13 ปี สภาการนสพ. เดินหน้าส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชน
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสุทัศน์ฯ ปาฐกถาเรื่อง “จริยธรรมสื่อมวลชนตามแนวพุทธ” แนะสื่อดำเนินชีวิต เผชิญเจ็ดย่างก้าว “ยุ ยอ ลวง ล่อ ขอ ขู่ ข่ม” ต้องศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า-มาปรับใช้ หัดข่มโทสะ ไตร่ตรอง ไม่เขียนด้วยความโกรธ
วันนี้ (4 ก.ค.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานครบรอบ 13 ปี โดยนิมนต์ พระราชวิจิตร ปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร แสดงปาฐกถาเรื่อง “จริยธรรมสื่อมวลชนตามแนวพุทธ” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมจริยธรรมให้แก่คนในวิชาชีพสื่อสารมวลชน
พระราชวิจิตร ปฏิภาณ กล่าวถึงหนังสือพิมพ์ในโลกนี้ไม่ตาย แต่ไม่โต เป็น "ศักดิ" คือศักดิ์สิทธิ์ เพราะไม่มีใครในโลกไม่ใช้หนังสือพิมพ์ ทุกคนต้องใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ แม้กระทั่งรัฐบาลก็จะใช้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ วันนี้คนไทยใช้เงินอย่างไม่มีสติ รัฐบาลสองยุคกำลังทำให้คนไทยเป็นขอทาน สร้างนิสัยขอทานให้คนไทย โดยเฉพาะประชานิยมกำลังให้คนไทยพึ่งพาตนเองไม่ได้ เมื่อขอแล้วไม่ได้จะขู่ เพราะรู้ว่าการต่อรองกับนักการเมืองมีกำลังสูง
“สื่อสิ่งพิมพ์ มี 2 ลักษณะ เหมือนหุบเขาคนโฉด มีด่าน 18 อรหันต์อยู่ในนั้นพร้อมกัน มีอะไรที่โฉดๆ และมีอะไรที่ดีๆ อยู่ในนั้นพร้อมกัน ซึ่งสื่อโทรทัศน์ วิทยุทำไม่ได้ และหากแยกสื่อสิ่งพิมพ์ มีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.สื่อสาระธรรม 2.สื่อสาระแน 3.สื่อสารเลว”
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสุทัศน์ฯ กล่าวว่า สื่อที่ให้ความรู้ ให้ความจริง ให้สิ่งเป็นสาระ ให้ทัศนะวิจารณ์ จะนำมาซึ่งวิจารณญาณเพื่อเป็นฐานการพัฒนาประเทศ สื่อชั้นดี บรรณาธิการ หรือคอลัมนิสต์ชั้นดี ต้องให้ความรู้แก่คนด้วย โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อที่จะต้องถูกเก็บไว้เป็นหลักฐาน ฉะนั้นข่าวที่นำเสนอต้องไม่มีการเต้าข่าว ไม่ผิดในสิ่งที่เป็นสาระ ที่สำคัญที่สุด คือการให้ทัศนะวิจารณ์ เพราะการวิจารณ์ เพื่อเป็นสติปัญญากับทุกฝ่าย ให้คนมีวิจารณญาณ มิเช่นนั้น มนุษย์จะมีแต่พากเพียรเรียนรู้ กับพากเพียรเรียนแบบ
“สังคมไทยสร้างการศึกษาขึ้นมา เด็กไทย รู้ ลอก เดา ทุจริต เอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยเรียน ซึ่งเมื่อผลผลิตทางการศึกษาเป็นแบบนี้ โตขึ้นมาในระบบนี้ คนไทยก็ไม่มีโอกาสคิดเป็น นี่คือการทำลายระบบจินตมยปัญญา ไม่เกิดแนวความคิด”
สำหรับใครที่คิดจะก้าวเข้าสู่อาชีพสื่อสารมวลชนนั้น พระราชวิจิตร ปฏิภาณ กล่าวว่า ต้องเผชิญกับเจ็ดก้าวย่างที่ต้องระวัง “ยุ ยอ ลวง ล่อ ขอ ขู่ ข่ม” โดยเฉพาะขอให้ระมัดระวัง 2 เรื่อง อย่าให้เขาเห็นว่า เราขาดอะไร อย่าแสดงความชอบใจอะไรเป็นพิเศษ เพราะมือที่แบรับย่อมอยู่ต่ำใต้กว่ามือผู้ให้เสมอ ฉะนั้นอย่ารับของใคร และชอบอะไรไม่ได้ เพราะสิ่งที่ชอบนั้นขาดอยู่หนึ่ง เป็นเหตุให้ทุจริตต่อหน้าที่
ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสุทัศน์ฯ กล่าวถึงการดำเนินชีวิตของสื่อมวลชน ที่ต้องผ่าน“ยุ ยอ ลวง ล่อ ขอ ขู่ ข่ม” ว่า ต้องศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า และนำคำสอนมาใช้กับตัวเอง
