ครม.ไฟเขียว “ร่างพ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์”
ครม.เห็นชอบหลักการตั้ง “กองทุนเพื่อพัฒนาสื่อสร้างสรรค์” และ “คณะอนุกก.กองทุนฯ” บริหารกิจกรรมประกบ มุ่งหนุนพัฒนา-ผลิตสื่อดีมีคุณภาพ พร้อมส่งกฤษฎีกาพิจารณาก่อนประกาศใช้
วันนี้ (23 มี.ค.) คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงพัฒนาศักยภาพในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ของผู้ผลิตสื่ออาชีพให้มีคุณภาพ อีกทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงทุกระดับในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสร้างกลไกในการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ โดยให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมีคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำหน้าที่กำหนดการบริหาร กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินสนับสนุนกิจกรรม รวมถึงจัดหาทุนจากแหล่งต่างๆ
จากนี้จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)ประกอบการพิจารณาด้วย จากนั้นส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมเสนอว่า 1. ผลการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของเด็กพบว่า โดยเฉลี่ยเด็กและเยาวชนไทยบริโภคสื่อวันละ 12.9 ชั่วโมง โดยมีสัดส่วนการรับชมโทรทัศน์สูงสุดอยู่ที่ 5.7 ชั่วโมงต่อวัน และใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 3.1 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะเดียวกัน ผลการสำรวจสัดส่วนรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ประเภท ป (อายุ 3-5 ปี) และประเภท ด (อายุ 6-12 ปี) ในเดือนกรกฎาคม 2551 โดยโครงการ Child Media Watch พบว่า เฉลี่ยทุกสถานีในระบบฟรีทีวี มีสัดส่วนรายการเด็กเพียงร้อยละ 5.48 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด สอดคล้องกับผลการติดตามการจัดระดับความเหมาะสมของประเภทรายการโทรทัศน์ของเครือข่ายสถาบันวิชาการนิเทศศาสตร์ 12 สถาบัน และเครือข่ายครอบครัวอาสาเฝ้าระวังสื่อ ที่พบว่า รายการประเภท ป และ ด ในช่วงเวลา 16.00-22.00 น. ของทุกสถานี มีเพียงร้อยละ 10 ซึ่งต่ำกว่าที่ระเบียบของกรมประชาสัมพันธ์ ได้กำหนดไว้ว่าต้องมีรายการสำหรับเด็กและเยาวชน ร้อยละ 25 ในผังรายการของช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนสื่อวิทยุนั้นพบว่ามีสัดส่วนของรายการสำหรับเด็กไม่ถึงร้อยละ 1 ของจำนวนเวลาและสถานีทั่วประเทศ
2. การวิเคราะห์ของภาควิชาการต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า สาเหตุหลักที่ทำให้สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีจำนวนน้อยเนื่องมาจาก 1) นโยบายของสถานีที่มุ่งผลิตรายการเพื่อเป้าหมายทางการตลาด 2) ข้อจำกัดด้านเงินทุน เพราะรายการเด็กที่มีคุณภาพสูงต้องใช้ทุนผลิตสูงกว่า 300,000 บาทต่อชั่วโมง ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยและอิสระไม่สามารถอยู่ได้ 3) ข้อจำกัดเรื่องผู้สนับสนุนรายการ เนื่องจากรายการเด็กมักอยู่ในช่วงเวลาไม่ดี ได้รับความนิยมไม่มาก จึงมีผู้สนับสนุนรายการน้อย 4) ผู้ผลิตสื่อเด็กที่มีคุณภาพและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้พัฒนาการของเด็ก และสาระทางวัฒนธรรม ยังมีจำนวนน้อย ทำให้เกิดข้อจำกัดเรื่องคุณภาพเนื้อหา ในขณะที่ช่องทางของการเผยแพร่มีมากขึ้น โดยเฉพาะทีวีในระบบอื่น ๆ เช่น ดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต จึงทำให้มีความจำเป็นต้องเพิ่มเนื้อหาที่สร้างสรรค์
3. ในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นจึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงเพื่อพัฒนาศักยภาพในการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ของผู้ผลิตสื่ออาชีพเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กระจายสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อย่างทั่วถึงทุกระดับ รวมทั้งเพื่อสร้างกลไกใน การรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ โดยมีคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหาร ให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงาน และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินที่จะให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านต่าง ๆ และระดมการจัดหาทุนจากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงการระดมความร่วมมือจากเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา