ฟื้นอธิปไตยทาง อาหารกับพันธุกรรมพื้นบ้าน จ.ร้อยเอ็ด
เรียนรู้ประสบการณ์การฟื้นอธิปไตยทางอาหารกับพันธุกรรมพื้นบ้าน ที่บ้านโจด ต.นาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด "อุบล บุญมาก" กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน รายงานตรงจากแปลงนาเกษตรอินทรีย์
กระแสการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว รวมทั้งการส่งเสริมการปลูกข้าวเพียงไม่กี่ชนิดเพื่อการส่งออก โดยที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องแสวงหาหรือว่าคัดเลือกสายพันธุ์ด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้พันธุกรรมพื้นบ้าน ทั้งพันธุ์ข้าว และพันธุ์พืชต่างๆ สูญหายไปจากวิถีชีวิตของชาวนา แต่กลับไปอยู่ในธนาคารเมล็ดพันธุ์ในต่างประเทศ
ที่บ้านโจด ต.นาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ชาวนาที่นั่นรวมตัวกันในนามสมาคมอีสานวิถี ทำการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งมีการอนุรักษ์พันธุ์ข้าว พันธุ์พืชพื้นบ้าน เพราะเชื่อว่านี่คือทางออกที่ไม่ต้องซื้อพันธุ์ข้าวมาจากข้างนอก โดยมีพันธุ์ข้าวหลายสิบสายพันธุ์ ถูกรวบรวมไว้ในสมาคมอีสานวิถีเพื่อขายให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป องค์ความรู้และประสบการณ์กว่าสิบปีของชาวบ้านที่นี่ นอกจากการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืนแล้ว การค้นคว้าทดลอง การคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ก็นับเป็นภารกิจหนึ่งที่ต้องสืบสาน
นางพรรณี เชษฐสิงห์ เกษตรกรสมาชิกสมาคมอีสานวิถี บ้านโจด ต.นาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ที่ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวด้วยตัวเอง มาร่วม 10 ปี และตอนนี้เก็บสะสมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านไว้กว่า 19 สายพันธุ์ เล่าให้ฟังว่า “การ ที่เราได้ทดลองค้นคว้า ก็เพื่อว่าเราจะได้ดูความเหมาะสม เพราะว่าต้นทุนในการผลิตทางการเกษตรมันสูงอยู่แล้ว ถ้าเราไม่เลือกว่าพันธุ์ไหนมีความเหมาะสมกับพื้นที่เรา ฉะนั้นการปลูกข้าวก็เช่นกัน ที่โคกที่ภูเราจะปรับไปเป็นที่ลุ่ม เพื่อเอาข้าวนาทุ่งมาปลูกก็จะทำให้เรามีต้นทุนสูงหมดกำลังใจ ในการทดลองของเราก็เพื่อเป็นวิชาความรู้ เพื่อผู้อื่นด้วย เพื่อคนต่างถิ่นด้วย”
นอกจากนี้ การเพาะปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เกษตรกรสามารถเลือกปลูกได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่พอเหมาะพอดีกับดินฟ้าอากาศ จะทำให้เมล็ดสวยได้ขนาด ทั้งแรงงานก็เป็นคนในครอบครัว ถือเป็นการอนุรักษ์และสร้างความมั่นคงทางพันธุกรรมข้าวโดยเกษตรกรเอง
“การทำเกษตรต้องอย่าฝืนธรรมชาติ ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมดาคนเราไม่กินข้าวอย่างเดียวหรอก อยู่ทุ่งเขามีปลา อยู่โคกเขามีผักหวาน ผักชนิดอื่น ๆ อีกบนภู มันต้องเอามาแลกเปลี่ยนกัน ไม่ใช่ว่าบนภูฉันอยากจะเลี้ยงปลาแบบทุ่งมันก็ไม่ได้ มันจะฝืนธรรมชาติ มันจะทำให้เราลงทุนสูง ลงทุนสูงก็หมดกำลังใจ ติดหนี้ติดสิน” นางพรรณี ชี้แนะแนวทาง
ขณะที่ นายสำราญ พืชผล สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน แสดงทัศนะเน้นย้ำการพัฒนาพันธุ์ข้าวโดยตัวของชาวนาเองว่า “ชาวนาเองควรที่ต้องเก็บอนุรักษ์หรือรักษาพันธุ์ข้าวดั้งเดิมไว้ให้ได้มาก ที่สุด เพื่อให้เป็นฐานทางพันธุกรรม ซึ่งพันธุ์ข้าวมันสามารถพัฒนาพันธุ์ได้ แต่ก่อนเราไม่เคยพัฒนาพันธุ์ข้าวเลย ลืมภูมิปัญญาเก่า ๆ และก็ไม่ได้ศึกษาวิธีการพัฒนาพันธุ์ข้าว ก็เลยยอมจำนน ฉะนั้นชาวนาสามารถศึกษาพัฒนาพันธุ์ข้าวได้เท่าเทียมกับนักวิชาการเช่นกัน”
การปลูกพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ถือเป็นความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรชาวบ้านโจด ซึ่งพวกเขากำลังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวนานับล้านคนที่ไม่ยอมจำนนอยู่ ภายใต้กรอบของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่เข้ามามีบทบาทในการครอบครองปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งนับวันยิ่งจะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยทางอาหารของชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
ณ วันนี้ พวกเขาไม่เพียงทำการปลูกข้าวเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรพื้นบ้าน แต่มันคือวิถีชีวิต ซึ่งพี่น้องในภาคอีสาน ต้องปรับกระบวนการคิดเพื่อรื้อฟื้นเอามรดกของชนพื้นถิ่นขึ้นมาต่อรองกับระบบ ทุนในปัจจุบัน.
ที่มา : http://www.esaanvoice.net/esanvoice/know/showart.php?Category=topreport&No=12591