“อย่าหลง และจงระวัง หลงคำชม ลมจะพองภายใน หลงเขากราบไหว้ เท้าจะไม่ติดดิน หลงใหญ่หลงยศ จะกดขี่เขาไปสิ้น หลงอยากมีทรัพย์สินจะโกงกินเงินทอง หลงกามจะนำสู่ความเมามัว หลงคบคนชั่วจะพาตัวให้มัวหมอง หลงลืมตน ทำให้คนเมินไม่อยากมอง จงไตร่ตรอง”พระราชวิจิตร ปฏิภาณ กล่าว และฝากข้อคิดไว้อีกว่า ระวังปาก พวกที่อยากอวดรู้ ระวังหู อย่าจู่เชื่อคนง่าย ระวังเล่ห์กล คนที่จ้องทำลาย ระวังคนรอบกายจะหมายรอบกัดกิน ระวังอารมณ์ จงหัดข่มโทสะ ระวังขาดตบะ จะละเมิดศักดิ์ศรี ระวังใจอย่าให้เปื้อนมลทิน ระวังสิ้นหิริโอตัปปะ จะวอดวาย
สุดท้ายพระราชวิจิตร ปฏิภาณ กล่าวด้วยว่า เมื่อทำอาชีพสื่อสารมวลชนแล้ว ขอให้หัดข่มโทสะ ไตร่ตรองเสียก่อน อย่าเขียนด้วยความโกรธ เพราะเมื่อโกรธแล้วคนถูกทำร้าย จะไม่มีโอกาสแก้ตัว
จากนั้น มีการสนทนากลุ่มในหัวข้อ “บทบาทและจริยธรรมสื่อสังคม” โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายนิรันดร์ เยาวภา เว็บมาสเตอร์ผู้จัดการออนไลน์ ผศ.ดร.ณรงค์ ขำวิจิตร หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ สาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินรายการโดย นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรรายการ แบไต๋ไฮเทค และนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สะท้อนมุมมองต่อบทบาทการทำหน้าที่ของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ในฐานะองค์กรที่ดูแลจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในช่วงระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา และความท้าทายในการกำกับดูแลเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชนในอนาคต
นายวสันต์ กล่าวถึงบทบาทสื่อสังคม (social media) ว่า ถือเป็นสื่อใหม่ที่มีศักยภาพในตัว มีโอกาสเติบโตสูง เห็นได้จากยอดคนใช้เฟชบุคทั่วโลกมีจำนวนถึง 400 ล้านคน ในเมืองไทยมีคนใช้เฟชบุคกว่า 4 ล้านคน ขณะที่ใช้ทวิตเตอร์กว่าแสนคน ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่อสาร เป็นพัฒนาการของเทคโนโลยีส่งผลต่อการเปลี่ยนโฉมการสื่อสาร ประชาชนสามารถส่งสารได้มากขึ้น รวดเร็ว และมีรูปแบบที่หลากหลาย
“นักข่าวที่ใช้ social media มีนามสกุลองค์กรอยู่ ควรต้องระวัง แยกระหว่างเรื่องส่วนตัวกับการทำงาน ซึ่งในอนาคตสำนักข่าวหรือองค์กรข่าวควรมีการกำหนดแนวทางการใช้ social media ออกมาให้มีมาตรฐานเดียวกับการทำงานของสำนักข่าว เช่น มีการตรวจสอบข่าว ระวังการนำเสนอข่าว ไม่ขายความเท็จ ไม่มีการเอนเอียง ไม่ใส่ร้าย หรือหมิ่นประมาท”
ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงการสร้างกติกาของนักข่าวกับสื่อใหม่ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรสื่อ เพราะมีผลต่อเครดิต ความน่าเชื่อถือ ซึ่งกฎกติกา ไม่ใช่การควบคุม แต่เพื่อให้สื่อใหม่รับใช้ผู้บริโภคสื่อได้อย่างเต็มที่ และออกมาในแง่บวก ที่สำคัญผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันสื่อ ฟังหูไว้หู มิฉะนั้นสื่อใหม่จะกลายเป็นช่องทางกระพือข่าวลือที่สามารถส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือส่งเสริมการเกลียดชังก็ได้ หากไม่รู้วิธีใช้
