แนะ"สื่อ"ปรับบทบาทแสวงหาความจริง แทนเลือกข้างทำหน้าที่
“ผอ.ทีวีไทย” เร่งองค์กรสื่อปรับตัวเตรียมคนข่าว รับกระแสอาเซียนอีก 5 ปี มองเนื้อหาบนสื่อส่วนใหญ่เป็นความเห็น-ไม่ผ่านการตรวจสอบ ด้าน “สมหมาย ปาริจฉัตต์”ค้านบีบสื่อให้เลือกข้างทำหน้าที่ เปิดตำราย้ำบทบาทแท้จริง สื่อต้องแสวงหาความจริงมานำเสนอ
เมื่อเร็วๆนี้ ในการอบรมผู้บริหารสื่อมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 2 ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ,นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาในหัวข้อ "การบริหารจัดการองค์กรสื่อยุคใหม่" แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทิศทางการบริหารจัดการองค์กรสื่อสารมวลชนไทยในอนาคต
นายเทพชัย กล่าวถึงสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสื่อใหม่ทั่วโลกขณะนี้ คือ เนื้อหาบนสื่อประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นเพียงข้อกล่าวหา ความเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ถูกตรวจสอบ เป็นเรื่องที่ทำให้คนรู้สึกสนุกและสนใจซึ่งคนเชื่อในสิ่งเหล่านี้มากขึ้นทุกวันจึงเป็นสิ่งท้าทายความเป็นสื่อใหม่ในขณะนี้ด้วย โดยภารกิจหลักของสื่อ ต้องแสวงหาข้อเท็จจริง เปิดโปงให้ปรากฏ ไม่ใช่การเลือกข้างเสนอข่าว รวมถึงกรณีของคอลัมนิสต์ด้วยต้องเสนอความคิดเห็นบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ได้มา
"เนื้อหาการทำข่าวของสื่อในอนาคตต้องเปลี่ยนแปลง ทิศทางขององค์กรสื่อในอีก10 ปีข้างหน้า ในสภาพการแข่งขันที่แหลมคมของวงการสื่อสารมวลชน องค์กรสื่อต้องจะต้องคิดด้วยว่าจะเตรียมความพร้อมบุคลากรไว้ได้อย่างไรบ้างเพื่อรับกระแสอาเซียน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ต้องคิดถึงด้วยว่าในอนาคตสื่อจะต้องการเพียงนักข่าวที่รายงานข่าวเหตุการณ์แล้วจบไป หรือต้องการนักข่าวที่วิเคราะห์เหตุการณ์เป็น ทั้งนี้ เชื่อว่า10 ปีข้างหน้าไทยจะไม่เกิดหนังสือพิมพ์รายวันหัวใหม่ขึ้นแน่"
นายเทพชัย กล่าวอีกว่า วันนี้เวลาพูดถึงการเมืองไทยเราไม่เคยพูดถึงการปฏิรูปการทำงานของสื่อเลย พูดแต่ปฏิรูปคลื่นความถี่ โครงสร้างองค์กร ซึ่งเรื่องนี้ควรพิจารณาด้วย การบริหารจัดการองค์กรสื่อที่ดีในอนาคตนั้นควรต้องมีอิสระด้านเนื้อหา ความโปร่งใสในองค์กร จริยธรรมในการบริหารงานทั้งองค์กร การให้สิทธิคนกลุ่มน้อยหรือคนพิการ, การส่งเสริมนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย การบริหารจัดการและองค์กรสื่อยุคใหม่ต้องรองรับทั้งในระดับชาติและภูมิภาค
"ปี2558 กลุ่มประเทศอาเซียนจะต้องรวมตัวกันตามกระแสภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยจะมีคนที่ต้องสื่อสารมากขึ้นอีก 400-500 ล้านคน ดังนั้นอนาคตสื่อไทยต้องปรับตัวเตรียมรับจุดนี้ สื่อมวลชนต้องสร้างการรับรู้ต่อสังคมของประเทศเพื่อนบ้านด้วย"
ด้านนายสมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการบริหารจัดการองค์กรสื่อยุคใหม่ว่า ประการแรกต้องวิเคราะห์สื่อของตนให้ชัดเจนก่อนว่าเป็นสื่อประเภทใด จากนั้นต้องสร้างความสมดุลระหว่างการบริหารในระดับองค์กรกับระดับกองบรรณาธิการควบคู่กัน การบริหารจัดการองค์กรสื่อในระดับองค์กรจะต้องมีความคิดที่กว้าง คำนึงคู่แข่ง หากมีข่าวที่ได้รางวัลมากมายแต่ยอดขายไม่เพิ่ม ก็ต้องคิดจัดการ ต้องคิดเชิงเศรษฐกิจ และคิดกว้างกว่าระดับกองบรรณาธิการ ส่วนการบริหารระดับกองบรรณาธิการต้องมีจุดยืน มีแนวคิด มีวิธีการในการสร้างเนื้อหาที่เร็ว ลึก กว้าง และสร้างบุคลากรในการผลิตเนื้อหา
"วันนี้สื่อต้องปรับตัวทั้งแง่เศรษฐกิจ และการผลิตเนื้อหาที่ต้องมากกว่านักข่าวพลเมืองต้องให้เนื้อหากว้างและลึกกว่า ดังนั้นจะทำอย่างไรจะให้สื่อกระแสหลักมีบทบาทและมีเนื้อหาที่ต้องเป็นหลักให้สังคมให้ได้ ส่วนสื่อทางเลือกก็ยังเป็นแนวทางหนึ่ง ต้องยอมรับว่าขณะนี้ผู้บริโภคมีค่านิยมชอบเสพเนื้อหาฟรี ทั้งที่ผู้ผลิตพยายามผลิตทั้งข่าวในลักษณะหนังสือพิมพ์ออนไลน์ในรูปแบบเก็บค่าสมาชิกแล้วเพื่อสร้างตลาดให้ครอบคลุมให้อยู่รอด ซึ่งความท้าทายในปัจจุบันว่าจะบริหารจัดการองค์กรสื่อได้อย่างไร.
เมื่อถามถึงบทบาทการผลิตและการนำเสนอเนื้อหาของสื่อในปัจจุบัน นายสมหมาย กล่าวว่า วันนี้สื่อมักถูกเรียกร้องให้เลือกข้างในการแสดงบทบาทต่อสังคม แต่บทบาทของสื่อที่แท้จริง คือ ต้องแสวงหาความจริงแล้วนำความจริงที่ได้รับมา ตรวจสอบแล้วเสนอออกไป หน้าที่เป็นการแสดงความจริง ส่วนประเด็นการตัดสินความถูกต้องหรือความไม่ถูกต้องนั้น เป็นหน้าที่ของประชาชน ของผู้รับข่าวสารที่ต้องตัดสินใจ โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องที่ว่าสื่อต้องเลือกข้างในการทำหน้าที่"
ส่วนนายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด และเว็บไซต์กระปุกดอทคอม กล่าวถึงสื่อดิจิตอลในปัจจุบันว่า มีการขยับตัวในเรื่องการใช้โซเชี่ยลมีเดีย (Social Media)มากขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากสื่อยุคใหม่นี้ทำให้ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวพลเมืองได้มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการใช้สื่อดิจิตอลในองค์กรสื่อสารมวลชนก็ยังต้องพึ่งพิงสื่อหลักและสื่อใหญ่ขององค์กรนั้นๆ อยู่ด้วย
สำหรับทิศทางอนาคตของสื่อนั้น นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ต้องจัดการสื่อเดิมกับสื่อใหม่ให้มีการเกื้อกูลกันมากขึ้น ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยเสริมการทำงานและการจัดการบริหารงานขององค์กร โดยผู้บริหารสื่อต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้มีคนนับถือหรือเชื่อถือองค์กร,เปิดรับข้อมูลข่าวสารจากองค์กร, ตระหนักในคุณค่าต่อสังคมของสื่อ และสุดท้ายสื่อนั้น ต้องมีคุณค่าต่อสังคมทั้งโลกออนไลน์และสังคมจริงด้วย อย่างไรก็ดีการใช้สื่อใหม่ในลักษณะโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก (Social Network)แบบนี้ก็เหมือนกับ "กระดานไม้หก" ที่ด้านซ้ายต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และด้านขวาเป็นเรื่องของความต้องการอยากแบ่งปันข้อมูลข่าวสารระหว่างกันด้วย ซึ่งทั้งสองด้านเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง