มีเดียมอนิเตอร์ ชี้ปรากฎการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ในโลกออนไลน์
อึ้งผลการศึกษา พบ "เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ดพันทิป และฟอร์เวิร์ดเมล์" มีการใช้พื้นที่สื่อออนไลน์เพื่อการสื่อสารทางการเมือง คึกคัก เข้มข้น แต่ค่อนไปทางสร้างความแตกแยก มากกว่าสมานฉันท์
วันนี้ (3 มิ.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการ ศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม จัดการประชุมเครือข่ายนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อมวลชนครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ “สื่อในวิกฤตการเมือง; สะท้อนปรากฎการณ์ หรือแสวงหาทางออก” ณ ห้อง F๔๐๑ ชั้น ๔ อาคาร ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการโครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อฯ นำเสนอผลการศึกษา“ปรากฎ การณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ (ศึกษา Socail media)” ของโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม โดยได้ทำการสำรวจ ตรวจสอบ ปรากฎการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการชุมนุมระหว่างวันที่ 12 มีนาคม – 30 พฤษภาคม 2553 ด้วยวิธีการวิจัยเนื้อหา (content analysis) ผ่าน 4 กลุ่มช่องทางสื่อใหม่อย่าง 1.เว็บเฟซบุ๊ค 2.ทวิตเตอร์ 3.เว็บบอร์ดพันทิป และ 4. การใช้ฟอร์เวิร์ดเมล์
ผลการศึกษา พบว่า มีการใช้พื้นที่สื่อออนไลน์เพื่อการสื่อสารทางการเมืองในระดับกว้าง คึกคักและเข้มข้น แต่ค่อนข้างไปในลักษณะที่สร้างความแตกแยก มากกว่าสร้างความสมานฉันท์ ดังนี้
• ใน “เฟซบุ๊ค” พบ กว่า 1,300 เว็บไซต์ (ตัวเลข ณ เดือนพฤษภาคม ) แบ่งออกเป็น 19 กลุ่มวัตถุประสงค์ ทั้งการสนับสนุน/ต่อต้านรัฐบาล – คนเสื้อแดง กลุ่มสันติวิธี กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ หรือกลุ่มล้อเลียนการเมือง มีลักษณะของการรวมกลุ่มรณรงค์ต่อต้านการชุมนุม/สนับสนุนรัฐบาลไม่ให้ยุบสภาค่อนข้างสูงมากกว่ากลุ่มสนับสนุนเสื้อแดง การเชื่อมโยงจับกลุ่มทางออนไลน์ยังนำไปสู่การรวมตัวกันในโลกจริง เพื่อทำกิจกรรมรณรงค์และแสดงพลังทางการเมืองหลายด้าน
เนื้อหาส่วนมาก (กว่า 90 %) เป็นการจัดตั้งกลุ่มสังคมที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่อการชุมนุม ในประเด็นสาคัญคือต่อต้านการกระทำและไม่สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง และบางส่วนได้กลายมาเป็นพื้นที่สอดแนม เฝ้าระวัง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถาบัน และนำเอามาถ่ายทอดต่อในกลุ่มของตน เพื่อแจ้งข่าวสารยังสมาชิก เพื่อรู้ เพื่อประจาณ ประณามและขอให้ช่วยกันลงโทษทางสังคมออนไลน์ และมีการนาข้อมูลส่วนตัวของบุคคลดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในอีเมล์, เว็บบอร์ด เพื่อให้รับรู้กันในสาธารณะ ซึ่งมีกรณีที่นาไปสู่การจับกุม การไล่ออกจากสถานที่ทางาน และการไม่คบค้าสมาคม-ปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง
• ขณะที่สื่อทวิตเตอร์นั้น โดดเด่นไปการใช้งานเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเกาะติด ต่อเนื่อง โดยมีนักข่าว/ผู้สื่อข่าวเป็นผู้ทรงอิทธิพลในข่าวสารมากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวในเครือเนชั่น
