ความรู้สึกทางการเมืองของ 'เกษตรกรแดง'
บทสัมภาษณ์นี้เป็นการพูดคุยระหว่างผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาธรรมและเกษตรกรหญิง 2 คนใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง สะท้อนว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อะไรคือแนวคิดเบื้องหลังที่ทำให้ทิ้งงานมุ่งหน้าไขว่คว้าสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "ประชาธิปไตย"
หลังเหตุการณ์ "พฤษภามหาโฉด" ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเงียบหายไปกับสายลม เหลือเพียงความเวิ้งว้าง อาลัยอาวรณ์อยู่กับสถานที่ที่หักผัง ชาวกรุงโศกเศร้ากับความเสียหายในเมืองและยังคงดำเนินชีวิตไปตามปกติสุข แต่หวาดกลัวกับ "การก่อการร้าย" ที่อาจจะเกิดขึ้นจากกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่ยอมรับได้เพราะไม่กระทบต่อวิถีชีวิต
ในขณะที่ความรู้สึกอีกด้านหนึ่งยังอยู่ในความมืดถูกกดทับด้วยอำนาจอันเหลือล้นของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พวกเขารอเวลาที่จะบอกอารมณ์ความรู้สึกที่คับข้องใจ เหตุการณ์ที่เห็น ให้แก่สังคมได้รับรู้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นอย่างที่คนในกรุงรับรู้ พวกเขาก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีความเห็นทางการเมืองแบบหนึ่งที่ไม่รู้ว่าความคิดตนเองจะตรงกับคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่ จึงมาเรียกร้องให้ยุบสภา แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับ คือ ความเจ็บแค้นและความตาย
ประชาธรรมขอใช้พื้นที่นี้สะท้อนมุมมองความรู้สึกทางการเมืองของคนเสื้อแดงเพื่อทำความเข้าใจความคิด ความรู้สึกของพวกเขาซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่อาจนำมาสู่การอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด หรือที่รัฐบาลเรียกว่า "ปรองดอง"
บทสัมภาษณ์นี้ประชาธรรมสัมภาษณ์นางแดง ปัญโญ (อุ้ยซอน) อายุ 76 ปี อาชีพเกษตรกรรม และ นางลำตัด ทาชัย (ป้าดวน) อายุ 54 ปี อาชีพ ค้าขายและทำการเกษตร ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงมาตั้งแต่ปี 52-53 แต่ขณะถูกปราบในเหตุการณ์พฤษภา 53 พวกเขากลับมาทำกิจที่บ้าน
อุ้ยซอนกับป้าดวนเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงเมื่อ ไหร่และทำไมถึงเข้าร่วมครับ
อุ้ยซอน : เข้าร่วมเสื้อแดงเต็มตัวเมื่อปี 2552 โดยเริ่มจากการประท้วงที่พัทยา ก่อนหน้านี้ดูทีวีเห็นว่ามีกลุ่มที่ทำอะไรก็ไม่ผิด แต่พวกเราทำผิดหมดจนเริ่มรับไม่ได้ ลองคิดดูปัจจุบัน เราเป็นผู้ก่อการร้าย มันอ้างขึ้นมาได้ยังไง ทำอย่างนี้ลำเอียง พันธมิตรยึดสนามบิน ยึดทำเนียบ ไม่โดนอะไร แต่เราปิดถนนโดน อุ้ยไม่ชอบพันธมิตร พอมีเสื้อแดงที่ต่อต้านพันธมิตร เหตุผลดูเข้าท่าน่าเชื่อถือกว่าเลยเข้าร่วม อีกอย่างนายกฯคนใหม่เป็นคนชอบโกหก อุ้ยไม่ชอบ พูดตรงๆ คือมันสองมาตรฐาน อย่างอุ้ยดูทีวี เห็นว่ามันโจมตีว่าทักษิณผิดที่ไปเซ็นซื้อที่ดินให้เมีย ซึ่งฟังศาลดูแล้วไม่เห็นว่าจะผิดตรงไหนเป็นผัวเมียกัน ก็ย่อมต้องพึ่งกัน แค่คดีเดียวเอาผิดเขาจนถึงปัจจุบัน แล้วจะเอาผิดถึงโคตรตระกูล ดูแล้วเป็นการกลั่นแกล้งเสียมากกว่า
