ถกทางออกสื่อในวิกฤตการเมือง 'ปฏิรูปสื่อ ไม่ใช่แค่ปฏิรูปกม.'
“บก.ข่าว โพสต์ทูเดย์” ชี้บทบาท-นิยามความเป็นสื่อ ไม่ชัดเจน สุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นเครื่องมือความขัดแย้ง หลุดเข้าไปในวงความขัดแย้งเสียเอง ด้านนักวิชาการ จุฬาฯ ขอพื้นที่สื่อตามข่าวให้หลากหลาย ฉะสื่อที่ผ่านมาเมาหมัดสะท้อนปรากฎการณ์มากกว่าการแสวงหาทางออก
วันนี้ (3 มิ.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม จัดประชุมนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อมวลชน ครั้งที่1/2553 พร้อมจัดเสวนา “สื่อในวิกฤติการเมือง : สะท้อนปรากฏการณ์ หรือแสวงหาทางออก” โดยมีนายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์, ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และดร.อัจฉริยา อักษรอินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมเนคเทค ร่วมเสวนา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายภัทระ กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ของบ้านเมืองที่มีความยากลำบาก เพราะหลังจากที่ทะเลาะกันบนถนนแล้ว ก็มาทะเลาะกันบนหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวี หน้าปัดวิทยุ และคอมพิวเตอร์ จนเกิดปรากฏการณ์สื่อใหม่อย่าง เครือข่ายสังคมออนไลน์ ( Socail media) ทุกคนเป็นสื่อโดยไม่รู้ตัว และความรวดเร็วของสื่อใหม่นี้เอง ไม่มีใครมาจำกัด ขณะเดียวกันกฎหมายก็ตามไม่ทัน
“ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์นี้ คือ การรายงานข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านสื่อใหม่มีการปะปนกันระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็นส่วนตัวของผู้รายงาน ทำให้เห็นชัดเจนว่าการจัดการโครงสร้างของสื่อเก่ามีปัญหา การผลิตบุคลากรไม่สามารถรองรับปรากฏการณ์สื่อใหม่ได้ทันและสอดคล้องกับสถานการณ์สังคมที่เกิดขึ้น สื่อมวลชนไม่สามารถครอบคลุมสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมได้ทั้งหมด ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการควบคุมกันเองของสื่อมวลชนด้วย เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ไม่สามารถควบคุมสื่ออื่นที่นอกจากสมาชิกได้ และสื่อออนไลน์ที่ยังขาดองค์กรที่จะควบคุม”
สำหรับการเสนอข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเมือง นายภัทระ กล่าวว่า สื่อมวลชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยตั้งคำถามถึงสาเหตุจริงๆ ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันการทำข่าวก็ไม่ได้คำนึงถึงกระบวนการคิดของคนที่มาชุมนุม ทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ยังไม่เข้าถึง ไม่เข้าใจความคิดแกนนำผู้ชุมนุมอย่างลึกซึ้ง ภาวะเช่นนี้ทำให้สื่อมวลชนต้องตกเป็นเครื่องมือของความขัดแย้ง และกลายเป็นคู่ขัดแย้งไปด้วย รวมถึงตัวสื่อเองก็มีการแบ่งฝ่าย ค่ายต่างๆ ชัดเจน
บก.ข่าวการเมือง นสพ.โพสต์ทูเดย์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพสื่อยังมีความต่อเนื่องเรื่องการปฏิรูปปลุกจิตสำนึกน้อยเกินไป มีการพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบน้อยกว่าเรื่องเสรีภาพสื่อ รวมทั้งนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนก็ยังใช้ความรู้มากำกับสื่อมวลชนน้อยเกินไป ทั้งนี้สมาคมสื่อฯ ต้องเป็นผู้นำในการปฏิรูปสื่ออย่างครบวงจร ไม่ใช่แค่ปฏิรูปกฎหมายแต่ต้องทำด้วยฉันทามติของสังคม ว่าจะเอาอย่างไรก็คนที่เป็นสื่อ ที่เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง สื่อและสังคมต้องลุกขึ้นมาร่วมกันในเรื่องนี้ด้วย
ด้านดร.นฤมล กล่าวถึงการเกิดปรากฏการณ์สื่อทางการเมือง (Political Media) ชัดเจนมีมาตั้งแต่ปี 2540 ปัจจุบันคนชนบทเลือกรับสื่อทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น เห็นได้จากการติดจานดาวเทียมที่เป็นสื่อการเมือง เช่น ดาวเทียมพีทีวี ดาวเทียมเอเอสทีวี ทั้งนี้สื่อกระแสหลักต้องตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่า ทำไมไม่เป็นฝ่ายที่ถูกเลือก หรือพูดถึงน้อยลง และทำไมสื่อของคนเสื้อแดงจึงเน้นเป็นวิทยุชุมชนเป็นหลัก ขณะเดียวกัน เครือข่ายสังคมออนไลน์ แม้เป็นสื่อใหม่แต่เนื้อหายังโบราณเน้นเกลียดชัง เสียดสี จนเกิดปรากฎการณ์ทำให้คู่กรณีเป็นมนุษย์น้อยลง รวมทั้งเราก็มักจะใช้วิธีปิดช่องทางสื่อ ไล่ปิดเว็บไซต์ แทนที่จะดูแล ควบคุมเนื้อหา
ส่วนทางออกในการสร้างความปรองดองนั้น อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หากต้องการสร้างความปรองดองอย่างน้อยก็ต้องฟังคนที่มาชุมนุมด้วย แต่ขณะนี้พื้นที่สื่อส่วนใหญ่พูดถึงการเยียวยาทางกายภาพ ผู้สูญเสียทรัพย์สิน ตึกอาคาร มากกว่าการเยียวยาผู้สูญเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ ดังนั้นสื่อมวลชนควรตามไปสัมภาษณ์ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง ( ศรส.), เครือข่ายสันติวิธี, ผู้สูญเสียที่นอกจากผู้ค้าบ้าง ฯลฯ
“สื่อในวันนี้ยังคงสะท้อนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าแสวงหาทางออก สื่อยังคงเมามัดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกคนรวมถึงตัวสื่อด้วยต้องนำหลักกาลามสูตรมาใช้ เพราะกระบวนการกรองข้อมูลนั้นสำคัญมาก วันนี้เรายังคงพูดถึงความรุนแรงทางกายภาพมากกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในทางวัฒนธรรม โดยลืมไปว่า ความเป็นนิติรัฐนั้นจะอยู่ได้ต่อเมื่อคนในสังคมเกิดความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ”ดร.นฤมล กล่าว และว่า สื่อควรเปิดพื้นที่สาธารณะโดยใช้หลักการให้ข้อมูลจริง, ให้คุณค่ากับจิตใจ (Moral Value) และการเปิดพื้นที่สื่อต้องนำไปสู่การสร้างฉันทามติ ที่จะทำอย่างไรให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้ แม้วันนี้เราจะไม่สามารถรักกันเหมือนเดิมได้อีกแล้ว แต่ก็ควรทำให้คนคิดแตกต่างได้มีที่ยืน
ด้านดร.มานะ กล่าวถึงปรากฏการณ์การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในปัจจุบันว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่และนักข่าวยังคงมีความเข้าใจการใช้งานสื่อประเภทนี้ในระดับหนึ่งเท่านั้น การนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อนี้ส่วนใหญ่ยังคงมีลักษณะแบบขาวหรือดำ ใส่ความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึกผ่านพื้นที่นี้อย่างเต็มที่ ข่าวสารจึงถูกผลักออกมาในลักษณะของการเลือกข้าง
สำหรับการรายงานข่าวของสื่อในสถานการณ์การเมืองช่วงที่ผ่านมา ดร.มานะ กล่าวว่า สื่อมวลชนยังคงเลือกใช้แหล่งข่าวเฉพาะกลุ่ม เลือกใช้แหล่งข่าวคนเดิมๆ เช่น การสัมภาษณ์นักวิชาการคนเดียว คนเดิม ในการตอบคำถามแทบทุกเรื่อง ทั้งที่นักข่าวสามารถหาและเลือกใช้แหล่งข่าวที่หลากหลายขึ้นจากสื่อใหม่นี้ได้ก็ตาม
“วันนี้ไม่เชื่อเรื่องของสื่อที่ต้องเป็นกลางแล้ว เพราะปัจจุบันมีทั้งสื่อที่เลือกข้างชัดเจน สื่อแอ๊บขาว สื่อแอ๊บแดง สื่อแอ๊บกลาง ซึ่งคิดว่าสื่อควรจะมุ่งที่การนำเสนอความจริงมากกว่า ตราบเท่าที่ไม่ล้ำเส้นรายงานข่าวจนทำให้เกิดการชวนเชื่อ (Advocacy & Agenda) ยังพอรับได้ ขณะที่เดียวกันการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ สิ่งที่น่าห่วงคือจะทำอย่างไรให้การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มีความรับผิดชอบด้วย”
สุดท้าย ดร.อัจฉริยา กล่าวถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของคนไทย ยังมีไม่เพียงพอ การใช้สื่อนี้ต้องระมัดระวัง เพราะได้กลายเป็นสื่อสาธารณะ ไม่ใช่สื่อส่วนตัวอีกแล้ว ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค เป็นสื่อสารสาธารณะ ที่ทำให้เราเห็นกันได้โปร่งใสมากยิ่งขึ้น ทุกคนสามารถติดตามรับรู้ข้อมูลที่ผู้ใช้ได้ เกิดการละเมิดสิทธิผู้อื่น เกิดการฟ้องร้อง อย่างไรก็ตามสื่อใหม่เหล่านี้ก็มีข้อดีที่ทำให้เกิดความโปร่งใสในการติดตามสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และทำให้เชื่อมต่อกับคนอื่นในสังคมได้สะดวกขึ้นด้วย