ย้ำชัดหัวใจหลักสื่อสารมวลชน ‘เวทีเพื่อปชช.สร้างสังคมประชิปไตย’
‘สมเกียรติ อ่อนวิมล’ ชี้สถานการณ์ปัจจุบัน สื่อต้องรายงานข่าวอย่างมืออาชีพ เสนอ-ตรวจสอบความจริง ให้ความรู้ เป็นเวทีสาธารณะให้ปชช. ลั่นเลือกข้างได้แต่ต้องประกาศตัว ด้าน ‘สุนัย ผาสุก’ เรียกร้องสื่อเลือกข้างต้องรับผิดชอบสังคม ไม่บิดเบือนความจริง พร้อมจี้สมาคมวิชาชีพสื่อให้คุมเข้มจรรยาบรรณ
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน กรุงเทพฯ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซี ป้า) และองค์การยูเนสโก้ จัดเสวนาหัวข้อ “สื่อเสรีร่วมสร้างสันติภาพอย่างไร” โดยมีวิทยากร ได้แก่ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สื่อมวลชนอิสระ นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กร Human Rights Watch ดร.พนา ทองมีอาคม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวนิช นักวิชาการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล โดยมีนายวีรศักดิ์ พงษ์อักษร เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา เนื่องในวันที่ 3 พ.ค.ของทุกปีเป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก”ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า รู้สึกรับได้กับกระบวนการแสดงความคิดเห็นและเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น แต่รู้สึกว่าช้าเกินไป ทั้งนี้มองว่าสถานการณ์นี้ยังไม่ถึงขั้นสงครามกลางเมือง การปะทะที่เกิดขึ้นมองว่าเกิดจากความเร่าร้อนทางอารมณ์ โดยที่ไม่รู้หลักการประชาธิปไตย
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ดังนั้นสื่อกระแสหลักยังต้องยึดหน้าที่ด้วยความเป็นมืออาชีพ คือ 1.ต้อง ให้ข่าวสารความจริงอย่างสม่ำเสมอและตรวจสอบความจริงเหล่านั้น 2.ให้ความรู้ให้การศึกษาไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องพาดพิงฝ่ายใด 3.สื่อที่เลือกข้างนั้นสามารถความเห็นตามอิสระได้ แต่ต้องประกาศตัวให้ทราบว่าหนุนฝั่งใด และ 4.ต้องเป็น เวทีให้กับสาธารณชนทุกฝ่าย
“สื่อสารมวล ชนกระแสหลักในโลกตะวันตกเกิดมาในสังคมประชาธิปไตย หน้าที่สื่อคือประชาธิปไตยต้องการข่าวสารเสรีเพียงพอ สื่อสารมวลชนต้องเป็นเวทีให้สังคมประชาธิปไตย ต้องสร้างสังคมประชาธิปไตย นี่คือหัวใจหลักสื่อสารมวลชน”ดร.สมเกียรติ กล่าว
นายสุนัย กล่าวถึงบทบาทของสื่อท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งว่า สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้สื่อมวลชนได้รับผลกระทบและเป็นเหยื่อ เนื่องจากสังคมมีการแบ่งข้างแยกขั้วอย่างชัดเจน ทำให้แนวทางการนำเสนอและการตีความของสื่อมวลชนย่อมจะถูกใจคนด้านหนึ่ง และไม่ถูกใจคนอีกข้างหนึ่ง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้สื่อตกเป็นเป้าโจมตีและกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง ส่วนจะสื่อต้องเลือกข้างหรือไม่นั้น แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1.นโยบายเจ้าขององค์กร 2.อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้สื่อข่าวแต่ละคน ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวสามารถมีความนิยมอุดมการณ์ทางการเมืองได้ แต่ต้องมีความเป็นมืออาชีพและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
“หากเกิดการเลือกข้างโดยไม่รับผิดชอบขึ้นมา ต้องถามต่อถึงจุดยืนในการดำเนินการกับสิ่งเหล่านี้ว่าจะทำอย่างไร แต่ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์หรือปิดกั้นสื่อ เพราะจะนำไปสู่การลุแก่อำนาจของรัฐ ดังนั้นผู้ที่ควรจะมีความรับผิดชอบคือสมาคมวิชาชีพสื่อ ที่ควรมีบทบาทในการตรวจสอบจรรยาบรรณสื่ออย่างเคร่งครัดมากกว่านี้ รวมถึงตัวสื่อเองต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยเราเลือกข้างได้แต่ต้องเสนอข้อมูลบนพื้นฐานของความเป็นจริง”นายสุนัย
สำหรับกรณีการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนลนั้น นายสุนัย กล่าวว่า ในสถานะแล้วย่อมเป็นสื่อมวลชน แต่การนำเสนอมีการบิดข้อมูล เสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้แตกต่างกับสื่อของสีก่อนหน้านี้ ส่วนสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ก็ถือว่าเป็นสื่อเลือกข้าง เพราะมีธงของรัฐ
ด้านดร.เอกพันธ์ กล่าวว่า ที่เรียกร้องให้สื่อมวลชนเป็นกลางนั้น ถามว่าในโลกใบนี้มีใครเป็นกลางบ้าง ส่วนตัวคิดว่าความเป็นกลางไม่จำเป็น สื่อสามารถเลือกข้างได้ ยิ่งประกาศไปเลยยิ่งดี การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของข้างใดข้างหนึ่งไม่ใช่ปัญหา แต่เหนือสิ่งอื่นใดข้อมูลที่สื่อออกไปแล้วนั้นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย วันนี้การทำงานของสื่อมวลชนที่เลือกข้างยังไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้เห็นว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือสื่อมวลชนควรหาคุณค่าร่วม เช่นสิ่งที่เดือดร้อนร่วมกันระหว่างคู่ขัดแย้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ไม่ว่าสื่อจะเลือกข้างใด
“คลิปวี ดีโอที่กลุ่มคนเสื้อแดงนำมาออกเป็นอันเดียวกันกับช่อง 11 แต่กลับพูดกันคนละด้านทั้งหมด ดังนั้นในฐานะสื่อมวลชนควรรายงานความเป็นจริงเท่าที่เห็น ภายใต้ความรับผิดชอบ”ดร.เอกพันธ์กล่าว และว่า อยากให้เปิดสถานีโทรทัศน์คนเสื้อแดงต่อไป มองว่ายิ่งปิดก็จะยิ่งเปิดมากขึ้น เพราะเมื่อถูกปิดกั้น คนที่ต้องการรับสารก็สามารถหาวิธีในการติดตามสารได้อยู่ดี
ส่วนดร.พนา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลปิดสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนลว่า ที่ปิดไปนั้นไม่ใช่อำนาจของกทช. โดยหากพูดในแง่ของเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ที่พัฒนาสูงนั้น เป็นเหตุให้การปิดกั้นสื่อเป็นเรื่องที่ยากมาก
“ส่วนตัวไม่ เชื่อเรื่องความเป็นกลาง และมองว่าใครไม่เป็นกลางก็ไม่เป็นไร แต่ความสำคัญอยู่ที่ความสมดุลของข้อมูลข่าวสาร อย่างไรก็ตามมองว่าขณะนี้ยังไม่มีความสมดุลของข้อมูล น้ำหนักเป็นไปทางสื่อกระแสหลักมากกว่า ข้อมูลที่สะท้อนออกมาส่วนใหญ่จะเป็นแนวคิดของคนกรุงมากกว่าชนบท ทั้งนี้ในฐานะสื่อแทนที่จะไปส่งเสริมการใช้ความรุนแรงควรกลับมาส่งเสริมแนวทางสันติ โดยตัวสื่อเองเป็นผู้ใกล้ชิดเหตุการณ์ที่สุด รับรู้ได้มาก ดังนั้นต้องแปลออกมาเป็นการรับรู้ของสังคมด้วย แต่สื่อต้องใช้สิทธิ์โดยไม่สุดโต่งและไม่ไปละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น”