ป้าดวน : คล้ายกับอุ้ยซอน คือเห็นว่าพวกเราถูกกลั่นแกล้งมากเกินไป เริ่มตั้งแต่เลือกรัฐบาลแล้วก็ถูกล้มทั้งสองคน ในคดีที่พวกเราเห็นว่าไม่สมเหตุสมผล ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พอมีกลุ่มเสื้อแดงก็เข้าร่วมทันทีเพราะมันตรงกับความรู้เรา
ไปร่วมชุมนุมกี่ครั้งครับ แล้วทำอย่างไรไป
อุ้ยซอน : อุ้ยไปทุกครั้งที่มีการชุมนุม ไม่ว่าจะที่กรุงเทพฯหรือว่าต่างจังหวัด บางครั้งไปชุมนุมแล้วกลับมาได้สัก 3-4 วันก็ไปอีก ทุกครั้งที่ไปชุมนุม เดินทางด้วยรถกระบะร่วมกับคนรู้จักกันในหมู่บ้าน
ป้าดวน : เหมือนกันนะ แต่ตอนถูกปราบกลับมาทำงานที่บ้านก่อน
เอาเงินจากไหนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
อุ้ยซอน : พวกเราที่ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมด้วยจะช่วยบริจาคเงินกันคนละ 10-20 บาท คนที่มีฐานะก็จะบริจาค 100-200 บาท นอกจากนี้ก็จะมีเงินกองทุนที่เราจัดผ้าป่า จัดคอนเสิร์ตและเงินบริจาค ซึ่งยอดที่ได้แต่ละครั้งหลายแสนบาท เอาใช้เป็นค่าน้ำมันรถ คนที่เอารถไปเองจะได้รับการสนับสนุนคันละ 5,000 บาท แต่ไม่ได้ว่าไปรับจ้างนะ อุ้ยสามารถสาบานต่อหน้าดวงตะวันเลย เคยมีคนมาถามว่าไปชุมนุมได้เงินเท่าไหร่ โมโหมากเลยตบปาก แล้วถามว่าพูดอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร อุ้ยไปชุมนุมด้วยความสมัครใจและเพื่อประชาธิปไตยส่วนรวม ไปไปนอนกลางดินกินกลางทราย ฝนตกครั้งหนึ่งต้องนั่งยองๆหลับ ตอนไปร่วมครั้งแรกๆ เราไม่ได้ไปทำกินเอง เพราะไปช่วงสั้นๆจะซื้อกินเองบ้าง มีคนบริจาคข้าวกล่องให้กินบ้าง แต่ครั้งล่าสุดชุมนุมยาวนาน พวกเราทำกินกันเองทำแจกคนอื่นด้วย เตรียมข้าว เตรียมหม้อ กระทะ ทุกอย่างมาเอง
ป้าดวน : เงินที่ได้รับบริจาคจัดตั้งเป็นกองทุน จะใช้เป็นค่าเดินทางเป็นหลัก อีกส่วนจะซื้อของดิบมาทำอาหาร ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัว พวกเราออกกันเอง การไปชุมนุมแต่ละครั้ง เรื่องกินไม่ห่วงเพราะส่วนหนึ่งเราเตรียมไปทำกินเอง ซึ่งวัตถุดิบก็มาจากการบริจาคของคนในหมู่บ้านที่ไม่ได้ไป
นอกจากไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงแล้วทำกิจกรรม อื่นๆบ้างหรือเปล่า
อุ้ยซอน : ไม่มีมีแต่หัวใจกับมือตบ
ป้าดวน :ไม่มี เข้าร่วมกับกลุ่มเสื้อแดงเพื่อเป็นกำลังและแสดงพลังอย่างเดียว
อุ้ยซอนกับป้าดวนติดตามข่าวสารของคนเสื้อแดงอย่างไร
ป้าดวน : ข่าวสารจากเสื้อแดงส่วนกลางเราจะดูผ่าน D-station แต่ ข่าวยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวจะมาจากแกนนำในแต่ละระดับไล่ลงมา แล้วก็จะมีการบอกปากต่อปากไปยังคนในหมู่บ้าน เมื่อ D-station โดนปิด ข่าวสารมาจากทางวิทยุที่ออนไลน์ การชุมนุมผ่านอินเตอร์เน็ต วิทยุโดนปิด ข่าวก็จะมาทางลับ เช่นใบปลิวที่ออกมาเป็นระยะๆ และก็จะมีการบอกกันปากต่อปาก
