นวัตกรรมแท่นพิมพ์-ปฏิวัติดิจิตอล อีก10ปี “ข่าว”จะเป็นสินค้ามากขึ้น
ดร.อุบลรัตน์ ชี้อีก10ปีดิจิตอลนำสื่อสู่การเป็นอุตสาหกรรม ข้อมูลข่าวสารสนเทศในรูปแบบใหม่ จะเป็นสินค้า ขณะที่เนื้อหาจะมีการควบคุมเข้ม ถูกเซ็นเซอร์มากขึ้น เพื่อทำให้สินค้าดูดี และขายได้
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)ปาฐกถา ในหัวข้อ"จากนวัตกรรมแท่นพิมพ์ถึงปฏิวัติดิจิตอล: อิสรภาพการสื่อสารอยู่ในมือใคร?" ในงานสัมมนานำเสนอผลการศึกษาเรื่องจินตนาการปฏิรูปสื่อในทศวรรษหน้า (Rethinking Media Reform: Integrated Media Policy 2010-2020) จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต มูลนิธิหนังไทย สนับสนุนโดย Heinrich Boll Foundation (HBF) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา
ประธานคปส. กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสื่ออีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้าว่า จินตนาการของสื่อในปีค.ศ.2020เป็นการเน้นให้เห็นระบบของสื่อมวลชนข้อมูลข่าวสารสนเทศในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นสินค้า และมีการก่อตัวเปลี่ยนแปลงให้เป็นอุตสาหกรรม มีระบบดิจิตอลเข้ามา และก่อให้เกิดการปฏิรูปองค์กรสื่อทั้งหมด
“เมื่อมีการปฏิรูปองค์กรสื่อก็จะมีการแบ่งผลงานแบ่งอำนาจหน้าที่ชัดเจน โดยเฉพาะฝ่ายการตลาดจะมีความสำคัญมีอำนาจกว่าฝ่ายผลิต นำไปสู่ทิศทางการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานตอบโจทย์ลูกค้าในสังคม ผู้ที่อยู่ในองค์กรก็จะมีความเป็นนักวิชาชีพแนวใหม่ อาจจะมีการแสวงหาความจริงน้อยลง แต่ทำงานมีมาตรฐานมากขึ้น นี่คือระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ที่สำคัญของนักวิชาชีพที่จะเข้าไปสู่อุตสาหกรรมที่มีการปรับปรุงใหม่”
ประธานคปส. กล่าวว่า เทคโนโลยีระบบดิจิตอลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิต ทั้งการพิมพ์ การแยกสี ระบบการถ่ายทำของสื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิทยุ ซึ่งล้วนต้องมีการลงทุนใหม่ทั้งหมด โดยการลงทุนใหม่นี้ควรเริ่มในระดับมหาวิทยาลัยที่จะผลิตนักวิชาชีพรุ่นใหม่ๆ ออกมา
“ส่วนเงินทุนได้มาจากที่ไหนนั้น จะได้มาจากทุนเก่าหรือทุนชาติ หรือจะแสวงหาความร่วมมือก็แล้วแต่ ในอีก10ปีข้างหน้าเมื่อมีกระบวนการเป็นอุตสาหกรรมแล้วจะผลิตอะไรออกมา ก็อยากที่จะส่งสินค้าเหล่านั้นออกต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคเอเชียหรือไกลกว่านั้น นี่คือเป้าหมายที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งจะมีการรวมศูนย์อำนาจของการเป็นเจ้าของและการควบคุม นอกจากที่รัฐกับสื่อจะร่วมมือกันแล้วจะร่วมกันสร้างการควบคุมโดยโครงสร้างใหม่ และทุนก็จะเข้าไปเป็นผู้ที่ควบคุมอำนาจรัฐอีกทอดหนึ่ง เพราะทุนต้องการอำนาจรัฐไปจัดการวางระเบียบกฎเกณฑ์ ”
รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงของสื่อและรัฐของไทย เห็นได้จากปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหม่ในระบบเสรีนิยมใหม่ที่รัฐเข้าไปลงทุนและการล่มสลายของทุนอย่างทันสมัยที่สุดไม่ว่าในสหรัฐอเมริกา ยุโรปหรือเอเชียโดยการเอาเงินเข้าไปอุดและจะเห็นความร่วมมือของทุนระบบใหม่ ที่จะผลักดันทุนไปข้างหน้าอย่างราบรื่น สำหรับปัญหาของนักวิชาชีพด้านเนื้อหาจะมีการควบคุมสูงถูกเซ็นเซอร์มากขึ้นแต่ทำให้ดูดีกว่าเดิมเพื่อให้สินค้าขายได้
“ทั้งหมดนี้คือเส้นเลือดของระบบทุนโลกาภิวัตน์หรือระบบเศรษฐกิจบริหารทุนนิยมตอนปลาย สื่อมวลชนเป็นโครงสร้างใหม่ที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นศูนย์กลาง มีการปฏิวัติดิจิตอลเป็นตัวผลักดัน คนที่เข้ามาควบคุมคือระบบทุน โดยที่คาดหวังว่า สื่อสารมวลชนใหม่จะเข้ามาต่ออายุให้ทุนนิยมเพื่อให้เกิดความเจริญเติบโต ต้องมองเรื่องสิทธิการสื่อสารให้เป็นหัวใจสำคัญของจินตนาการปฏิรูปสื่อในอนาคต มองถึงความเท่าเทียมการมีส่วนร่วมการกำกับดูแลการควบคุมต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทั้งของสื่อและของรัฐว่าอำนาจารควบคุมไม่ได้อยู่ที่รัฐหรือทุนแต่อยู่ที่ผู้บริโภคทุกคนในสังคม” ประธานคปส. กล่าว