เผยผลสำรวจ 10 ช่องทีวี มุ่งเสนอข่าวชุมนุม ขาดการนำเสนอทางออกความขัดแย้ง
"มีเดียมอนิเตอร์" เปิดเผยผลสำรวจการเฝ้าระวังการรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 10 ช่องสถานีทีวีตลอด 24 ชม. พบส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการรายงานความเคลื่อนไหวเป็นหลัก มุ่งนำเสนอประเด็นแวดล้อม โดยยังขาดการนำเสนอทางออกของความขัดแย้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (25 มี.ค) ว่า โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) ร่วมกับ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ จัดเสวนาเรื่อง “การรายงานข่าวชุมนุมการเมืองในฟรีทีวี” เพื่อนำเสนอรายงานการพิจารณาเนื้อข่าว ในการช่วยลดความขัดแย้ง จากการเฝ้าระวังการรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ระหว่างวันที่ 12-25 มีนาคม 2553 และช่วงวันที่ 21-23 มีนาคม 2553 ใน 10 ช่องสถานีโทรทัศน์ตลอด 24 ชั่วโมง แบ่งเป็น ช่องฟรีทีวี ช่อง 3,5,7,9,11,ทีวีไทย และช่องเคเบิลทีวี เนชั่นแชนแนล,เอเอสทีวี,ทีเอ็นเอ็น และดีสเตชั่น เฉพาะกลุ่มรายการข่าว และร่วมแลกเปลี่ยนทัศนคติการนำเสนอข่าวสารในสื่อมวลชนไทย ณ ลานกิจกรรม ชั้น 35 อาคารเอสเอ็ม ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ มีเดียมอนิเตอร์ กล่าวถึงภาพรวมการรายงานข่าวของสื่อโทรทัศน์ทุกช่องว่า ให้ความสำคัญกับการรายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นหลัก มุ่งนำเสนอประเด็นแวดล้อม ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การจราจร รวมไปถึงการถ่ายทอดสดการชุมนุม ในประเด็นที่โจมตีทางการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย โดยยังขาดการนำเสนอทางออกของความขัดแย้งและการนำเสนอข่าวเพื่อช่วยให้เกิดสันติภาพในการชุมนุม
“บทบาทของสื่อในการเสนอข่าวชุมนุมของสื่อกระแสหลัก ขณะนี้เป็นการกระทำในเชิงรับมากกว่ารุก ผู้สื่อข่าวมักรอเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น แล้วไปนำเสนอข่าวและเกาะติดสถานการณ์ อาทิเช่น การเคลื่อนม็อบ การทำลายม็อบ การยิงระเบิด หรือการเรียกร้องให้มีการยุบสภา ส่งผลให้เรื่องเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองสูงขึ้น มีเพียงช่องทีวีไทย ที่ได้มีการนำเสนอข่าวได้อย่างครอบคลุมทุกฝ่าย และมีเพิ่มพื้นที่ในการเสนอข้อมูล ผ่านกลุ่มเสียงของประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์จริง ซึ่งส่วนของรายการสารคดี ก็ยังเพิ่มประเด็นทางการเมืองในอีกมุมมองหนึ่งเพิ่มเติมด้วย”
ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ มีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า การนำเสนอของสื่อไทย อาจจะมีความเกี่ยวข้องของคณะผู้บริหาร ในการกำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวสารตามผังรายการของแต่ละช่อง แต่หากกองบรรณาธิการของทุกสื่อมีความพยายามมุ่งเน้นนำเสนอข่าวสารที่รอบด้าน รัดกุม ช่วยเป็นช่องทางการสื่อสารที่เป็นกลางของทุกฝ่าย เชื่อว่าจะเป็นทางออกของการนำเสนอข่าวที่ช่วยลดความขัดแย้งในสังคมลงได้
ด้านพญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้จัดการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า สิ่งที่สื่อควรกระทำมากขึ้นเพื่อช่วยรายงานข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน คือการเปิดพื้นที่สัดส่วนรายงานข่าวให้เหมาะสม มุ่งนำเสนอข่าวเชิงลึกมากกว่า ข่าวสถานการณ์ ลดการนำเสนอบุคคลที่จะสร้างความขัดแย้ง และนำเสนอข่าวโดยปราศจากอคติ ยึดหลัก 5 ข้อ คือ 1.อธิบายสาเหตุ ที่มาของปัญหาความขัดแย้ง 2.ปัญหาของความรุนแรงทุกด้าน 3.เสนอทางออกความขัดแย้ง 4.ผลกระทบทุกด้านที่เกิดจากความขัดแย้ง 5.เสนอแนะความคิดร่วมในการหาทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
ส่วนนายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า ข่าวสารในโทรทัศน์ยังมีความไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงพอ เพราะเกิดจากการสัมปทานจากเอกชนที่มุ่งเน้นธุรกิจ หรือจากกลุ่มรัฐบาลที่เป็นช่องทางสื่อสารข้อมูล ทำให้ขาดความสมดุลเพราะแม้กระทั่งช่อง 11 ที่ได้กำหนดบทบาทตนเองเพื่อเป็นสถานีข่าวเพื่อการสนับสนุนแนวคิดสันติภาพ ยังมีแนวโน้มเอียงไปฝ่ายรัฐบาลมากกว่าการนำเสนอจากทั้ง 2 ฝ่าย หรือ ช่อง 3 และช่อง 7 ยังเน้นเพียงรายการสถานการณ์ในช่วงข่าวต้นชั่วโมง ซึ่งควรจะเพิ่มเวทีสำหรับการพูดคุยของแต่ละสีเพื่อร่วมกันหาทางออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งให้มากขึ้น
สุดท้ายนางสาวไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ ตัวแทนจากกลุ่มสันติอาสาสักขีพยาน กล่าวว่า การรับฟังข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม ทั้งรัฐบาลและกลุ่มเสื้อแดง หากผู้รับสารมีตั้งสติ พิจารณารับข่าวสารจากหลากหลายอย่างรอบคอบ จะทำให้เข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองได้มากขึ้น