อุ้ยซอน : ดูทีวีดาวเทียมและฟังวิทยุ
แล้วดูผ่านสื่ออื่นบ้างหรือเปล่า
ป้าดวน : สื่ออื่นช่อง 3-5-7-9 ฟังแทบไม่ได้เพราะข่าวที่ออกเกี่ยวกับชุมนุมไม่ใช่เรื่องจริง เราชุมนุมที่นั้นเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรเมื่อสื่ออกมาไม่ตรงเราก็ไม่ดู เพราะดูแล้วมันจะเกิดความแค้นสุ่มอก เราเลยไม่ดู
อุ้ยซอน : ก็เหมือนกันนั้นแหละ
รู้สึกว่าเราได้อะไร เมื่อเข้าร่วมกับขบวนการเสื้อแดง
อุ้ยซอน : เมื่อก่อนเราไม่ค่อยได้รู้ได้เห็นอะไร พอเข้าร่วมแล้วได้รู้ได้เห็นอะไรมากขึ้น และติดตามข่าวสารเรื่องการเมืองมากขึ้น แม้ว่าเรายังไม่ได้สิ่งที่เราหวัง (ประชาธิปไตยและความยุติธรรม) เรามานั่งคิดว่าทำไมข้อเรียกร้องแค่ยุบสภามันถึงได้ยากนัก แต่เรารู้สึกเรารักกันมากขึ้น ขอให้มีการเคลื่อนไหว อุ้ยพร้อมจะเข้าร่วมเพราะตอนนี้อยู่หรือตายก็ไม่ต่างกัน
ป้าลำดวน : คล้ายๆกับอุ้ยซอน สิ่งที่เรารู้ไม่ได้มาจากการถ่ายทอดแกนนำหรือทางทีวีของคนเสื้อแดงเพียงฝ่ายเดียว เราได้รับข้อมูลจากทั้งสื่อหลัก (ก่อนการชุมนุม) ด้วย เมื่อได้ข้อมูลมาจึงลองมานั่งคิดวิเคราะห์ว่าอันไหนมันจริงกว่ากัน บางเรื่องอย่างที่ได้กล่าวไป เราอยู่ในเหตุการณ์แต่สื่อออกไปคนละอย่าง เราถึงรู้ว่าอันไหนน่าเชื่อถือกว่ากัน แล้วเลือกที่จะเชื่อแบบนั้น อีกอย่างเรื่องความไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องใหญ่เพราะจากสิ่งนี้มันทำให้เราไม่กลัวตาย
บอกได้ไหมครับว่า คนเสื้อแดงเป็นใคร มาจากไหน
ป้าลำดวน : คนเสื้อแดงคือประชาชนธรรมดา ที่ต้องการความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ สิ่งที่อยากเห็นคือคนไหนผิดก็ว่าไปตามผิด คนไหนถูกก็ว่าไปตามนั้น และส่วนหนึ่งเป็นคนกลุ่มที่ไม่ชอบพันธมิตร เพราะคิดว่าเป็นกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นทำอะไรก็ไม่ผิด ที่สำคัญเป็นต้นเหตุให้ประเทศเสียหายมาจนถึงทุกวันนี้ การปิดสนามบินทำให้คนที่ไม่ใช่พันธมิตรเสียหายอย่างหนัก เราจึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรม
อุ้ยซอน : คนเสื้อแดงคือคนที่มาเรียกร้องประชาธิปไตย ความเป็นธรรม จากกฎหมายและสังคม เพราะเห็นว่าในประเทศนี้มันไม่มี
เป้าหมายคนเสื้อแดงคืออะไร
ป้าลำดวน : ส่วนตัวแล้วอยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่มีมาตรฐานเดียวกัน เพราะถ้ามีมาตรฐานเดียวกันแล้วทุกๆคนจะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่หวาดระแวง ทุกคนจะอยู่ภายใต้กฎเดียวกัน
อุ้ยซอน : อยากเห็นความเป็นธรรมในสังคม
คนทั่วไปมองว่าเสื้อแดงกับคุณทักษิณสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
