แนะสื่อนำเสนอบทบาท-ศักยภาพคนพิการให้มากขึ้น
องค์กรคนพิการฉะสื่อพุ่งเป้านำเสนอเรื่องความพิการมากกว่าจะมองเรื่องความสามารถ ทำให้คนพิการมีภาพความเป็นผู้แพ้-ผู้รับ ดูน่าเห็นใจ จี้สร้างฐานความคิดใหม่ให้สังคมมองคนพิการในมุมมองที่ดีขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการสัมมนาเรื่อง “สื่อสร้างสรรค์สู่สังคมสิทธิคนพิการ” ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนจากภาคสื่อมวลชนและคนพิการ ร่วมพูดคุยถึงบทบาทของสื่อมวลชนและการสร้างฐานความคิดใหม่ต่อคนพิการ
นางกิ่งแก้ว อิ่นหว่าง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณชีวิตคนพิการแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทสื่อมวลชนในการนำเสนอเรื่องคนพิการว่า ทั้งสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อโฆษณา นำเสนอเรื่องคนพิการมากขึ้น แต่เป็นไปในแง่ลบหรือเป็นได้แค่ตัวประกอบในสังคม ยังขาดพื้นที่ในการนำเสนอเรื่องบทบาท ความสามารถ และศักยภาพของคนพิการ สื่อมวลชนในฐานะเป็นผู้ส่งข่าวสาร จึงควรเป็นตัวกลางหลักในการนำเสนอเรื่องราวในด้านที่สร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ที่ดีและถูกต้องให้แก่ประชาชน เพราะคนพิการก็มีความรู้และความสามารถทัดเทียมกับคนปกติทั่วไป เพียงแต่อาจจะมีข้อจำกัดในบางประการเท่านั้น
“ในส่วนของภาครัฐ เล็งเห็นถึงความสำคัญของคนพิการ ล่าสุดได้มีร่างกฎหมายฉบับเฉพาะของคนพิการขึ้นมา คือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 เพื่อดูแลชีวิตของคนพิการให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ดังเช่น ในมาตรา 20 ที่กำหนดว่า รัฐต้องส่งเสริมให้คนพิการได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการอันเป็นสาธารณะที่กำหนดขึ้นหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ เบี้ยคนพิการ และการจัดสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อคนพิการ เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อคนพิการที่สังคมต้องมีส่วนช่วยกันในการดูแล” นางกิ่งแก้ว กล่าว
ขณะที่นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า คนพิการมักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในสื่อโดยไม่รู้ตัว เช่น ในสื่อโฆษณาที่คนพิการมักถูกเลือกปฏิบัติทั้งที่โดยเจตนาและไม่เจตนา เช่น การนำคนพิการมานำเสนอในการตลาด โดยมุ่งเน้นสร้างแบรนด์ ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับองค์กร และการนำเสนอข่าวที่ยังเป็นไปในภาพลักษณ์เชิงลบ ทำให้คนพิการมีภาพของความเป็นผู้แพ้-ผู้รับ ดูน่าเห็นใจ เพราะสื่อพุ่งเป้าไปที่ความพิการมากกว่าจะมองเรื่องความสามารถ
ด้านอาจารย์ จิรภัทร กิตติวรากูล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า สื่อมีอิทธิพลต่อการรับรู้ การตัดสินใจ และพฤติกรรมของบุคคล ที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวของคนพิการในสื่อมวลชนยังมีน้อย จึงทำให้คนทั่วไปไม่รับรู้ถึงข้อเท็จจริง จึงมองภาพลักษณ์ของคนพิการไปตามที่เห็นในสื่อเพียงด้านเดียว
"สื่อจึงควรมีบทบาทในการกำหนดวาระเรื่องคนพิการให้กลายเป็นประเด็นทางสังคมได้ เช่นเดียวกับประเด็นอื่นๆ ที่เคยถูกหยิบยกขึ้นมา โดยนำเสนอในด้านที่สร้างสรรค์ที่ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างฐานความคิดใหม่ให้สังคมมองคนพิการในมุมมองที่ดีขึ้น นำไปสู่สังคมที่คนพิการได้มีสิทธิและมีพื้นที่ยืนในสังคมได้อย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้ประชาชนก็ควรรู้เท่าทันความเป็นไปของสื่อด้วย"