การเมืองวุ่น ฉุดการออกใบอนุญาต3G ลากยาว
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เชื่อการออกใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G จำเป็นต้องเกิดในประเทศไทยโดยเร็ว มีทางออก โรดแมปที่ชัดเจน แนะระยะเวลาอันใกล้เร่งหาเทคโนโลยีอื่นรองรับ
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวในการอภิปราย เรื่อง “ปัญหา 3G มีทางออกอย่างไร” จัดโดยคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา ณ โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร ถึงการออกใบอนุญาตและใช้เทคโนโลยี 3G ในขณะนี้ที่ยังเป็นปัญหา มาจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ การใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดสรรความถี่จากตัวกฎหมายที่บังคับใช้ ก็ยังไม่สามารถเปิดประมูลสัมปทานถือครองคลื่นแก่ภาครัฐและเอกชนได้อย่างเต็มที่ หากจะเริ่มแก้ไขอย่างจริงจัง ควรมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายใหม่ เพื่อรองรับเทคโนโลยีต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“การออกใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ในประเทศ มีปัญหา คือ 1.วิธีการออกแบบการให้ประมูลจัดสรรความถี่คลื่นยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้สำหรับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ยังคงตกอยู่ที่เอกชนมากกว่ารัฐ 2.กระบวนการของกทช.ในการออกแบบใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ยังไม่โปร่งใส และ3.ความไม่เท่าเทียมในเรื่องกฎหมาย เป็นสิ่งที่ กทช.ต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วน”
รองประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การออกใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G จำเป็นต้องเกิดในประเทศไทยโดยเร็ว มีทางออกมีโรดแมปที่ชัดเจน สำคัญที่สุด คือ โครงสร้างตลาดในระบบต้องให้ทุกคนได้รับประโยชน์มากที่สุด หากไม่เกิดขึ้นรัฐบาลอาจต้องใช้วิธีการเก็บภาษีสรรพสามิต ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่ากับการเร่งให้สร้างกรอบการสัมปทานจัดสรรคลื่น และหากยังติดปัญหาไม่สามารถเดินหน้าได้ในระยะเวลาอันใกล้ จากสถานการณ์การเมืองที่ไม่สงบควรเร่งใช้เทคโนโลยีอื่นรองรับ อย่าเอา 3G เป็นตัวตั้งให้ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของเทคโนโลยีที่จะนำมาพัฒนาสังคมประเทศไทยด้วย อาทิเช่น WiMAX , ADSL เป็นต้น
ด้านนายอนันต์ วรธิติพงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก วุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีเวลามากในการจัดการเปลี่ยนแปลง ทั้งมติการยุบสภาภายใน 9 เดือน อีกทั้งกรรมการจำนวน 3 คน ของ กทช. ต้องครบวาระ ต้องมีการสรรหาใหม่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการอนุมัติ ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่จำเป็นต้องเกิด เพราะหากยังไม่ชัดเจนในระยะเวลาอันใกล้ จะทำให้ประเทศล้าหลังเสียต้องเวลาพัฒนาด้านเทคโนโลยีไปอีกหลายปี
“ปัญหาของประชาชน การแข่งขันของประเทศ การพัฒนาซอฟแวร์ การรองรับเทคโนโลยีในอนาคตจากต่างประเทศ จะพัฒนาไปอย่างล่าช้า ขณะนี้ เราโดนประเทศเวียดนาม มาเลเซีย นำหน้าแข่งขันด้านเทคโนโลยีไปมาก จากในอดีตเราเป็นรองเพียงแค่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการทำงานของ กทช. ต่อจากนี้ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้เท่าเทียมอารยประเทศ”
ส่วนรศ.สุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า การที่ทุกคนกำลังมุ่งอยู่ที่เทคโนโลยี 3G ต้องเกิดขึ้น แต่อยากให้มองถึงความเป็นไปได้ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าเพิ่งไปปักธงเรื่องเวลา เพราะที่ผ่านมา การปรับเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกมาเป็นดิจิตอลต้องใช้เวลากว่า 30 ปี จากยุค 2G มาเป็น 3G ซึ่งทุกอย่างต้องขึ้นกับการแข่งขันที่ผู้บริโภคให้มีสิทธิ์เลือกใช้เทคโนโลยี หากจะถามว่า ช้าหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับขั้นตอนระยะเวลาที่เหมาะสม ขณะนี้เรายังมีเทคโนโลยี WiMAX ยังเป็นอีกทางเลือกที่สามารถใช้ได้ในทั่วประเทศ และค่อยๆพัฒนาไปทีละขั้นตอน