ป้าลำดวน : โดยส่วนตัวป้าไม่เคยสัมพันธ์ ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว ไม่เคยเห็นหน้า แต่รู้จักเพราะงานที่เขาเคยทำ ตอนที่เขาเป็นนายกฯรู้สึกว่าชีวิตมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ฉะนั้นแล้วจะว่าคนเสื้อแดงสัมพันธ์กับท่านทักษิณก็ใช่ แต่ไม่ได้สัมพันธ์ส่วนตัว เรารู้สึกชอบนโยบายกับสิ่งที่เขาทำจึงอยากให้เขากลับมา
อุ้ยซอน : ยายก็ไม่เคยเห็นหน้า แต่รู้สึกได้ว่า เวลาที่ท่านเป็นนายกกับไม่เป็นมันต่างกันมาก
ลองบอกได้ไหมว่า ได้ประโยชน์นโยบายของทักษิณอย่างไร
ป้าดวน : นโยบาย 30 บาท ทำให้คนทุกข์ยากอย่างเราไม่ต้องไปขายไร่ ขายนา เพื่อรักษาตัวเอง บางครั้งป่วยไม่ได้ตายทันที เป็นญาติ พี่น้องเราก็ต้องคอยดูแลรักษากันเพื่อยื้อชีวิตไว้ให้นานทีสุด บางคนเป็นโรคเรื้อรังก็ต้องใช้เงิน เงินที่ออมได้ 10,000-20,000 บาท ถ้าหมดก็ต้องขายไร่ขายนา เพื่อเอามาเป็นค่ารักษา ถ้าไม่พอก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินแต่เมื่อมีนโยบายนี้ออกมาทำให้เราตัดความกังวลนี้ออกไปได้ ไม่ต้องคิดมาก เรามีเวลาทำมาหากิน มีเงินเก็บ
กองทุนหมู่บ้าน SML ซึ่งให้เปล่า แล้วแต่หมู่บ้านจะนำไปใช้อย่างไร หมู่บ้านเราตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียนให้คนในหมู่บ้านกู้ยืมโดยคิดอัตราเบี้ยต่ำเพื่อจะได้ใช้กันอย่างทั่วถึง เมื่อก่อนตอนยังไม่มีนโยบาย แม่ค้าในตลาดอย่างเราต้องใช้เงินมาลงทุนค้าขาย หรือชาวไร่ ชาวนา ที่ต้องลงทุนทำการเกษตร เลี้ยง หมู เลี้ยงสัตว์ เมื่อไม่มีทุนก็ต้องกู้เงินรายวัน เสียดอกเบี้ยเป็นวัน ถ้าจะเอาเพิ่มก็ต้องหักกับหนี้เก่าก่อน บางครั้งกู้เพิ่มมาหมื่นบาทเหลือใช้ไม่กี่พัน ทำให้ติดหนี้ไม่รู้จักหมด แต่เมื่อนโยบายนี้เข้ามาเราไม่ต้องไปเอาเงินกู้รายวัน เรามากู้กองทุนหมู่บ้าน ใครเดือดร้อนอะไรก็เดินเข้าไปหากรรมการเงินล้าน เพื่อขอกู้โดยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 50 สตางค์ กู้ 10,000 บาทเสียดอกปีละ 600 บาท แล้วกองทุนมีเงินเป็นล้าน ปีหนึ่งได้หลายหมื่นบาท ส่วนเงื่อนไขที่สามารถกู้ได้คือเราต้องมีเงินออมทรัพย์ให้กองทุนทุกปี เรียกว่า "เงินสัจจะออมทรัพย์" ทำให้กองทุนมีเงินเพิ่ม ตอนนี้มีประมาณ 4-5 ล้านแล้ว นโยบายมันดีมันทำให้เรามีกินมีใช้ มีชีวิตที่สุขสบายขึ้นแล้วจะไม่ชอบได้อย่างไร
อุ้ยซอน : เมื่อก่อนไม่สบายครั้งหนึ่งต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อรักษา แต่พอมีนโยบาย 30 บาทไม่ต้องเป็นหนี้ นอกจากนี้มีกองทุนเพื่อการศึกษาให้ลูกหลานมีโอกาสเรียนหนังสือด้วย
ส่วนเรื่องกองทุนเงินล้าน ยายก็เคยกู้มาลงทุนให้ลูกชาย เลี้ยงหมู ปลูกผัก ตอนนี้ไม่ได้เดือดร้อนก็ไม่ได้กู้ แต่ยังเห็นว่านโยบายนี้ดี พึ่งพาได้ในยามเดือดร้อน พอปัญหาหมดไปชีวิตก็มีความสุข บางคนอยากมีรถจักรยานยนต์เพื่อทุ่นแรงทำงาน รอมาเป็น 10 ปี ยังไม่ได้แต่พอมีกองทุนเงินล้าน สามารถกู้ซื้อได้ มันดีอย่างนี้แล้วจะไม่ให้ชอบได้อย่างไร
ตอนทักษิณถูกโค่น มีข้อมูลออกมากมายว่าทักษิณโกงอย่างไร และเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้
ทหารนำมาเป็นข้ออ้างในการปฏิวัติ คิดเห็นอย่างไร
ป้าดวน : ตอนมีข่าวการชุมนุมขับไล่ท่านทักษิณของกลุ่มพันธมิตรก็สงสัย (เพราะตอนนั้นยังไม่ได้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด) ว่าทำไมทักษิณถึงเป็นคนอย่างนั้น ทั้งที่นโยบายท่านก็ดี แต่ว่าท่านคงเป็นคนไม่ดี มาสร้างภาพหลอกพวกเรา ความรู้สึกก็เห็นใจเขา และไม่ได้ต่อต้านการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร และยังคิดไปอีกว่า ทักษิณนี่ร้ายลึก มาทำดีหลอกพวกเรา จากนั้นเราก็ติดตามฟังข้อมูลว่าทักษิณไม่ดีอย่างไร เราติดตามมาจนกระทั่ง ป้าเห็นว่ามันไม่ใช่ เราหาข้อไม่ดีของเขาไม่เจอเลย คิดดูผ่านมา 3 ปี หาได้แค่ซื้อที่ดินรัชดาอย่างเดียว ที่ว่าโกงกิน ไม่เห็น คอรัปชั่นก็ไม่มี เราก็เริ่มเอะใจ คราวนี้พอเราเลือกนายกสมัครเข้าไปก็โดนคดี จนหลุดจากนายก นายกสมชายเข้ามาก็โดนออกอีก เราก็เลยเข้าใจว่าความยุติธรรมไม่มีแล้ว เหตุนี้มันทำให้คิดว่าสาเหตุที่ท่านทักษิณถูกโค่นล้ม คือ "ดีเกินไป" อยู่ร่วมกับคนเลวไม่ได้ ไปขัดแข้งขัดขาคนอื่น อย่างเรื่องหวยใต้ดิน หวยใต้ดินทำให้เจ้ามือรวย ทักษิณตัดวงจรนี่ออกไปโดยการเอาหวยขึ้นมาบนดิน ทำให้เจ้ามือไม่พอใจ พอเอาขึ้นมาท่านก็เอาไปเป็นกองทุนการศึกษา เอาไปสร้าง 1 อำเภอ 1 ด๊อกเตอร์ มันดีแค่ไหน พวก "อำมาตย์"มันไม่อยากให้คนฉลาดเพราะมันจะไม่สามารถควบคุมเราได้ เลยอ้างว่าเป็นการมอมเมา ทำให้เราไม่เชื่อสิ่งกลุ่มนี้อ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เคยหายไป ถึงไม่มีหวยบนดินคนก็ยังเล่นหวยใต้ดิน หวยใต้ดินก็ เป็นการมอมเมา แต่เราไม่ได้อะไรคืนมา คนที่รวยคือเจ้ามือ
อุ้ยซอน : มันเป็นการกลั่นแกล้งกันของพวกคนที่เสียประโยชน์
ในความคิดของป้าดวน กับอุ้ยซอน "ไพร่" มีความหมายว่าอะไร
ป้าดวน : ไพร่คือชนชั้นที่ไม่ มีอำนาจจะไปต่อรองอะไรได้ ได้แต่ทำมาหากิน ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์
อุ้ยซอน : ไพร่คือชนชั้นที่ถูกอำมาตย์หลอก ไม่มีความรู้
แล้ว "อำมาตย์" ละครับ
ป้าดวน : อำมาตย์ คือพวกที่สามารถบงการทุกอย่างได้ พวกนี้มันไล่เรียงลงมาเป็นเส้นสาย ตั้งแต่คนที่มีอำนาจสูงสุด จนถึงคนที่ได้รับคำสั่งแล้วมาใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมกับเรา กล่าวคืออำมาตย์คือ พวกทหาร ที่ควบคุมนายกอีกที แต่นายกคืออำมาตย์ เพราะรับคำสั่งมา นายกฯส่งลงมาที่ผู้ว่าฯ แล้วส่งมาที่นายอำเภอ นายอำเภอส่งมาที่กำนัน ผู้ใหญ่แล้วมาใช้อำนาจกับพวกเรา นี่คือระบบของอำมาตย์
อุ้ยซอน : "อำมาตย์" คือ ทำทุกอย่างได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เป็นอำนาจที่ควบคุมเรา ทำให้เราไม่สามารถใช้อำนาจของเราได้ ซึ่งมันไม่ใช่ประชาธิปไตย
คำว่า "สองมาตรฐาน" เข้าใจว่าอย่างไร
ป้าดวน : สองมาตรฐาน คือ ฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิด แต่อีกฝ่ายทำอะไรก็ไม่ผิด เช่น ช่วงชุมนุมที่ราชประสงค์ รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ห้าม เสื้อแดงชุมนุมมันผิดกฎหมาย แต่เสื้อหลากสีชุมนุมได้ ไม่ผิด เพราะไม่ได้สร้างความเดือดร้อน นี่คือ สองมาตรฐาน
ยายซอน : สองมาตรฐาน คือคนที่มีอำนาจ ทำอะไรก็ไม่ผิด แต่คนอย่างเราทำอะไรก็ผิด
คิดอย่างไร กับคนเสื้อเหลือง
ป้าดวน : ต้องแยกระหว่าง แกนนำ กับ คนเสื้อเหลือง พวกแกนนำรู้หมดว่าอะไรผิด อะไรถูก แต่คิดเอาผลประโยชน์ของตัวเองก่อนเป็นหลัก การตั้งเสื้อเหลืองเกิดขึ้นจากการขัดผลประโยชน์กับนายกทักษิณ ส่วนในระดับคนที่ไปร่วมชุมนุม เกิดจากความรู้สึกอย่างพวกเราคือรัก ประเทศชาติ รักในหลวง อย่างยิ่ง พอแกนนำ มาปลุกระดม ก็เข้าด้วยเพราะเกิดความรู้สึกอย่างเดียวกัน คนระดับนี้ไม่ได้มีพิษ มีภัยอะไร เป็นกลุ่มคนเหมือนพวกเรานี่แหละ ซึ่งคน เสื้อเหลืองก็จะประกอบไปด้วยคนหลายกลุ่ม ได้แก่ ชาวบ้านอย่างพวกเรา แกนนำที่เสียผลประโยชน์ ส่วนข้าราชการที่เป็นเสื้อเหลืองเข้าใจว่าเป็นด้วยเรื่องผลประโยชน์ ได้ผลประโยชน์และเสียประโยชน์จากทักษิณจึงเข้าข้างเหลือง และ มีพวกเสียประโยชน์จากทักษิณอย่างพวก เจ้ามือหวยเถื่อน ผู้ค้ายาเสพติด เจ้าของเงินกู้ เจ้าพ่อมาเฟีย กลุ่มนี้ก็เป็นเหลือง และ พวกนี้จับมือกันเป็นพันธมิตร มีเป้าหมายเดียวคือล้มทักษิณ เพราะไปขัดผลประโยชน์ ซึ่งประเทศจะเป็นอย่างไร ไม่สน
นอกจากนี้การ เคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรเราก็ไม่เห็นด้วยเพราะไปยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน และทำลายข้าวของคนอื่น ทำให้คนอื่นเดือดร้อน พอทำแล้วไม่ผิด เรายิ่งไม่พอใจ สรุปแล้วไม่พอใจทั้งเป้าหมายและการเคลื่อนไหวของเสื้อเหลือง
อุ้ยซอน : คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ได้รับการปฏิบัติจากผู้มีอำนาจต่างจากเรา คือ ได้รับการประคบประงม ปกป้อง คนกลุ่มนี้ได้แก่กลุ่มคนที่เสียประโยชน์จากทักษิณ และได้ประโยชน์จากอำมาตย์ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นคนอย่างพวกเรานี่แหละ คนกลุ่มนี้ชุมนุมเคลื่อนไหว แต่ก็มีอาวุธ ทำลายข้าวของ ทำอะไรก็ไม่ผิด
ป้าดวนกับอุ้ยซอน คิดอย่างไรกับการทำหน้าที่ของทหาร
ป้าดวน : มีแต่ความเกลียดชัง เพราะเห็นว่าทหารมันใช้อำนาจเกินขอบเขตกับประชาชน และจะทำอย่างไรกับเราก็ได้ อย่างการชุมนุมที่ผ่านมา มันคิดจะจับก็จับ คิดจะตบใครก็ตบ อยากจะฆ่าก็ฆ่า แม้ว่าประชาชนอย่างเราจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งที่กินเงินเดือนภาษีของเรา แต่มาทำกับพวกเราอย่างนี้ เงินภาษีที่ใช้ซื้ออาวุธก็เป็นเงินของเรา ควรที่จะนำไปป้องกันประเทศไม่ใช่นำมาฆ่าประชาชน
อุ้ยซอน : ที่ดีก็มี ที่เลวก็มี แต่อุ้ยไม่ชอบเพราะมันฆ่าพวกเรา
ตำรวจ
ป้าดวน : ตำรวจยังมีอำนาจไม่เท่าทหาร ไม่ได้ทำร้ายเรา เราก็ไม่ได้เกลียดชัง แต่คิดว่าเรื่องการเมืองตำรวจมักจะไม่ยุ่ง ตำรวจจะใช้อำนาจกับชาวบ้านในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ก็ยังอยู่ในกรอบของกฎหมาย
อุ้ยซอน : เหมือนกันนั้นแหละคือมันก็มีทังดีและเลว
สื่อมวลชน
ป้าดวน : สื่อมวลชนกระแสหลักมีสองแบบ 1.ถูกบังคับจากรัฐบาลให้เสนอข่าวตามที่รัฐบาลต้องการ (ทำแบบไม่เต็มใจ) 2.สื่อที่ได้ประโยชน์จากรัฐและเสียผลประโยชน์จากทักษิณพวกนี้จะบิดเบือน ข่าวสารอย่างเต็มใจ ซึ่งการนำเสนอข่าวของสื่ออยู่ที่หัวหน้าหรือกองบก. ตอนเราไปร่วมชุมนุมเห็นสื่อที่มาทำข่าว นิสัยดี เข้าใจเราทุกคน บางครั้งทำข่าวให้เรา แต่ปรากฏว่าพอส่งขึ้นไปแล้วไม่ได้ออกก็มี ส่วนสื่อเล็กที่ไม่ได้เป็นสื่อกระแสหลักนิสัยดี พอมีความเป็นกลางอยู่บ้าง
อุ้ยซอน : ไม่เป็นกลาง ยังมาหาว่าเราเป็นผู้ก่อการร้าย
พรรคการเมือง
ป้าดวน : การทำหน้าที่ของพรรคการเมือง ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรา ยอมรับการเลือกตั้งของเรา ไม่ใช่ยอมถูกลากตั้งเข้าไป เพราะถ้าลากตั้งเราไม่มีส่วนร่วม เราไม่สามารถเลือกคนที่เราต้องการได้
อุ้ยซอน : พรรคดีก็มีพรรคแล้วก็มี แล้วแต่ว่าพรรคนั้นทำประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่หรือเปล่า
ตุลาการ
ป้าดวน : ระบบตุลาการของเราไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความเป็นกลาง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการถูกควบคุมอำนาจของกลุ่มอำมาตย์ ทำให้จริยธรรมของตุลาการไม่สามารถเกิดขึ้นได้
อุ้ยซอน : สองมาตรฐาน
องคมนตรี
ป้าดวน : "อำมาตย์" ตัวจริงเป็นทหาร ไม่ได้เป็นทำหน้าที่ช่วยเหลือในหลวง เป็นพวกที่เราอยากกำจัดที่สุด ถ้ากำจัดได้ ระบบตุลาการ สื่อมวลชน ทุกอย่างที่ถูกควบคุมก็จะดำเนินการได้
อุ้ยซอน : มันคืออำมาตย์
แล้วถ้าเราจะปฏิรูปสถาบันการเมืองเหล่านี้ ควรทำอย่างไร
ยายซอน : ต้องกันอำมาตย์ออกไปไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ให้ผู้แทนทำหน้าที่ในสภา แทนเรา ผู้แทนราษฎรที่เราเลือกไป ทุกอย่างก็จะดำเนินไปตามกลไกของมันเอง อย่างน้อยก็มีจิตสำนึกว่าประชาชนได้เลือกขึ้นไปทำหน้าที่ ดังนั้นก็จะทำหน้าที่แทนประชาชน ต่างจากระบบเจ้านายจะไม่นึกถึงใคร จะใช้อำนาจอย่างเดียว ไม่ต้องตอบแทนใคร มันคิดว่ามันเป็นใหญ่ขึ้นมาด้วยตัวเอง รักแต่พวกตัวเอง
ป้าดวน : เมื่อไล่อำมาตย์ได้ เราต้องกำจัดกฎหมายที่ให้อำนาจอำมาตย์ อย่างรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะปล่อยให้ยังอยู่ก็เหมือนว่าอำมาตย์ยังอยู่ มีอำมาตย์ใหม่ขึ้นมา มีการใช้อำนาจแบบอำมาตย์ ส่วนจะใช้กฎหมายอะไรก็ต้องมาว่ากันอีกที เพราะเราไม่รู้เรื่องกฎหมาย รู้แต่ว่ารัฐธรรมนูญ 50 เป็นต้นเหตุของปัญหาทุกอย่าง เพราะเป็นกฎหมายของอำมาตย์
อยากให้ช่วยเล่าว่า การสลายการชุมนุมที่ กทม. เป็นอย่างไรบ้างทั้งช่วงที่อยู่ชุมนุมและช่วงที่ไม่อยู่
ป้าดวน : ตอนล้อมปราบวันที่ 19 พ.ค.เป็นช่วงที่กลับมาทำกิจที่บ้าน ก่อนหน้าที่มีข่าวการสลายชุมนุมพยายามจะไปเข้าร่วมชุมนุมแต่ถูกทหารในพื้นที่สกัดไม่ให้เข้าไปร่วมกับส่วนกลาง แต่ก็ติดตามสถานการณ์ผ่านการถ่ายทอดเสียงออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต และ SMS
ยายซอน : ตอนนั้นกลับมาอยู่บ้าน แต่ช่วงที่ปราบครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เม.ย. กลุ่มเราที่ไปตั้งเต็นท์อยู่แถววัดเบญฯ นอกแนวปราบ วันนั้นมีการประกาศว่าทหารจะเข้ามาเข้ามาทางคอกวัว อีกทางหนึ่งที่จะไปราชประสงค์ มีนายทหารอยู่บนรถและประกาศว่า เหยียบแม่งมันให้หมดไถแม่มันไปเลย แต่ก็มีเสียงมาจากทหารอีกฝั่งว่า อย่าไปทำลายของเขา เสียงอึกทึกคึกโคมมาจากทุกทิศทุกทาง พอมาถึงสะพานผ่านฟ้ามีการยิงแก๊สน้ำตาเข้ามา มีทหารนายหนึ่งถือโล่กับกระบองเข้ามาแล้วพูดว่า แม่อย่าไปทางนั้นเขากำลังยิงแก๊สน้ำตา แล้วลากแม่ออกไปจากแนวปะทะ เข้าไปในวัดเบญฯ ซึ่งเราเห็นรถคันหนึ่งที่ทหารจับคนเสื้อแดงไป ซึ่งคนเสื้อแดงกำลังเปลี่ยนเสื้ออยู่ถูกทหาร ถีบเข้าไปในรถ แต่ยายไม่โดนนะ ทหารคงคิดว่ายายเป็นคนแถวนั้น เลยไล่ไปทางที่จะไปราชประสงค์ ยายก็ไปรวมกับคนแถวนั้น จนเหตุการณ์สงบ ความจริงวันนั้นจะเรียกว่าเราโดนสลายก็ไม่ถูกเพราะเราโดนสลาย โดนจับ บางคนโดนเหยียบ เพียงแต่มันไม่ฆ่าเหมือนวันที่ 19 พ.ค. เท่านั้นเอง
รู้สึกอย่างไรบ้าง
ยายซอน : รู้สึกแค้นในใจ ทำไมทำกับพวกเราอย่างนี้เหมือนพวกเราไม่ใช่คนไม่ให้ความเป็นธรรมแก่เราและยังจะมาฆ่าพวกเราอีก ทั้งซ้ำเติมพวกเราว่าเป็นผู้ก่อการร้าย มีดที่จะใช้ปอกผลไม้ก็ไม่ได้เอาไป แล้วจะเป็นผู้ก่อการร้ายได้อย่างไร มันยิ่งทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจมากขึ้นไปอีก
ป้าดวน : พวกเรามานั่งร้องไห้เสียใจ สงสารพวกเราที่ถูกยิง สิ่งที่เรียกร้องไปไม่ได้อะไรคืนมาสักอย่าง แม้แต่เครื่องครัวก็ไม่คืนให้ แล้วยังมาฆ่าเรา แล้วใส่ความว่าพวกเสื้อแดงฆ่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้ ใครจะมาฆ่ากันเอง เพราะพวกเรารักและรู้สึกผูกพันกันมาก
คิดอย่างไรกับการเผาห้างและสถานที่ราชการ
ป้าดวน : คิดว่าไม่ใช่ฝีมือของเสื้อแดงเพราะเวลานั้นทหารล้อมเสื้อแดงเอาไว้หมด หนีตายอย่างเดียวจะเอาเวลาที่ไหนมาเผา เวลาเที่ยงทหารได้ประกาศว่ายึดพื้นที่ได้หมด แล้วปล่อยให้เสื้อแดงเผาได้อย่างไร แต่การเผาศาลกลางและสถานที่ต่างๆน่าจะเป็นฝีมือของเสื้อแดงเพราะเกิดจากความแค้นในใจที่ถูกสั่งปราบ สั่งฆ่า
ยายซอน : ไม่คิดว่าเป็นฝีมือของเสื้อแดง เพราะถูกคุมพื้นที่และเดินไปมอบตัวเพื่อกลับบ้าน ส่วนการเผาสถานที่ราชกลางในต่างจังหวัดเป็นความกดดันที่ทหารฆ่าพวกเราเสื้อ แดง
รู้สึกอย่างไรบ้างที่แกนนำที่ถูกจับ
ป้าดวน : เสียใจและรู้สึกถึงคำว่าสองมาตรฐานมากขึ้น เพราะตอนแกนนำพันธมิตรไปรายงานตัวก็ไม่ได้ถูกคุมขัง แต่แกนนำเราไปรายงานตัวกลับถูกขัง
ยายซอน : รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว เพราะพันธมิตรปิดสนามบินแกนนำสามารถมาเดินลอยหน้าลอยตาได้ แต่เราชุมนุมแกนนำถูกคุมขัง อย่างนี้จะปรองดองกันได้อย่างไร .
ที่มา : http://www.prachatham.com/detail.htm?code=i1_05072010_02
http://www.prachatham.com/detail.htm?code=i1_05072010_02