เครือข่ายสื่อภาคประชาชน แถลงจุดยืนในงานปฏิรูปสื่อ..ประชาชน..สู่..ปฏิรูปประเทศไทย
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และเครือข่ายสื่อภาคประชาชน จัดเสวนา “ปฏิรูปสื่อ..ประชาชน..สู่..ปฏิรูปประเทศไทย” ขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2553 ณ Gallery 02, Bangkok Code สาทร โดยเสวนาครั้งนี้ มีวิทยุชุมชนจากภาคต่างๆ รวมถึงสื่ออินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ บล็อก ร่วมกันเพื่อระดมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแนวทางยุทธศาสตร์ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์พัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวถึงสาเหตุของการปฏิรูปสื่อเมื่อปี 2540 เนื่องจากสื่อสาธารณะถูกผูกขาดความเป็นเจ้าของโดยหน่วยงานรัฐ ซึ่งเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อครั้งนี้ มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของ โดยประชาชนเป็นเจ้าของสื่ออย่างแท้จริง 2.การจัดสรรต้องไม่อยู่ในอำนาจรัฐ และ 3.ให้อิสรภาพคนทำงานด้านสื่อ ทั้งคนทำงานด้านสื่อเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ให้แสดงออกและสามารถนำเสนอข่าวได้อย่างอิสระ
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ผลพวงของการปฏิรูปสื่อ 3 ประเด็นข้างต้น ทำให้เกิดองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่แทนรัฐ คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ภายหลังได้กลายเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันการจัดสรรเปลี่ยนความเป็นเจ้าของจึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยประชาชนได้รวมตัวกันเกิดเป็นคลื่นวิทยุชุมชน มากกว่า 6,000 สถานี โดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า สื่อวิทยุชุมชนกว่า 6,000 สถานี ที่มีในสังคมไทยขณะนี้ ประกอบไปด้วย 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ สื่อของชุมชนโดยแท้ ซึ่งชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโดยแท้จริง สื่อธุรกิจ เป็นสื่อแสวงหากำไรจากการโฆษณาและมุ่งกระจายเสียงให้กว้างขวางเพื่อขยายตลาดของสินค้าที่โฆษณา และสื่อการเมือง เป็นสื่อที่รัฐใช้ในการแสดงอำนาจรัฐเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากสถานีวิทยุชุมชน และประชาชนที่จัดรายการวิทยุชุมชนภายใต้สถานีของรัฐ ทำให้ขาดอิสระในการจัดรายการ
นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยุชุมชนของประชาชนทุกกลุ่มสามารถเป็นเจ้าของได้ แต่สิ่งที่ตามมาคือความเป็นเจ้าของนั้นนำไปสู่ระบบที่ว่าใครมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่าก็จะสามารถครอบครองได้มากกว่า และเมื่อมีการครอบครองโดยสื่อธุรกิจจะนำไปสู่ความมั่งคั่งซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเห็นได้ว่าสื่อวิทยุชุมชนที่มีการปฏิรูปความเป็นเจ้าของจากเจตนารมณ์ ปี 2540 จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเนื้อหาข่าวสารมีประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่
นอกจากนี้ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์พัฒนาเอกชน กล่าวทิ้งท้ายว่า “หากยังไม่มีองค์กรที่สามารถกำกับสื่อได้ ข่าวสารที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ ซึ่งสื่อที่เกิดขึ้นควรเป็นสื่อสร้างสรรค์ ที่มีการพัฒนา แต่ในทางกลับกัน ได้กลายเป็นสื่อที่นำไปสู่ความขัดแย้ง และครอบงำทัศนคติของประชาชน ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เรามีตัวอย่างทีวีสาธารณะ เช่น คนที่ไม่เคยมีโอกาสสื่อสารก็มีโอกาสได้สื่อสาร ถ้ามีสื่อสาธารณะหรือสื่อวิทยุชุมชนมาถ่วงดุลกับสื่อธุรกิจ เชื่อว่า สังคมไทยหรือสื่อไทยจะเกิดการพัฒนา และประเด็นสำคัญคือ เราจะผนึกกำลังควบคุมกันเองได้หรือไม่ ถ้าทำได้ การควบคุมและกำกับโดยรัฐก็ไม่จำเป็น ถ้าเราสามารถเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนได้ด้วยตนเอง”