หน้าที่ “สื่อ” ลงลึกเรื่องปชต. เสนอแนวคิด-ทางออกให้สังคม
ดร.สมเกียรติ เชื่อ เรื่องราวของบ้านเมืองจะไม่บานปลายเช่นนี้ หากสื่อให้การศึกษาพร้อมกับนำเสนอข่าวสารแบบเจาะลึก วิเคราะห์ และนำสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชน บรรยายพิเศษ เรื่อง “เสรีภาพสื่อไทยในบริบทสื่อโลก” ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 2 จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้ สื่อสารมวลชน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทั้งเรื่องของเทคโนโลยี รูปแบบ วิธีการทำงาน แต่เสรีภาพของสื่อสารมวลชนยังคงมีอยู่ทั่วโลก โดยปราศจากการถูกจำกัดในการนำเสนอข่าวสาร ซึ่งเป็นการให้ความรู้แบบเดียวกัน เรื่องเดียวกัน จากต้นตำรับเดียวกัน จริยธรรมเดียวกัน ปัญหาที่เกิดตลาดที่ต้องเผชิญความเหมือนกัน แตกต่างกันที่ช่วงเวลา ความเจริญของประเทศ โดยเน้นความจริง เสนออย่างตรงไปตรงมา
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงปัญหาของสื่อสารมวลชนที่ถกเถียงกันในประเทศไทย ในประเด็นของโลกโลกาภิวัฒน์ คือ การมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ เสนอความเห็น ในการเขียนข่าว ไม่สามารถปิดกั้นได้ อย่างตัวอย่างของทีวีสีแดง สถานีโทรทัศน์ไทยคม ที่กลุ่มเสื้อแดงพยายามไปประท้วง แล้วรัฐบาลก็สั่งปิดสัญญาณ ถือเป็นเรื่องเฉยมาก เพราะปิดได้ ก็ต้องเปิดได้ โดยในแง่เทคโนโลยีแล้ว ไม่จำเป็นต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นเลย ไม่ควรทำหรือทำไม่ได้ การเสนอข่าวสารจะไม่มีพรมแดนปิดกั้นในโลก ในการส่งข้อมูลข่าวสารข้ามขอบฟ้า
“แต่สภาพความจริงปัจจุบันสื่อไทยยังถูกคุกคามจากรัฐบาล และกลุ่มนายทุนธุรกิจ ทำให้เสรีภาพนำเสนอข่าว ก็ยังถูกจำกัดอยู่บ้าง ทุกช่องยังคงเข้าข้างรัฐบาล เพราะไม่อยากถูกปิด เพื่อความอยู่รอด นอกจากนั้นนายทุนยังเป็นปัจจัยสำคัญในการวางกรอบข้อมูลข่าวสาร ทำให้คุณภาพลดลงตามไปด้วย ซึ่งถ้าหากเราหันมาพัฒนางานเขียนของเรา โดยยึดหลักที่ว่า สื่อสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมโลก โดยต้องไม่ถูกจำกัดจากอิทธิพลใดๆ”
นักวิชาการสื่อสารมวลชน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนไทยมักไม่ทำการบ้าน ไม่เจาะลึก วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ทำให้การนำเสนอข่าวเชิงลึกหายไป สื่อสารมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์มากถึงความไม่เป็นกลาง โดยปัญหาจริงมาจากสังคมยังขาดการศึกษาเรื่องการเมืองและประชาธิปไตย ซึ่งหน้าที่ต่อไปของสื่อมวลชนต้องลงลึกมากขึ้น เรื่องประชาธิปไตย และช่วยเสนอแนวคิด ทางออกแก่สังคมเพื่อความสงบสุขในบ้านเมือง
“สื่อหนังสือพิมพ์ มีเวลามากกว่าในการตามหาข้อมูลมา แล้วนำมาเขียน ส่วนทีวีไม่มีเรื่องสืบสวน สอบสวน นานๆจะมีสักที ด้วยเพราะคุณภาพไม่มี ทำให้เกิดเป็นความฉาบฉวย ดังนั้น สำหรับวิกฤตทางการเมืองที่เป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนสังคมต้องเริ่มจากวิธีการให้การศึกษา พร้อมกับข่าวสารในสังคม ขณะนี้สังคมเดินช้า เพราะขาดความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งถ้ามีคุณภาพจริงๆ ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา เรื่องราวบ้านเมืองจะไม่บานปลายเช่นนี้”
สุดท้าย ดร.สมเกียรติ ฝากย้ำให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำการบ้าน ให้ความรู้ ให้การศึกษา ให้ได้ทั้งแนวคิด และความจริง เพื่อความรู้ที่ถูกต้อง รวมทั้งความเป็นประชาธิปไตย เพื่อช่วยลดความร้อนแรง และนำสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้อง ขณะนี้สื่อแค่บางสียังไม่มีเวลาที่จะทำ ชี้แนะ นอกจากการสร้างสถานการณ์ ซึ่งสื่อมวลชนทุกฝ่ายก็ต้องร่วมกันทำ นำเสนอ สกู๊ปข่าว สารคดีเชิงข่าว เพื่อประชาธิปไตย ปรัชญา บทความ ทั้งสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ เป็นบทความชุดยาวแต่ละวัน วันละ 1 เรื่อง เกี่ยวกับประชาธิปไตย ซึ่งหากประชาชนไม่อ่านก็ยังไม่เป็นไร แต่ต้องทำให้รู้ว่า การเป็นประชาธิปไตย หลักการต่างๆ ให้เข้าใจ ซึ่งจะเป็นการนำทาง และช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมในแนวโน้มอนาคตที่ดีขึ้นแน่นอน”