“ราษฎรอาวุโส” หวังสื่อทำหน้าที่มิตรที่ดีให้สังคม
เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานเครือข่ายสถาบันทางปัญญา บรรยายพิเศษ เรื่อง “จริยธรรมนักบริหารสื่อ” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 2 จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เขตดุสิต กรุงเทพฯ
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ปัญหาของสังคมไทยทุกวันนี้วิกฤติทุกด้านทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง ซับซ้อนอย่างมากยากแก้ไข และเชื่อมโยงไปหมดใช้อำนาจแก้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ที่ผ่านมาสังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้อำนาจแก้ปัญหามาตลอดจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นแห่งสังคมการเรียนรู้ในการแก้ปัญหา
“เราต้องปฏิรูปสังคมจากสังคมการใช้อำนาจไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างระบบการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารให้คนไทยรู้ถึงกันเพื่อทราบและแก้ปัญหาร่วมกันไปได้ ดังนั้นปัญหาทั้งหมดต้องแก้แบบเชื่อมโยงอย่างบูรณากัน อย่างมีดุลยภาพ ถ้าวันนี้เรามีการสื่อสารที่ทำให้คนไทยรู้ถึงกัน อย่างทั่วถึงก็จะทำให้แก้ปัญหาและพัฒนาประเทศไปได้อย่างรวดเร็วได้” ราษฎรอาวุโส กล่าว
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่สื่อมวลชนในการร่วมแก้ปัญหาของชาติว่า สื่อมวลชนต้องสร้างการสื่อสารแห่งการเรียนรู้อย่างมีบูรณาภาพ และมีดุลยภาพ ต้องทำให้สังคมได้เรียนรู้และใช้ข้อเท็จจริงความจริงที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงกัน การสื่อสารนั้นไม่ใช่ว่าใครพูดอะไรก็ถ่ายทอดไปเท่ากับว่า ถ่ายทอดความไม่จริงออก ตรงนี้สื่อต้องมีวิจารณญาณที่สูง ที่สำคัญสื่อสารมวลชนต้องเป็นกัลยาณมิตรให้กับสังคม ไม่ใช่บาปมิตร เราต้องส่งเสริมสมรรถนะของสื่อสารมวลชนให้เกิดขึ้นในภาวะสังคมที่ซับซ้อนเช่นนี้ และจะทำอย่างไรให้ระบบการสื่อสารเป็นประโยชน์แก่สังคม และสามารถพิทักษ์ผล ประโยชน์ของสังคมได้ด้วย
"จริยธรรมของสื่อมวลชนนั้น คือ การสามารถทำหน้าที่สื่อสารเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สื่อมวลชนวันนี้ควรสื่อความจริงในลักษณะการสร้างปัญญา ทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ 1.สุตมยปัญญา เมื่อคนได้ฟังข่าวสารแล้วต้องเกิดปัญญา 2.จินตามยปัญญา เมื่อคนได้รับข่าวสารนั้นแล้วก็ต้องเกิดความเข้าใจที่สูงขึ้นในเรื่องนั้นๆ เกิดเป็นความรู้ในเรื่องนั้นๆ ด้วย และ 3.ภาวนามยปัญญา สื่อต้องทำให้การนำเสนอข่าวสารนั้นสร้างการปฏิบัติลงมือหรือการเปลี่ยนแปลงของผู้คน"
ราษฎรอาวุโส กล่าวอีกว่า สื่อมวลชนควรนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยยึดหลัก 1.ต้องพูดความจริง ที่มีที่มา มีการอ้างอิง 2.ต้องพูดปิยวาจา ไม่พูดส่อเสียด คำหยาบ ไม่ด่าทอ ไม่พูดให้คนเข้าใจผิดหรือทะเลาะกัน 3.ต้องพูดให้ถูกกาลเทศะ ถึงแม้พูดความจริงแต่ไม่ถูกกาลเทศะก็ไม่พูด 4.ต้องพูดในสิ่งที่เกิดประโยชน์ เมื่อพูดหรือนำเสนอออกไปแล้วต้องเกิดประโยชน์ ถ้าเป็นความจริงที่พูดแล้วเกิดโทษก็ไม่พูด และ 5.ต้องพูดเป็นภาษาชาวเมือง คือ ต้องให้คนเข้าใจง่ายโดยทั่วไป ดังนั้นจะใช้การสื่อสารเพื่อคนไทยให้เกิดปัญญาร่วมกันได้อย่างไร เนื่องจากความรู้ต่างกับปัญญา เพราะความรู้นั้นไม่มีพลังอำนาจพอที่จะต้านกิเลสได้ แต่ปัญญาสามารถทำให้จัดความสัมพันธ์ของสิ่งอื่นๆ ได้อย่างถูกต้อง จากความรู้ที่ยังไม่มีจริยธรรม แต่ปัญญานั้นมีจริยธรรมอยู่ด้วย ฉะนั้นการสื่อสารต้องทำให้เกิดพลังจิตสำนึก พลังความรู้ และพลังปัญญาในการคิดแก้ปัญหาในเชิงระบบ สังคมไทยต้องทำให้การสื่อสารสร้างให้เกิดปัญญาขึ้นในสังคมให้ได้
“อยากเห็นสื่อมวลชนมีความรู้ในตัวเป็นตัวเชื่อมความรู้ออกไปสู่สิ่งต่างๆ สู่สังคม การจบวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ในเชิงเทคนิคของสื่อมวลชนนั้นไม่พอ ต้องมีความรู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ด้วย สื่อมวลชนไทยมีความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความสามารถในการสืบสวนให้สังคมด้วย”