ด้านนายนิรันดร์ กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่ช่วยให้ทุกคนสามารถส่งสาร เผยแพร่ข่าวได้ด้วยตนเอง ส่งผลคนทำหน้าที่นักข่าวมืออาชีพต้องปรับปรุงตัวเองให้ทัน และใช้สื่อใหม่ให้เป็นประโยชน์ เสริมซึ่งกันและกัน ส่วนข้อเสียของ social media ที่ใครก็ได้ส่งข้อมูลอาจทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะช่วงที่มีความขัดแย้งในสังคมสูง ยิ่งเมื่อนักการเมืองหันมาใช้ social media เพื่อกระจายความคิดของตัวเอง แม้จะเป็นสิทธิ์ทำได้ แต่การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว โดยที่ผู้อ่านไม่รู้เท่าทัน social media จะกลายเป็นเครื่องมือครอบงำทางความคิดได้
ส่วน ผศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า การใช้ social media การรู้เท่าทันเป็นประเด็นหลัก ต้องส่งเสริมให้คนรู้เท่าทันสื่อ ให้ความรู้ เพราะ social media มีความจริงไม่จริงมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคนรับสื่อต้องมีวิจารณญาณในการเชื่อ ต้องเช็คหลายๆรอบ
สุดท้าย ดร.มานะ กล่าวถึงโลกออนไลน์ สามารถรับส่งข้อมูลได้ โดยดึงคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ในวงการสื่อสารมวลชนใช้ทวิตเตอร์ เฟชบุค เป็นเครื่องมือหนึ่งในการรายงานข่าวมากขึ้น ทำให้มีคนติดตามนักข่าว เพราะมีน่าเชื่อถือมากกว่าการติดตามคนทั่วไป ดังนั้น การที่คนมักไว้วางใจนักข่าว ทำให้การรายงานข่าวต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าคนปกติ
“social media คือพื้นที่สาธารณะ ซึ่งควรระวังการเขียนเนื้อหาที่หมิ่นประมาท พาดพิง หรือโจมตีบุคคล ส่วนกรอบการควบคุม ควร ให้คนที่อยู่ใน social media คุมกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎกติกา หรือกรอบจริยธรรม เพราะ social mediaสามารถสร้างข่าวลือได้ง่าย หากปราศจากการตรวจสอบ”
นอกจากนี้ภายในงานมีการประกาศผลรางวัลหนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมดีเด่น ประจำปี 2552 เพื่อตรวจสอบและให้กำลังใจกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ประเภทหนังสือพิมพ์รายวัน รางวัลหนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมดีเด่น ได้แก่ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ รางวัลชมเชย ได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ จังหวัดเชียงใหม่ และหนังสือพิมพ์เสียงใต้ จังหวัดภูเก็ต
ประเภทหนังสือพิมพ์ ราย 3-7 วัน รางวัลหนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมดีเด่น ได้แก่ หนังสือพิมพ์สมิหลาไทม์ จังหวัดสงขลา รางวัลชมเชย ได้แก่ หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ จังหวัดสงขลา และหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ
ประเภทหนังสือพิมพ์ราย 15 วัน รางวัลหนังสือพิมพ์ส่งเสริมจริยธรรมดีเด่น ได้แก่ หนังสือพิมพ์สาริกา จังหวัดนครนายก รางวัลชมเชยได้แก่ หนังสือพิมพ์สมาร์ทนิวส์ จังหวัดยะลา และหนังสือพิมพ์ประชามติพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
พร้อมกับมอบกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ให้กับองค์กรสมาชิกใหม่ 1 องค์กร ได้แก่ หนังสือพิมพ์ก้าวหน้า