ผลวิจัยชี้โจ๋ไทยมีพฤติกรรมข่มเหงรังแกกันผ่านโลกไซเบอร์พุ่งสูง
เมื่อวันที่ 9 ก.พ.53 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร คณะกรรมการบริหารนโยบายปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิด พร้อมคณะเข้าพบ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อหารือและเสนองานวิจัยเรื่อง การกระทำความรุนแรงผ่านเทคโนโลยีในโลกในไซเบอร์: ภัยมืด ภัยร้ายของวัยรุ่นไทย ให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจากโลกไซเบอร์พุ่งสูงในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น
สำหรับผลการวิจัยเรื่อง “การกระทำความรุนแรงผ่านเทคโนโลยีในโลกไซเบอร์ : ภัยมืด ภัยร้ายของวัยรุ่นไทย” ทำการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับรูปแบบและพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงของวัยรุ่นไทยผ่านเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ประเภทโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต โดยการสัมภาษณ์เยาวชนที่กำลังศึกษาในสถานศึกษาทั้งของรัฐบาลและเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,000 ราย ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และปริญญาตรี ซึ่งผลการวิจัยระบุว่า กลุ่มเยาวชนมากกว่าร้อยละ 50 มีพฤติกรรมข่มเหงรังแกกันผ่านโลกไซเบอร์ ได้แก่ การส่งข้อความด่าทอผู้อื่นผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต การส่งข้อความ/ข้อมูลที่เป็นความลับของบุคคลให้ผู้อื่น และการคุกคามผู้อื่นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายอิสสระ กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น ทำให้คนมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้โดยง่ายและสะดวก หากมีการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ถูกก็จะเป็นความรู้และเป็นประโยชน์ต่อตนเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็พบว่ามีการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิดเช่นกัน เช่น พฤติกรรมการใช้ความรุนแรงทั้งการข่มขู่ ด่าทอกัน หรือกระทั่งการคุกคามทางเพศผ่านอินเทอร์เน็ตในหมู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องและต้องเร่งแก้ไข เพื่อสร้างค่านิยมที่ดีและถูกต้องให้กับเยาวชน
“ในปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายเพื่อควบคุมเรื่องนี้โดยเฉพาะ หากปล่อยไว้พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องเรียนรู้อย่างเท่าทันเพื่อสอดส่องบุตรหลานให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไปในทางที่ถูกต้องและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ” นายอิสสระ กล่าว
ขณะที่รศ.ดร.สายฤดี กล่าวว่า การทำวิจัยนี้เก็บตัวอย่างจากกลุ่มวัยรุ่นทั้งหมด 3 กลุ่ม โดยแยกประเภทของระดับการศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย พบว่า กลุ่มนักเรียนอาชีวะศึกษา เป็นกลุ่มที่พบการกระทำความรุนแรงในโลกไซเบอร์มากที่สุด โดย 25 % มาจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว คือ พ่อแม่แยกกันอยู่ และอีก 48 % ที่แยกอยู่ลำพังตามหอพัก โดยส่วนมากล้วนเคยเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามารถทำได้ ซึ่งถ้ามีใครกระทำความรุนแรงมาก็จะใช้วิธีโต้ตอบกลับทันทีเช่นกัน