ลอกข่าวแบบกลุ่มสัญญาณอันตรายวงการสื่อสารมวลชน
นายกสมาคมนักข่าวฯ ระบุ นักข่าวปัจจุบันกลัวตกข่าวมากกว่าข่าวผิด แฉมีวิวัฒนาการ ช่วยเหลือกัน “ลอกข่าวแบบกลุ่ม” ก่อนนำข่าวมารวมกันเพื่อให้นำ เสนอได้ทันเวลา ชี้โอกาสผิดพลาดสูง
เมื่อเร็วๆ นี้ นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และบรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ เรื่อง“กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์และกลไกคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพสื่อ” ใน การอบรมผู้บริหารสื่อมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 2 จัดโดยสถาบันอิศรา ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ณ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เขตดุสิต กรุงเทพฯ
นายมานิจ กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนว่า คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อสารมวลชนนั้นไม่มีขอบเขต ทั้งที่จริงแล้วมีโดยต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และกรอบจริยธรรมสื่อ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาทที่สื่อสามารถแสดงความคิดเห็นได้แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบ กฎหมาย ต้องเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ไม่ละเมิดสิทธิ หรือใส่ความผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิเสรีภาพไว้แต่ต้องไม่รบกวนสิทธิผู้อื่น รัฐจะออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพได้เฉพาะเรื่องความมั่นคง,การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และรักษาจริยธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นกฎหมายลูกจะออกเกินกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่ได้
สำหรับกลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ นั้น นายมานิจ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบ วิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ...ขึ้นแล้ว กำลังปรับปรุงแก้ไขจากการประชาพิจารณ์เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไปและจะพยายามผลัก ดันให้ทันภายในรัฐบาลนี้ ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมกฎหมายฉบับแรกที่มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อจริงจัง โดยกฎหมายนี้จะตั้งคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบ วิชาชีพสื่อมวลชน หากสื่อใดต้องการจะได้รับความคุ้มครองก็ต้องเป็นสมาชิกในองค์กรที่คณะ กรรมการฯ รับรอง ทั้งนี้เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนได้เป็นอย่างดี
ส่วนจริยธรรมสื่อมวลชนไทยในปัจจุบันนั้น ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนฯ กล่าวว่า สังคมมักจะบอกว่าสื่อมวลชนไม่มีจริยธรรมซึ่งความจริงแล้วมีกำหนดไว้เป็นลาย ลักษณ์อักษรทั้งจริยธรรมและแนวทางปฏิบัติ 30 ข้อ ซึ่งมีหลักการไม่ต่างจากจริยธรรมของต่างประเทศนักคือผู้ประกอบวิชาชีพต้อง ร่วมกันดูแลกันเอง ทั้งนี้สอดคล้องหลักรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพียงกลุ่มคนเหล่านั้นไม่ปฏิบัติตาม
ประธานมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนฯ กล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่า ข่าวที่นำเสนอต้องเป็นความจริงที่ถูกต้อง แม่นยำ ครบถ้วนให้ประชาชนใช้วิจารณญาณตัดสิน คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก พยายามให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่แต่งเติมสาระข่าวจนคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ข่าวมีเท่าไรก็เสนอเท่านั้น และต้องปราศจากอคติในการนำเสนอ ไม่ใส่ความเห็นลงข่าวโดยเฉพาะการพาดหัวข่าว การรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวในกรณีที่ระบุเป็นรายงานนั้นควรเขียนให้ชัดเจน ว่าแหล่งข่าวเป็นใครเพื่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งหลายครั้งที่มีการปล่อยข่าว นักข่าวต้องมีไหวพริบในการนำเสนอข่าวและต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้มากกว่า เฉพาะสายข่าวที่ตนทำด้วย
“การรับ จ้างเขียนข่าว รับจ้างด่าคนอื่น หรือวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นเพื่อได้เงินตอบแทน โดยอ้างว่าอาชีพหนังสือพิมพ์นั้นจนจึงต้องทำเช่นนี้ ต้องย้อนถามกลับไปว่า ใครบังคับให้คุณมาทำงานนี้ ต้องรู้มาก่อนแล้วจะได้เงินเท่าใด มาทำให้เสื่อมเสียวงการวิชาชีพก็ไม่ควรจะอยู่ หากอยากได้เงิน ความร่ำรวยก็ควรไปทำอาชีพอื่น”
ทั้งนี้ หลังการบรรยายมีการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนไทย โดยนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เสนอว่า ปัจจุบันนักข่าวมีพฤติกรรมการทำงานที่อาศัยการลอกข่าวแบบกลุ่มตามสายข่าว ช่วยเหลือกันในลักษณะแยกไปทำข่าวแล้วนำข่าวมารวมกันเพื่อให้นำเสนอได้ทัน เวลา ทำให้ไม่มีโอกาสตรวจสอบในข้อเท็จจริงของข่าวด้วยตนเองหรือบางทีที่มีการฝาก ส่งข่าวโดยที่นักข่าวไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบข่าวนั้น
“ การไม่มีการตรวจสอบซ้ำเช่นนี้เป็นอันตรายมากต่อวงการสื่อสารมวลชนและผู้อ่าน เนื่องจากลอกข่าวเดียวกันทั้งกลุ่มทั้งสายทำให้มีโอกาสยากมากในการตรวจสอบ ความจริงเท็จที่เกิดขึ้น เพราะนักข่าวปัจจุบันมักกลัวตกข่าวมากกว่าข่าวผิด”