จดหมายเปิดผนึก 9 ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสื่อมวลชน
องค์กรวิชาชีพสื่อ ทำจม.เปิดผนึกเสนอนายกฯ พร้อมเป็นแกนกลางผลักดันกระบวนการปฏิรูปสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ได้โดยมีเสรีภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและนำไปสู่ความปรองดองของประชาชน
ตามที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศแผนปรองดองเพื่อแก้ไขวิกฤตประเทศไทย โดยได้ระบุถึงการสนับสนุนและยืนยันสิทธิการแสดงออกและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน แต่ได้แสดงความกังวลถึงข้อวิจารณ์ว่า การใช้สื่อในช่องทางต่างๆ รวมทั้งการใช้สื่อของรัฐ มีส่วนสร้างความขัดแย้งหรือนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ดังนั้นในกระบวนการปรองดอง สื่อจะต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องเป็นกลไกที่เป็นอิสระเข้ามากำกับดูแลอย่างแท้จริง และต้องไม่นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มุ่งสร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน แต่เป็นการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์จะทำให้สังคมก้าวพ้นความขัดแย้งและกลับมามีความปรองดองสงบสุขได้อย่างรวดเร็วนั้น
วันนี้ (10 พ.ค.) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนดังมีรายชื่อแนบท้ายข้อเสนอนี้ ได้พิจารณาข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีด้วยความรอบคอบแล้ว เห็นว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการใช้สื่อมวลชนบางส่วนบิดเบือน ทั้งยังมีบุคคลบางกลุ่มอ้างตัวเป็นสื่อมวลชนกระทำการให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ขณะเดียวกันสื่อมวลชนที่ประพฤติอยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพก็ตกเป็นเป้าหมายถูกปิดกั้นการทำหน้าที่และถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ
ดังนั้น การดำเนินการเพื่อให้สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพควบคู่ไปกับสำนึกและความรับผิดชอบตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพนั้น นอกจากจะต้องมีกลไกอิสระเพื่อควบคุมกันเองที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องมีการดำเนินการในด้านอื่นๆ ที่รัฐบาล สื่อมวลชนและภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม จะต้องร่วมกันผลักดันดังต่อไปนี้
๑) รัฐบาลต้องเร่งรัดการปฏิรูปสื่อภาครัฐ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการบริหารงานสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.๑๑)ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปสื่อภาครัฐที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมาเอง ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องกำกับดูแลให้หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ เร่งเตรียมการจัดทำแผนจัดการคลื่นความถี่ให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแลสามารถนำมาจัดสรรใหม่ได้ทันทีที่การจัดตั้งองค์กรอิสระดังกล่าวเสร็จสิ้น
๒) รัฐบาลต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๕ โดยเคร่งครัด และดำเนินการออกกฎหมายตาม มาตรา ๔๖ เพื่อกำหนดบทนิยามของคำว่า “สื่อมวลชน” ให้ชัดเจนว่า สื่อและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่สมควรได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นสื่อที่ปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และต้องไม่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน
๓) วุฒิสภาต้องเร่งรัดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ...... ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ขณะเดียวกัน เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
๔) ในระหว่างยังไม่มี กสทช. คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) แต่งตั้งขึ้น ต้องเร่งดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อกำกับดูแลสถานีวิทยุชุมชน โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และเคเบิลทีวีให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด
๕) สื่อมวลชนทุกสาขาต้องปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมแห่งตนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องไม่เสนอข้อมูลข่าวสารที่มุ่งสร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน ต้องมีกลไกควบคุมความรับผิดชอบทางจริยธรรมและศีลธรรมต่อประชาชนและสังคมมากยิ่งขึ้น โดย องค์กรควบคุมกันเองทางวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ ทั้งจะต้องเร่งรัดปรับปรุงโครงสร้างและการดำเนินงาน โดยเฉพาะกระบวนการรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน และการรับผิดทางจริยธรรมของสื่อที่ละเมิดจริยธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
๖) การบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีต่าง ๆ ขอเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องกระทำด้วยความระมัดระวังทุกขั้นตอนให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น การดำเนินคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทจะต้องเป็นไปเพื่อรักษาเกียรติยศ ชื่อเสียงและความเป็นส่วนตัวของบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
๗) ประชาชนควรเปิดรับข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและใช้วิจารณญาณในการเปิดรับสื่อ และหากเห็นว่าสื่อใด นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมให้ร้องเรียนต่อองค์กรควบคุมกันเองทางวิชาชีพโดยทันที
๘) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนสนับสนุนให้มีองค์กรอิสระในภาควิชาการและภาคประชาสังคม ทำหน้าที่ตรวจสอบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อ
๙) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนตามรายชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ พร้อมเป็นแกนกลางในการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งรัฐบาลในการผลักดันกระบวนการปฏิรูปสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ได้โดยมีเสรีภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและนำไปสู่ความปรองดองของประชาชนไทยในที่สุด
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลางและภาคตะวันออก