ติงรัฐปิดสื่อแดงไม่ฉลาด เรียกร้องเปิดพื้นที่ให้ทุกสีออกมาจ้อมากที่สุด
“วิลาสินิ อดุลยานนท์” โทษสื่อไทยไม่แข็ง อ่อนแอ ไม่ผลิตสิ่งที่เป็นปัญญาให้กับสังคม ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในสภาพสังคมแห่งความเห็น-อารมณ์มาโดยตลอด เปิดตำราแนะสื่อต้องฉลาดไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด
เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ "ทีมข่าวศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย" ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อสารมวลชนท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมในปัจจุบันว่า สื่อสารมวลชนไทยยังไม่แข็งแรงพอ จึงทำให้สังคมไทยตกอยู่ในสภาพสังคมแห่งความเห็นและอารมณ์มาโดยตลอด ดังนั้นต้องช่วยกันทำให้สื่อไทยแข็งแรงในทุกๆ ด้านรศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า สื่อไทยติดอยู่ภายใต้บทบาทของการครอบงำ อีกทั้งโครงสร้างของสื่อสารมวลชนก็มีปัญหาทำให้ต้องทำงานอยู่ภายใต้รูปแบบ วิธีคิด หรือมายาคติ ไม่ว่าจะภายใต้ทุน อำนาจรัฐ ฉะนั้นสื่อบ้านเราจึงไม่แข็งแรง ไม่ได้ผลิตสิ่งที่เป็นปัญญาให้กับสังคม ซึ่งเมื่อปัญญาของสังคมอ่อนแอ ก็ทำให้ย้อนถึงสิ่งอื่นๆ อีกที่หมุนไปเช่นนี้
"สื่อมวลชนต้องมีจุดยืนของตนที่ชัดเจนและหนักแน่น ต้องฉลาดที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดๆ และต้องอดทนในการทำหน้าที่ นำความจริงในหลายๆ มุมมาเสนอให้ครบ เพราะความจริงไม่ได้มีด้านเดียว ต้องนำมาเสนอให้ครบทุกมุม สื่อต้องเปิดพื้นที่ให้เห็นว่า สื่อเป็นพื้นที่เพื่อสาธารณะของจริง ไม่ปิดว่า ต้องเป็นเวทีของสีใด ต้องทำให้เวทีสาธารณะตรงนี้มีการควบคุมด้วย ไม่ใช่ว่า ใครจะมาโยนอารมณ์ใส่ก็ได้ ดังนั้น สถานการณ์ขณะนี้ต้องอาศัยสื่อที่มีความเป็นมืออาชีพอย่างมาก" ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคมฯ กล่าว
เมื่อถามถึงการสร้างจุดคานงัดในการเสพข่าวสารของคนไทยและการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ท่ามกลางวิกฤตที่สื่อก็ถูกมองว่าสื่อนำเสนอแบบเลือกข้าง ส่วนประชาชนก็บริโภคสื่อโดยผูกขาด เสพเฉพาะสื่อที่ตนเองสังกัดสีโดยไม่เปิดรับเสียงรอบข้างเลยนั้น ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคมฯ กล่าวว่า สังคมต้องออกมาเรียกร้อง โดยสื่อต้องรับฟังเสียงเหล่านี้ พยายามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ออกมาเยอะที่สุดทุกด้าน พยายามให้ทุกสี ทุกฝ่ายได้ออกมาพูดให้มากที่สุด ได้ระบาย ไม่ปิดกั้น เชื่อว่า เมื่อเขาได้ระบายได้แลกเปลี่ยนแล้วสังคมรับฟัง เขาก็จะเปิดรับฟังเสียงรอบข้างด้วยโดยไม่ปิดรับอีก ดังนั้นต้องเปิดพื้นที่สื่อสาธารณะให้แสดงออกมาภายใต้กรอบของการพูดคุยที่ต้องเป็นกระบวนการแสดงความคิดเห็น
