เนคเทคเผยผลสำรวจคนไทยคลิกอ่านข่าวออนไลน์พุ่ง
ข่าวการเมืองนำโด่ง คนติดตามอ่านมากที่สุด สำหรับพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ต พบส่วนใหญ่ใช้งานที่บ้าน เพื่อค้นหาข้อมูล รองลงมาใช้รับส่งอีเมล์และติดตามข่าวสาร
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ณ ห้องสุโขทัย โรงแรมเซ็นจูรี่ ถ.ราชปรารภ กรุงเทพฯ ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) แถลงผลการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2552 ซึ่งสำรวจประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา โดยทำการสำรวจช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. 2552 มีคำถามพิเศษเกี่ยวกับพฤติกรรมการติดตามข่าวออนไลน์ สอบถามกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวน 11,991 คน แบ่งเป็นเพศหญิง 72.5% ช่วงอายุ 20-29 ปีตอบคำถามมากที่สุด มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1-2 หมื่นบาท ระดับการศึกษาปริญญาตรี 58.8% และเป็นคนทำงาน 51.3% ทั้งนี้ผู้ร่วมตอบคำถามมากที่สุด 54.9% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล
ผลการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2552 พบว่า ผู้ตอบคำถามมีพฤติกรรมการติดตามข่าวออนไลน์ 88.5 % ซึ่งส่วนใหญ่ติดตามข่าวออนไลน์ควบคู่กับสื่อกระแสหลักและหลายสื่อ มีรูปแบบการติดตามข่าวที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ การอ่านและแสดงความเห็นท้ายข่าวในเว็บบอร์ด รองลงมาเป็นการอ่านผ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ และอ่านข่าวผ่านบล็อค
สำหรับประเภทของข่าวที่ถูกติดตามมากที่สุด คือ ข่าวการเมือง ข่าวสังคม สิ่งแวดล้อมและเหตุการณ์ทั่วไป บันเทิง และเทคโนโลยีตามลำดับ เฉลี่ยติดตามข่าวออนไลน์ 2 ครั้งต่อวัน และปัจจัยที่ทำให้ติดตามข่าวออนไลน์ ได้แก่ ความสะดวกในการเข้าถึงข่าว ความมีอิสระในการบริโภคข่าว การมีส่วนร่วม และประหยัด
ขณะที่ผู้ตอบคำถาม 48.4% ยังให้ความเชื่อถือต่อการนำเสนอข่าวกับสื่อโทรทัศน์มากที่สุด รองลงมา คือ หนังสือพิมพ์รายวัน 22.7% อินเทอร์เน็ต 19.2% วิทยุ 5%และนิตยสาร 4% และพบว่าส่วนใหญ่อ่านข่าวออนไลน์ควบคู่กับหนังสือพิมพ์รายวัน 44.8%
ทั้งนี้ผู้ตอบคำถามมองว่าการอ่านข่าวออนไลน์มีข้อดี คือ มีความหลากหลาย แสดงความคิดเห็นได้อิสระ และมีส่วนร่วมในการนำเสนอข่าว ส่วนข้อเสียจากการอ่านข่าวออนไลน์ คือ ยังขาดการกลั่นกรองข่าวสำหรับเยาวชน ไม่มีระบบคัดกรองบทวิจารณ์ และไม่มีความเป็นกลาง สำหรับพฤติกรรมที่อาจเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการอ่านข่าวออนไลน์ต่อการอ่านหนังสือพิมพ์แบบเดิมนั้น 44.8% มองว่าไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเพราะมีการอ่านข่าวออนไลน์ควบคู่กับการอ่านหนังสือพิมพ์รายวัน ขณะที่ 28.6% มองว่าการอ่านข่าวออนไลน์ทำให้อ่านหนังสือพิมพ์ลดลง
สำหรับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตนั้น พบว่า ส่วนใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้าน 52.3% ที่ทำงาน 37.0% และจากสถานศึกษา 6.1% มีรูปแบบกิจกรรมที่ทำบนอินเทอร์เน็ต คือ ค้นหาข้อมูลสูงสุด 29.7% รองลงมาใช้บริการอีเมล์ 21.9% ติดตามข่าว 9.3% และใช้มีการใช้บริการอีเลิร์นนิ่งเพิ่มขึ้นมาก (e-learning)จากเดิมปี 2550 แค่ 0.1% ปี 2551 4.0% และปี 2552 เพิ่มเป็น 8.0% และมีรูปแบบการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยใช้บริการ ADSL มากที่สุด 40.3% รองลงมา คือ ใช้บริการระบบ Network/LAN ของที่ทำงานหรือสถานศึกษา 24.2% ซึ่งมีการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเพิ่มขึ้นจากเดิม 7.1% เป็น 10.1%
ส่วนพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ต่างกันปีก่อนหน้านี้ คือ ช่วงเวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ ช่วงเวลา 20.01-24.00 น.และปัญหาที่การใช้อินเทอร์เน็ตที่ยังครองแชมป์ คือ ไวรัส รองลงมาคือ ความล่าช้าในการรับส่งข้อมูล และปัญหาการมีแหล่งยั่วยุทางเพศบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงปัญหาอีเมล์ขยะ และความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วย
เมื่อถามถึงปัญหาของการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่พบมากที่สุด พบว่า ความเร็วของการให้บริการไม่ตรงตามที่ระบุ และผู้ที่ไม่ได้ใช้ระบุว่ายังคงเป็นเรื่องราคาที่แพงเกินไป การไม่รู้รายละเอียดในการติดต่อขอบริการ และความไม่ครอบคลุมพื้นที่พักอาศัยยังเป็นปัญหาสำคัญ อย่างไรก็ตามประเด็นการกำหนดมาตรการในการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของภาครัฐนั้น ผู้ตอบคำถามมองว่าปัญหาเรื่องไวรัสและการรักษาความมั่นคงของเครือข่าย การกระจายความทั่วถึงของบริการอินเทอร์เน็ตให้มีอย่างแพร่หลาย และการป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและการหลอกลวงบนอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นปัญหาสำคัญ
ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าวถึงการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดตามข่าวสารและข้อมูลการเรียนรู้ในปี 2553 ว่า มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอุดมปัญญาของประเทศในอนาคต โดยจะมีการติดตามข่าวสารผ่านช่องทาง เช่น เครื่องอ่านอิเล็กทรอนิกส์(e-reader) สมาร์ทโฟน และพีดีโฟนมากขึ้น นับเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนในการเตรียมพร้อมเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ เพื่อกระตุ้นและพัฒนาการสร้างสรรค์ การกลั่นกรองความเหมาะสมของเนื้อหาบนสื่อดิจิทัลและคุณภาพของแอพพลิเคชั่นด้วย เพื่อให้ไม่กระทบต่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน