของรายการต่าง ๆ ซึ่งสามารถที่จะร้องเรียนไปได้ เป็นลักษณะของการคุ้มครองผู้บริโภคไปในตัว ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่เข้าไปทำหน้าที่เอง แต่จะอาศัยกลไก สสส. หรือหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งมีความเป็นอิสระ และจะต้องประสานใกล้ชิดมากขึ้นกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาของสื่ออินเตอร์เน็ต จะต้องมีการหาแนวทางในการที่จะทำงานให้มีความพอดีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการใช้พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสม ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็พบว่า บางครั้งการเข้าไปดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ดูจะหนักเกินไป เช่น เวลามีเว็บไซต์ซึ่งมีปัญหาจากการแสดงความคิดเห็นผ่านกระดานสนทนา แต่ว่าสุดท้ายมีการเข้าไปดำเนินการกับเว็บทั้งหมด ตรงนี้ยังต้องมาหาแนวทางและความพอดี ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะต้องไปเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อที่จะให้สื่อสารมวลชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทำงานในการตรวจสอบได้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงอาจจะต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทก็ดี หรือความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย