มอส.เปิดเวทีถกปัญหาวิทยุชุมชน พบ 4 เรื่องต้องแก้ไข
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จัดเวทีสาธารณะเรื่องวิทยุชุมชน เพื่อ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันจะนำไปสู่การพัฒนาวิทยุชุมชนในประเทศไทย นักวิชาการสื่อสารมวลชนแนะอย่าแข่งขันที่จำนวนคนฟังแต่ต้องตอบโจทย์ประโยชน์ ชุมชน-สร้างการยอมรับจากสังคม ตัวแทนสื่ออเมริกาชี้คนไทยสนใจวิทยุชุมชนกว่าคนอเมริกัน-แต่อเมริกามีการจัด ระบบและเนื้อหาชัดเจน รวมทั้งป้องกันการแทรกแซงจากรัฐและเอกชน
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และนักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงภาพรวมของวิทยุชุมชนไทยว่า สื่อประเภทนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประชาชนต้องการมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้เกิดปัญหาหลักๆ 4 เรื่องคือ 1. ด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการคลื่นให้เพียงพอต่อจำนวนสถานีวิทยุที่ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้และหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพิ่มเติม 2. การแข่งขันของกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่วิทยุพาณิชย์
ตลอดจนชุมชนด้วยกันเอง 3. การครอบงำของกลุ่มต่างๆ เช่น ทหาร หรือนายทุน ที่เข้ามาแทรกแซงในรูปแบบต่างๆ ส่งผลต่อการขอใบอนุญาต การจัดประเภทของสถานี และ 4. กระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม
“ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อต่างๆ ในประเทศไทย ต้องมองย้อนไปถึง 36 ปี มีการเปลี่ยนแปลงตามประสบการณ์และความเข้มแข็งของสังคม ดังนั้นปัญหาของวิทยุชุมชนที่เผชิญอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ หรือความไม่ชัดเจนในการจัดการต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่มองกันแค่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือคำว่าวิทยุเถื่อนค่อย ๆ จางหายไปจากสังคม แต่ที่ผ่านมาถึงแม้จะเถื่อนเราก็สามารถภูมิใจได้ เนื่องจากเถื่อนเพราะทำหน้าที่ให้ประโยชน์แก่สาธารณะ”
นายวิชาญ อุ่นอก กองเลขานุการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปัจจุบันมีสถานีวิทยุชุมชนที่แจ้งขึ้นทะเบียนทั้งหมด 6,521 สถานีทั่วประเทศ แต่มีเพียง 103 สถานีเท่านั้นที่ขอใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เช่น ไม่มีการโฆษณาหรือไม่เป็นเครื่องมือของนักการเมือง ที่เหลืออีก 6 พันกว่าแห่งส่วนใหญ่เป็นวิทยุเชิงธุรกิจ
“ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนวิทยุชุมชนมีอุปสรรคเรื่องสถานภาพทางกฎหมาย เพราะยังไม่ได้รับการยอมรับและยังไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ปัญหาด้านเทคนิคเรื่องการส่งสัญญาณที่ยังไม่ทั่วถึงเนื่องจากขาดความรู้ และเครื่องมือต่างๆ เรื่องการหนุนเสริมจาภาครัฐด้านงบประมาณ และปัญหาเรื่องการจัดการที่ยังไม่สามารถทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายใหญ่อย่างจริงจังได้ แต่ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่ง เพราะวันนี้สามารถลบคำว่าวิทยุเถื่อนได้บ้างแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะการต่อสู้ของประชาชน”
Mr. Pete Tridish สมาชิกผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Prometherus Radio และองค์กรส่งเสริมวิทยุกำลังส่งต่ำและวิทยุชุมชน จากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า วิทยุชุมชนในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจกว่าในอเมริกา แต่อเมริกามีการจัดการที่ค่อนข้างเป็นระบบ และแบ่งประเภทของสถานีตามเนื้อหา ชัดเจน ทั้งยังเรียกร้องให้ออกใบอนุญาตและป้องกันการแทรกแซงของเอกชนและรัฐโดยการ รวมกลุ่มของภาคประชาชนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้วิทยุชุมชนเป็นช่องทางการสื่อสารชุมชนไปยังชุมชนอย่างแท้จริง
ส่วน Daneille Chynoweth ผู้อำนวยการพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์ Prometherus Radio กล่าวถึงความสำเร็จการทำสื่อวิทยุชุมชนในสหรัฐอเมริกา ว่า ขณะนี้มีศูนย์กลางของสื่อชุมชนที่ให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในหลายเรื่อง ไม่เพียงแต่วิทยุชุมชนเท่านั้น ยังมีสื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ รวมถึงการเปิดอบรมการใช้อุปกรณ์เพื่อทำสื่อ ที่ไม่แสวงหากำไร ที่สำคัญคือประชาชนได้เป็นเจ้าของสื่อเอง
ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันวิทยุชุมชนในประเทศไทยเริ่มเป็นที่รู้จัก แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นสื่อขนาดเล็กในภาวะที่มีการแข่งขันสูง ต้องสร้างการยอมรับจากสังคมด้วย
“มีหลายกลุ่มที่ต้องการเป็นเจ้าของ ความรู้หรือเทคโนโลยีต่างๆ เริ่มมีมากขึ้น สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ถ้าจะอยู่ให้ได้ต้องเพิ่มศักยภาพ ความเข้มแข็งให้มากขึ้น อย่าแข่งที่จำนวนคนฟังแต่ต้องดูว่าข่าวสารข้อมูลและการมีส่วนร่วมตอบโจทย์ การเป็นวิทยุชุมชนหรือไม่ นี่คือโจทย์ใหญ่ ซึ่งอาจต้องวิจัยถึงชุมชนหรือสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความน่าเชื่อถือ และในที่สุดคือต้องอยู่ได้ด้วยทุนที่มาจากชุมชน”