• พื้นที่เว็บบอร์ดสาธารณะในพันทิป มีการตั้งกระตู้หลายพันกระทู้ในช่วงเกิดเหตุการณ์ชุมนุม และได้กลายเป็นพื้นที่วิวาทกรรมทางความคิดการเมือง พื้นที่แห่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางความขัดแย้งทางการเมืองหลายๆ กรณี มีการเชื่อมโยง ระดมข้อมูลข่าวสารจากพลเมืองเน็ตมากมายเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง การใช้ความรู้ ข้อเท็จจริงมาหักล้างซึ่งกันและกันอย่างเสรี ขณะที่การแสดงความคิดเห็นบางส่วนก็มีทั้งช่วยกันเสริมสร้างความสมานฉันท์ ความเข้าใจและส่วนหนึ่งก็ได้กลายเป็นพื้นที่วิพากษ์ วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างดุดัน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และสะท้อนความเกลียดชัง ผ่านภาษาเชิงเหยียดหยาม ประณาม
• การใช้ฟอร์เวิร์ดเมล์เพื่อการสื่อสารให้ข้อมูลทางการเมืองในลักษณะชี้แจง แฉ วิพากษ์วิจารณ์ เบื้องลึกเบื้องหลังเหตุการณ์การชุมนุมของคนกลุ่มเสื้อแดง,พฤติกรรมของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในการตีตนเสมอเจ้าหรือการกระทำที่คิดล้มล้างสถาบัน-คดีคอร์รัปชั่นในอดีต, เบื้องหลังความรุนแรงของการชุมนุมของคนเสื้อแดง, กลุ่มบุคคล-องค์กร-สื่อเว็บไซต์ ที่เผยแพร่ความคิดล้มสถาบันกษัติรย์
อย่างไรก็ตาม นายธาม กล่าวถึงผลการศึกษา พบการใช้สื่อออนไลน์เพื่อการสื่อสารความขัดแย้งทางการเมือง ได้กลายเป็นพื้นที่ของการโต้ตอบ ต่อสู้ เอาชนะกันทางการเมือง ระหว่างคนชนชั้นกลางและกลุ่มผู้ชุมนุม, ระหว่างผู้สนับสนุนรัฐบาลและผู้ต่อต้าน แม้จะมีเนื้อหาจากฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง/นปช. บ้าง แต่ก็พบค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจมาจากสาเหตุที่รัฐควบคุม หรือสั่งปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท ปลุกระดม และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และสะท้อนว่าผู้คนที่ใช้สื่อออนไลน์ในเชิงสันติวิธี การหาทางออกและข้อเสนอแนะของวิกฤตปัญหาทางการเมืองนั้นยังอยู่ในระดับที่ไม่เข้มข้น ดังนั้น วันนี้ ทุกคนที่ใช้ Socail media ถือว่า เป็นสื่อแล้ว การนำเสนออะไรทางทวิตเตอร์ เฟชบุค จึงควรนำเสนอด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และสาธารณะด้วย
สำหรับข้อเสนอแนะจากโครงการฯ ประชาชนและสื่อ ควรมีความตระหนักและรู้เท่าทันการใช้สื่อออนไลน์ ดังนี้
1)ความน่าเชื่อถือของข้อมูล : พึงตระหนักว่าผู้ที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ด อาจไม่ได้เป็นผู้ที่เห็นเหตุการณ์นั้นจริง หรือมีวัตถุประสงค์อยู่เบื้องหลัง และสถานะ หรืออาชีพของบุคคลของผู้โพสต์ข้อความ ไม่ใช่สิ่งยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูล โดยเฉพาะผู้สื่อข่าว ควรตระหนักและเข้าใจว่า ข้อความที่ตนเองโพสต์ไว้ในที่ต่างๆ นั้น ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคนทั่วไป จึงควรมีความระมัดระวัง แยกแยะให้ชัดเจนระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นส่วนตัว
