นักวิชาการถกโฆษณาแฝง ช่วงว่างของกม.ระหว่างรอ กสช.
ชี้พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ตัวการก่อสุญญากาศการควบคุมโฆษณาบนจอทีวีไทย เหตุกสช.ยังไม่เกิดขาดองค์กรควบคุมดูแล โฆษณาแฝงเพียบ นักกม.แจงสคบ.ไม่มีอำนาจออกร่างประกาศฯ ด้านมีเดียมอนิเตอร์พบช่อง 3, 5, 7 และ 9 โฆษณาเกิน
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่ผ่านมา แผนงานสื่อเพื่อสุขภาวะเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายขับเคลื่อนสภาองค์กรผู้บริโภคสื่อ จัดเสวนาวิชาการทางกฎหมายเรื่อง “โฆษณาในรายการโทรทัศน์ องค์กรที่รับผิดชอบ และกติกาพื้นฐาน” ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อหาข้อเสนอกับมาตรการในการจัดการปัญหาการโฆษณาเกินกว่ากฎหมายกำหนด และสถานการณ์โฆษณาแฝง ระหว่างรอคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม (กสช.)มาดำเนินการ
ที่ประชุมมีข้อเสนอถึงการจัดการปัญหาเรื่องโฆษณาว่า ควรมีการกำหนดคำนิยามคำว่าโฆษณา โดยคำนึงถึงหลักการพื้นฐาน การประกอบการโดยไม่ค้ากำไรเกินควร การประกอบการค้าด้วยความโปร่งใส การโฆษณาที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคสื่อ องค์กรใดที่จะเข้ามารับผิดชอบในการคุ้มครองผู้บริโภค แนวปฏิบัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการโฆษณาข้อเสนอต่อสคบ.เปลี่ยนจากร่างประกาศเป็นกฎกระทรวง และแก้ไขคำนิยามของคำว่าโฆษณา
นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 5 ด้านหลักๆ 1) ผลจากม.3 ระบุให้ยกเลิกกฎหมายวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เดิมทั้งหมดรวมทั้งกฎหมายลูก โดยที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เขียนให้กฎหมายเดิมมีผล แต่มีส่วนใช้บังคับในบทเฉพาะกาล 2)เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บังคับใช้กฎหมายให้อำนาจเป็นกสช. ตามม.7 ซึ่งปัญหาคือกสช.ยังไม่เกิด 3)ใบอนุญาตเป็นเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ มีประเภทบริการสาธารณะ บริการชุมชน และกิจการธุรกิจ 4)ม.23 วรรค 1,3 กติกาการโฆษณาบริการธุรกิจสูงสุดต้องไม่เกิน 12.30 นาที/ชม.และเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดวันเฉลี่ยต้องไม่เกิน 10 นาทีต่อรายการ 60 นาที 5)เริ่มเห็นสัดส่วนรายการที่เป็นสาระมากขึ้นตามม.33
“ในบทเฉพาะกาล ม.78 หากกสช.ยังตั้งไม่เสร็จให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)ดำเนินการไปก่อน ทำให้ยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดบางเรื่อง เช่น การโฆษณาแฝง เพราะต้องรอกสช. มากำหนด ปัญหาคือในระหว่างช่วงว่างสุญญากาศของกฎหมายระหว่างรอกสช. ใครจะมารับผิดชอบจัดการจุดนี้”นายอิทธิพล กล่าว และว่า มีการถกเถียงกันมากว่าอะไรคือโฆษณา อะไรที่เรียกว่าโฆษณาแฝง อะไรคือสิทธิของผู้บริโภคสื่อที่ควรได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ สิทธิของผู้บริโภคสื่อที่ควรได้รับการคุ้มครองที่ควรมี คือ สิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับข้อมูลข่าวสารในการตัดสินใจที่เป็นจริง และไม่กระทบก่อความรำคาญ ได้รับเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ คุ้ม
ครองการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยในอุปกรณ์ ราคาที่เป็นธรรม การมีส่วนร่วมและได้รับการเยียวยา ชดเชยจากความเสียหายที่ได้รับ ซึ่งน่าจะเป็นกติกาพื้นฐานหลักในการจัดการเรื่องโฆษณา
ด้านนายอภิชิต ลายสนิทเสรีกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า ร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องแนวทางการปรากฏของสินค้าในเนื้อหารายการทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2 ลักษณะ เชิงรูปแบบขัดรัฐธรรมนูญในม.29 คือ ไม่บอกแหล่งที่มาของอำนาจในการจำกัดสิทธิราษฎร และเชิงเนื้อหาขัดกับเจตนารมณ์พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เพราะว่า สคบ.ไม่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลแต่มีหน้าที่ตรวจสอบ
นายอภิชิต กล่าวอีกว่า กฎหมายเป็นกลไกหนึ่งของสังคม ถ้ากฎหมายยังไม่ทำงานแสดงว่ายังมีกลไกอื่นทำงานอยู่ ตนเห็นว่า องค์กรที่ต่อใบอนุญาตได้ต้องคุมรายละเอียดทางการต่อใบอนุญาต ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่ดูแล ขณะนี้ถ้าสคบ.จะออกประกาศ ก็ต้องออกในกฎกระทรวงอาศัยอำนาจม.23 โดยรูปแบบ ถ้าเจตนารมณ์ต้องออกในเรื่องการตรวจสอบคุ้มครองสิทธิคุ้มครองผู้บริโภคตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ชัดเจนว่าทำได้ แต่การไปกำหนดรายละเอียดในเรื่องที่ไม่มีอำนาจ เป็นการออกประกาศที่ผิด
“สำหรับเรื่องโฆษณามีจุดสังเกต ประกาศฯนี้ในเชิงเนื้อหารายละเอียดเรื่องคำว่าโฆษณาประกาศนี้เปลี่ยนนิยามของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่ระบุว่าโฆษณาคือการกระทำไม่ว่าวิธีใดๆให้ประชาชนทราบข้อความเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่มาถึงข้อ 5 ของประกาศกล่าวถึงผู้สนับสนุนรายการที่เป็นชื่อสินค้าสัญลักษณ์หรือโลโก้ไม่นับเป็นเวลา ส่วนนี้ผมเห็นว่าเป็นโฆษณาแน่ กฤษฎีกาเป็นคนยืนยันตามหลักการตามกฎหมายควรนับเวลารวม จุดสมดุลของการพูดคือทางฝั่งผู้บริโภคชัดเจนว่า โฆษณาแฝงคือโฆษณาแล้วหรือไม่ มีเจตนานับเวลารวม แต่ผู้ผลิตคงจะมองว่าถ้านับเวลารวมเขาจะอยู่ลำบาก”
ขณะที่ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า เราต่างคนไม่ควรจะทำตัวเป็นตำรวจไล่จับขโมย และไม่ควรจะมีใครทำตัวเป็นขโมยในสังคม เรื่องแบบนี้สามารถคุยกันได้ หลักการของการโฆษณานั้นโฆษณาตรงๆ ก็ควรจะยอมรับไปเลย ถ้าเวลาไม่พอก็คุยกันเรื่องเพิ่มเวลา ถ้าเวลาพอแล้วจบ มาคุยกันเรื่องโฆษณาแฝง ทั้งนี้ ไม่ควรจะมีการแฝงหากจะพูดถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์อนุญาตให้พูดได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่ง เหตุที่ไม่ควรจะมีโฆษณาแฝงนั้นเพราะเด็กหรือผู้ชมอาจไม่รู้ว่าคือโฆษณาหรือไม่
ส่วนพญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้จัดการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวถึงเรื่องโฆษณาแฝง ว่า เป็นประเด็นที่กรมประชาสัมพันธ์เคยถกเถียงแล้วโดยให้ช่องสถานีดูแลกันเอง แม้สถานีมีความพยายามจัดการเองบ้างแล้ว แต่ยังมีโฆษณาที่มีมากในรายการโทรทัศน์ ขณะที่กฎหมายยังไม่ระบุถึงโฆษณาแฝง
“ผลการศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยเดือนกันยายน พบว่า จาก 9 กลุ่มรายการซึ่งคัดเลือกกลุ่มรายการที่มีรูปแบบโฆษณาแฝง พบว่าโฆษณาตรงจากที่กำหนดชั่วโมงละ 12.30 นาทีนั้นเต็มจนล้น จนต้องขยับไปในโฆษณาแฝงในรายการ ซึ่งช่องบริการสาธารณะต้องไม่ควรโฆษณาเกินกิจการธุรกิจ พบช่อง 3 5 7 9 โฆษณาเกิน 240 นาทีต่อวันในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ยกเว้นช่อง 11 ที่ไม่ถึง 240 นาที และมีเพียงรายการถ่ายทอดและข่าวพระราชสำนักไม่มีโฆษณาแฝง”
พญ.พรรณพิมล ได้เสนอแนะทางออกว่า 1.กรณีของต่างประเทศมีการกำหนดให้โฆษณาตรงในสปอร์ตเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องยากในการตีความโฆษณาแฝง ถ้าไม่อยากยุ่งยากในการตีความก็กำหนดห้ามมีโฆษณาแฝง 2.รายการข่าว เด็ก สารคดี รายการสุขภาพ ไม่ควรจะมีโฆษณาแฝง 3.รายการอื่นๆ ควรให้มีสัดส่วนแฝงให้น้อยที่สุดไม่เอาเปรียบผู้บริโภคจนน่ารำคาญ 4.ควรมีกติกาที่ชัดเจนหากโฆษณาเกินกำหนด กฎระเบียบ มีบทลงโทษ กติการัดกุม เอาผิดชัดเจน 5.ควรตีความโฆษณาแฝงให้ชัดเจน และ 6.ควรมีการนับเวลาให้ชัดเจนจากสัญลักษณ์ด้วย
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาโฆษณาตรงของรายการละครปี 2548 โดยโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือมีเดียมอนิเตอร์ พบว่า 2ใน 3 ของละครฟรีทีวีมีโฆษณาตรงเกินกว่าที่กำหนด 12.30 นาที/ชม. มีการเกินอยู่เป็นระยะตลอดเวลาที่ผ่านมา พบโฆษณาแฝงในรายการเด็ก ทั้งกราฟิก สปอร์ตสั้น แฝงในตัววัตถุ ในเนื้อหา พิธีกร ตัวบุคคล แฝงเต็มรูปแบบมาร์เก็ตติ้งทุกชนิด และในละครซิทคอมแฝงในรูปแบบไลฟ์สไตล์ แฝงในรูปแบบธรรมชาติที่ผิดปกติเพื่อให้เห็นสินค้าชัดเจน มีวินโดวส์โลโก้ แฝงกับกิจกรรมเล่นเกมรายการ แฝงแบรนด์คอนเท้นต์ โฆษณาแฝงในหนึ่งรายการมีหลายวิธีมากขึ้นทำให้แฝงได้เนียนมากขึ้น และพบว่าประชาชนเริ่มรู้สึกว่าน่ารำคาญขึ้นเรื่อยๆ