“ปัญหาวันนี้ คือ สื่อด้วยกันเองไม่ค่อยลุกขึ้นมา ต่างคนต่างกระจายกันอยู่ ก็ยังมัวแต่มั่วอยู่กับเหตุการณ์รายวัน กลไกที่สื่อจะต้องดูแลกันเองนั้นต้องลุกขึ้นมาทำอะไรได้แล้ว ต้องลุกขึ้นมาเตือนกันเอง ถึงแม้ว่าจะบอกว่าสื่อสีแดงนั้นไม่ใช่สมาชิก ก็คิดว่า ไม่ได้ ต้องช่วยกันเตือนกันเข้าไปเตือนเขา อย่ามองว่าแตะเขาไม่ได้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการสื่อบ้านเราก็เยอะแยะลุกขึ้นมาช่วยกัน ขณะนี้ถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่ต้องชวนคุยกันได้เรื่องนี้ ต้องประนีประนอมกัน ไม่เช่นนั้นถ้าอีกหน่อยวงการสื่อดูแลกันไม่ได้ ก็จะเจอแบบนี้ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้ามาจัดการ ต้องยืมมือคนอื่นเข้ามาจัดการ” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
สำหรับกรณีที่องค์กรสื่อออกมาคัดค้านการปิดสื่อของกลุ่มคนเสื้อแดงโดยรัฐบาลนั้น รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า เห็นด้วย แต่ก็ไม่อยากใช้คำว่า ผิดหรือถูก สังคมไทยในภาวะแบบนี้มองว่า ปิดไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเมื่อปิดตรงนี้ก็สามารถไปเปิดตรงอื่นได้อีก ภาวะแบบนี้ไม่ฉลาดนักที่จะทำ ปัญหาที่เกิด คือ ถูกมองว่า เป็นการปกป้องคนเสื้อแดง ขณะที่เดียวกันขอถามกลับว่า แล้วเหมาะสมหรือไม่ ที่สื่อของอีกสีเสื้อหนึ่งก็ยังคงเปิดอยู่ ซึ่งก็ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวต่อว่า ควรให้ใช้พื้นที่สื่อที่มีอยู่เป็นพื้นที่สาธารณะให้คนที่อัดอั้นให้ได้มีพื้นที่ในการที่จะได้พูด และก็ควรที่จะเปิดพื้นที่สื่อเพื่อเปิดท่อให้น้ำได้ไหลไปในพื้นที่อื่นด้วย เพราะคนสังคมในขณะนี้ตื่นตัวเคลื่อนไหวมากขึ้น ซึ่งก็ควรให้สังคมได้เคลื่อนไหวด้วย ควรใช้กระบวนการสื่อร่วม
"ผู้บริโภคสื่อเองต้อสร้างการตระหนักว่าตนเองมีพลังในการบริโภคสื่อ ไม่ใช่ตกเป็นเหยื่อเข้าใจว่า สื่อมีพลังฝ่ายเดียว เพราะว่าส่วนใหญ่เราถูกทำให้เป็นแค่คนที่เฝ้าดูและฟังเท่านั้น ความจริงแล้วไม่ใช่ ประชาชนต้องรู้ว่า ตนมีพลังในการที่จะเปลี่ยนสื่อได้ จากนั้นก็จะเกิดวัฒนธรรมการบริโภคสื่ออย่างเท่าทัน ส่วนสื่อมวลชนเองต้องพร้อมที่ปรับเปิดพื้นที่ให้กับสังคมมากขึ้น ต้องไม่รู้สึกว่า ตัวเองเป็นผู้ทรงอิทธิพล หรือมีอำนาจในการที่จะนำเสนออะไรก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จริยธรรมวิชาชีพต้องแข็งแรงจริงๆ จึงจะอยู่ได้ ขณะที่ประชาชนต้องมีจริยธรรมผู้บริโภคด้วย"
ส่วนบทบาทของสื่อมวลชนในฐานะความเป็น “สื่อกระจก” กับ “สื่อตะเกียง” อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สื่อต้องทำหน้าและบทบาทในการสร้างสังคม เพราะสื่อสามารถที่นำหรือกำหนดทิศทางของสังคมได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงบทบาทกระจกที่สะท้อนเท่านั้น ไม่ใช่ว่าสังคมจะบูดเบี้ยวอย่างไรก็สังคมอย่างนั้น และไม่ใช่แค่ตะเกียงที่คอยส่องทางให้คนเดิน ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องไม่อยู่นิ่งเฉยยอมให้สื่อสร้างหรือนำเพียงฝ่ายเดียว สังคมต้องใช้สื่อเพื่อสนองตอบทิศทางหรืออุดมการณ์ของสังคมเองเช่นกัน และสุดท้ายถึงเวลาแล้วที่ต้องปลดล็อคการครอบงำสื่อจากคนที่มีอำนาจในสังคม