"สาทิตย์"เร่งคลอดพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่น ให้ทันปลายปีนี้
เมื่อวันนี้ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดงานสัมมนาเรื่อง “อนาคตสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ใครจะอยู่ ใครจะไป? ภายใต้กฎหมายองค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่ ฉบับใหม่ ” โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถานำ เรื่อง “นโยบายด้านโทรคมนาคมและสื่อใหม่ของรัฐบาล” ว่า บทบาทการทำหน้าที่ของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังคงขาดการดูแลผู้ประกอบการและผู้บริโภคในการใช้สื่อ ขณะที่การสรรหาคณะกรรมการ กทช. ก็ยังขาดความเป็นอิสระ กระบวนการทำงานขาดความเป็นธรรมในการใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การจัดสรรองค์กรคลื่นความถี่ ปี 2543
"ปลายปี 2551 ได้มีการยื่นแก้ไขการปรับกฎหมาย พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่ ปี 2543 หลังจากมีการฟ้องร้องในการใช้คลื่นความถี่อย่างเท่าเทียม มีการกำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะ ทำให้เดือนมีนาคม 2552 รัฐบาลได้มีการจัดดตั้งคณะกรรมมาธิการ กทช. 45 คน เพื่อดูแลควบคุมการใช้งานกิจการโทรคมนาคม แต่ในครั้งนั้น ก็ไม่สามารถจัดตั้งให้มี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.) ควบคู่ในบทบาทการทำงานเกี่ยวกับการจัดการของสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ได้ ยังคงมีเพียงแต่ กทช.ที่ทำหน้าที่เท่านั้น แต่ก็ยังเกิดข้อพิพาทการทำงานของ กทช. ว่าไม่สามารถทำงานได้ครอบคลุมทั้งกระบวนการทำงาน ความโปร่งใส และการใช้อำนาจเงิน ซึ่งขณะนั้น กทช. ทำได้แค่เพียงทำกฎระเบียบออกมาบังคับใช้ แต่ก็ไม่สามารถจัดการบริหารนโยบายให้เดินหน้าต่อไปได้ เช่น การออกใบอนุญาต 3G เป็นต้น”
นายสาทิตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฉบับใหม่ ว่า ขณะนี้การยื่นเรื่องได้นำเสนอผ่านไปยังสภาเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยจะบรรจุวาระใน 2 สัปดาห์หน้า และจะเข้าสู่การประชุมวิปรัฐบาล เพื่อเร่งให้แล้วเสร็จภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะสามารถรู้ผลที่แน่นอนได้ในปลายปี 2553 หลังจากนั้นจะมีการดำเนินการสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน โดยพ.ร.บ.ฯ นี้จะเห็นผลสมบูรณ์ กลางปี 2554
“ด้านเนื้อหาของกฎหมายนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากพ.ร.บ.เดิมเล็กน้อย อย่างน้อยที่สุด คือ การปรับคณะกรรมการของ กทช.จะเหลือคณะกรรมการ เพียง 1 ชุด ที่จะทำงานใน กสทช. ซึ่งวิธีการได้มาก็จะมาจาก 2 วิธีการ คือ วิธีการเลือกกันเอง และจากการสรรหา เมื่อได้แล้วจะส่งผลไปยังวุฒิสภาเพื่อคัดกรองคณะกรรมการให้เหลือเพียง 11 คน จากทั้งหมด 45 คน และในระหว่างนี้ให้การทำงานยังอยู่ภายในความรับผิดชอบของ ทาง คณะกรรมการ กทช.”
ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่แก่องค์กรธุรกิจนั้น รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า องค์กรธุรกิจใดจะครอบครองคลื่นความถี่จะต้องเป็นผู้ประกอบการในคลื่นความถี่นั้น จะไม่ให้มีการสัมปทานอีกต่อไป แต่ในระหว่างนี้สัญญาใดที่ได้ทำการสัมปทานไปก่อนแล้ว สามารถดำเนินการต่อไปได้ จนสิ้นอายุสัมปทานนั้น โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขที่ขยายระยะเวลา ซึ่งส่วนแบ่งรายได้จากการสัมปทานจะต้องกลับคืนสู่กระทรวงการคลังด้วย
“ ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่การทำงานของ กทช. เพียงจะเพิ่มบทบาทให้การทำงานของคณะกรรมการ กสทช. มีการทำงานที่เป็นประโยชน์มากขึ้น โดยใช้หลักการสร้างธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน นั่นคือ ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และความพร้อมในการรับผิดต่อสังคมในยุคที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และช่วยสร้างให้เกิดการเท่าเทียมในการใช้คลื่นความถี่ทั้งจากทางภาครัฐและภาคเอกชนในการประกอบการทางธุรกิจ”