2) ความรวดเร็วของข้อมูล : พึงตระหนักว่า ความรวดเร็วของข้อมูลที่โพสต์ในในสื่อออนไลน์ อย่างรวดเร็วนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อมูลบางอย่างอาจไม่มีการตรวจสอบในเบื้องต้น อาจเป็นข่าวลือที่บอกต่อๆ กันมา ควรใช้วิจารณามากกว่าที่จะเชื่อถือเพียงเพราะความรวดเร็วของข้อมูล ดังนั้นก่อนเชื่อถือข้อมูลข่าวสารในทวิตเตอร์ ควรตรวจสอบก่อน โดยเปรียบเทียบกับสื่ออื่น เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์
3) การหมิ่นประมาทและการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล: พึงตระหนักว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ควรสงวนเอาไว้เพื่อปกปิด เช่น ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ ประวัติการทำงาน การศึกษา เป็นสิ่งที่จะละเมิดหรือนำเอาไปใช้เพื่อการสร้างความคุกคาม ข่มขู่ มิได้ ผู้เผยแพร่ด้วยการ เจาะสืบ (แฮคเกอร์) ผลิต ส่งต่อ เผยแพร่อาจมีความผิดตามพระ ราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
4) การแสดงความคิดเห็นบนพื้นที่สาธารณะ: พึงตระหนักว่าความคิดเห็นของผู้ใช้ อาจสร้างความรู้สึกเกลียดชัง การแบ่งแยก การสร้างความขัดแย้ง ผ่านการประณาม ด่าทอ การเหยียดหยามและหมิ่นประมาทผู้อื่น โดยภาษาหรือการตั้งกระทู้ที่ไม่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ และพึงตระหนักว่า พื้นที่สื่อออนไลน์อย่างเว็บบอร์ดสาธารณะ เว็บไซต์ส่วนตัวอย่างเฟซบุ๊ค ไฮไฟว์ ทวิตเตอร์ ฯลฯ เหล่านี้คือพื้นที่/ช่องทางการสื่อสารสาธารณะ ข้อมูลความคิดเห็นของผู้โพสต์จะไม่เป็นข้อมูลส่วนตัวอีกต่อไป การแสดงความคิดเห็นควรกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจและสุภาพ และตระหนักในผลที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น
5) การรับ ส่ง สร้าง เผยแพร่ข้อความ โดยเฉพาะการใช้ฟอร์เวิร์ดเมล์
• สำหรับผู้รับ ควรมีวิจารณญาณในการรับข้อมูล ข่าว บทความ รูปภาพและไม่ควรเชื่อทันที หากเป็นบทความหรือข่าวที่มีการระบุที่มา ควรอ่านและพิจารณาจากแหล่งข้อมูลอื่นด้วย
• สำหรับผู้ส่งต่อ ไม่ส่งต่อข้อความที่ไม่เหมาะสมหรือสร้างความอับอาย และรู้เท่าทันเจตนาของผู้ที่ส่งมายังเรา เพราะอาจตกเป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหากรู้เท่าไม่ถึงการณ์
6) อคติ ความเกลียดชัง ความรุนแรง: พึงตระหนักว่า พื้นที่สื่อออนไลน์นั้นเต็มไปด้วยข้อมูลหลากหลาย และไร้การควบคุมระดับความรุนแรงของเนื้อหา หน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระด้านวิชาชีพสื่อหรือองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอาจไม่สามารถดูแลควบคุมได้ทั้งหมด ข้อมูลเนื้อหาจึงอาจแฝงไว้ด้วยเจตนาปลุกระดม สร้างอคติ ความเกลียดชังแก่บุคลหรือกลุ่มบุคคลใด การรับข้อมูล การส่งต่อเผยแพร่ข้อมุลเหล่านี้ ควรมีความระมัดระวังในการสร้างความเกลียดชัง อคติ เพิ่มขึ้นในสังคมโดยไม่จำเป็น ผู้ใช้ต้องมีวิจารณญาณอย่างสูง
7) บทบาทสื่อใหม่ในการเสริมสร้างคุณภาพของความรู้ ความคิดเห็นเสรีที่หลากหลาย และการส่งเสริมการสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง: เจ้าของสื่อ ผู้ก่อตั้ง ทั้งในระดับองค์กรขนาดใหญ่ หรือส่วนบุคคล ผู้ให้บริการเนื้อหา เจ้าช่องทางการสื่อสาร และผู้ใช้สื่อออนไลน์ในระดับปัจจเจกชนทุกคน ควรมีความตระหนักรู้ถึงอิทธิพลและความสามารถของสื่อใหม่ และผลกระทบจากการใช้สื่อ