ระดมความเห็นปฏิรูปสื่อ "วสันต์ ภัยหลีกลี้" แนะต้องแยกสื่อให้ชัดก่อนปฏิรูป
เครือข่ายองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องด้านวิทยุ-โทรทัศน์ ประชุมระดมความเห็นปฏิรูปสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ครั้งที่ 1 เบื้องต้นได้ข้อสรุป ควรปฏิรูปสื่อภาครัฐช่อง 11 พร้อมเสนอให้สื่อต้องเน้นเรื่องจริยธรรม ความรับผิดชอบ นำเสนอข่าวลดความเกลียดชัง ความรุนแรง
วันนี้ (16 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น.สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดประชุมระดมความเห็นปฏิรูปสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องด้านวิทยุ-โทรทัศน์ ณ ห้องประชุม อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงภาพรวมการปฏิรูปสื่อว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนถูกคุกคาม ขณะที่การดำเนินการเรื่องปัญหากฎหมายข้อมูลข่าวสารก็ยังไม่สามารถคุ้มครองสื่อได้โดยตรง อีกทั้ง สิทธิเสรีภาพ และความรับผิดชอบ ที่มีปัญหาจากการดูแลจากอำนาจเชิงโครงสร้าง ทำให้การรายงานข่าวของสื่อมวลชนนั้น ถูกบิดเบือนและไม่นำเสนอความจริงแก่สังคม
“กลไกในการออกกฎหมาย ควบคุมดูแลสื่อมวลชนอย่างชัดเจน อีกทั้งการส่งเสริมเสรีภาพและความรับผิดชอบของบุคลากรผู้ทำสื่อเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าสื่อที่มีการครอบครองจากเอกชนจะไม่มีปัญหา แต่สื่อที่ดูแลโดยภาครัฐ เป็นสื่อที่อยู่ในกฎระเบียบจะมีปัญหาการนำเสนอ ไม่โจมตีฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ซึ่งมาจากอำนาจเชิงโครงสร้าง เช่น ช่อง 11 โดยทางแก้ไขที่ดี ต้องมีการปรับการถือครองอำนาจ สร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อมวลชน สนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อในทุกระดับ และสร้างเนื้อหาที่หลากหลาย ปราศจากการครอบงำจากองค์กรใดๆ”
นายชวรงค์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทุกคน สามารถเข้าถึงสื่อได้โดยตรง ในทางกายภาพ แต่สิ่งที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึง คือ เรื่องของเนื้อหาที่มีส่วนร่วม ซึ่งสื่อไทยยังเปิดโอกาสอยู่น้อยมาก หากการปฏิรูปสื่อจะสำเร็จได้ ต้องทำให้ครอบคลุม สื่อมวลชน รัฐบาล ภาควิชาการและอื่นๆ เพื่อให้มีส่วนร่วมระหว่างกัน ในการเสนอแนะ เฝ้าระวัง ตรวจสอบ เพื่อเป็นการถ่วงอำนาจอย่างรู้เท่าทัน
ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ปัญหาในวงการสื่อที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรง และไม่ได้มีเพียงสื่อเดียวเช่นในอดีต แต่ยังมีสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งจากเหตุการณ์การรายงานข่าวของสื่อที่เกิดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้สติเพื่อช่วยกันหาทางออก ซึ่งหากจะฝากแผนปรองดองของนายกรัฐมนตรีที่มอบให้นักวิชาการสื่อสารมวลชน มุ่งปฏิรูปเพียงอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ วิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงจะต้องร่วมมือ หาข้อสรุปร่วมกัน ลดดีกรีความร้อนแรงลง และหาทางออก
“หากจะต้องปฏิรูปสื่อ ต้องดูแลเรื่องสาร ควบคู่ไปด้วย ซึ่งสำคัญมากกว่า เพราะจะส่งผลให้เนื้อหาสาระที่นำเสนอนั้นผิดไป และไม่นำเสนอความจริงที่ครบถ้วน จากการที่มีการปิดสื่อบางประเภท อาจจะทำให้คนที่ผลิตสื่อที่ดี ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน จำเป็นอย่างยิ่งต้องแยกแยะสื่ออย่างชัดเจนก่อนทำการปฏิรูป และ ต้องสร้างความชัดเจนไปในทิศทางเดียวกันในการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการผลิตสื่อ”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ข้อสรุปในที่ประชุมเบื้องต้น ต้องการให้เครือข่ายวิชาชีพสื่อมวลชนเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป ในฐานะของคนในวิชาชีพสื่อมวลชนมากกว่าการดำเนินงานของการปฏิรูปสื่อของฝ่ายนักวิชาการ โดยมุ่งสู่การปฏิรูปสื่อในภาพรวมใหญ่ เน้นท่าทีต่อรัฐบาล ผู้ออกกฎหมาย และท่าทีของตัวสื่อกับภาคประชาชน ต้องสอดคล้องกันมากที่สุด
สิ่งสำคัญ คือ การปฏิรูปสื่อภาครัฐ โดยเฉพาะ ช่อง 11 เรียกร้องให้งดการแทรกแซงสื่อ ออกกฎหมายคุ้มครองการทำงานของสื่อ สร้างหน่วยติดตามดูแลคุ้มครองสื่อทุกแขนงอย่างเป็นรูปธรรม , เรียกร้องทุกฝ่ายหยุดคุกคามสื่อ และ ตัวสื่อมวลชนเองต้องมีการกำกับตนเองให้มากขึ้น มีประสิทธิภาพ เน้นการรวมกลุ่มในการกำหนดกรอบการทำงานร่วมกัน โดยให้เน้นถึงจริยธรรม ความรับผิดชอบของสื่อมวลชนเป็นหลัก ซึ่งเรื่องเฉพาะหน้าต้องร่วมส่งเสริมให้ลดความเกลียดชัง ลดความรุนแรง หรือการใช้ภาษาเหยียดหยามประชาชน