หมอประเวศแนะสื่อทำได้ รู้เท่าทันนักการเมืองที่มีวาระแฝง
หมอประเวศแนะนำหลักคำสอนเรื่องวจีสุจริตมาใช้ในการสื่อสาร“บัณฑูร” ฝากสื่อเสนอข่าวที่มีอารมณ์แล้วต้องให้แง่คิดให้ผู้บริโภคด้วย เทพชัยมั่นใจข่าวดีที่มีประโยชน์ขายได้ ขณะที่ว.วชิรเมธี หวั่นสื่อไม่จริยธรรมจะกลายเป็นสื่อมอมชน
เมื่อวันที่ 23 พ.ย.52 ที่หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยพลโยธิน 5 มีการจัดงานปาฐกถาประจำปี 2552 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ “สื่อมวลชน เพื่อนร่วมสร้างโลก” โดยมีนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการผู้จัดการ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ร่วมเสวนา
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า สังคมไทยในปัจจุบันมีความซับซ้อน เป็นสังคมแห่งอำนาจ การที่จะหาทางออกในการแก้ปัญหาจึงต้องเปลี่ยนเป็นสังคมแห่งความรู้ ซึ่งการที่จะให้เป็นสังคมแห่งความรู้นั้นสัมฤทธิ์ผลได้ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสาร การสื่อสารที่ดีต้องทำให้ผู้สื่อสารโดยเฉพาะสื่อมวลชนมีความรู้ลึกรู้จริง และนำหลักคำสอนในพระไตรปิฎกเรื่องวจีสุจริตมาใช้
“การสื่อสารที่ดีต้องประกอบด้วย วจีสุจริต พูดจริง สุภาพ และรู้กาลเทศะ แต่ปัจจุบัน กลับพบการพูดมุสาและไม่เกิดประโยชน์จำนวนมาก จนมีแต่เรื่องความแตกแยก ผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนต้องรู้จักกลั่นกรอง นำวจีสุจริตไปสู่มวลชน อีกทั้งต้องรู้เท่าทันนักการเมืองที่มีวาระแฝง ที่สำคัญ สื่อควรยกระดับความรู้ และควรมีมหาวิทยาลัยให้ทุนสนับสนุนสื่อ”ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
กรณีสื่อมวลชนส่วนใหญ่มักจะเสนอข่าวเกี่ยวกับความแตกแยก หรือด้านลบนั้น ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า สื่อมวลชนลืมมองในสังคมยังมีเรื่องดีๆ อีกมากมาย แต่สื่อไม่ค่อยให้ความสนใจ เนื่องจากสื่อมวลชนอยู่ในระบบอำนาจ เช่น การเสนอข่าวเกี่ยวกับนักการเมืองมากเกินไป ซึ่งก่อนที่สื่อจะถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชนจะต้องกลั่นกรอง รู้ทัน ก่อนนำเสนอออกไป
ขณะที่นายบัณฑูร กล่าวว่า สื่อมวลชนมีอำนาจสูง แต่ผู้บริโภคสื่อชอบสีสันและอารมณ์เป็นหลัก หากสื่อนำเสนอแต่ความจริง ก็จะขาดผู้บริโภค และอยู่ได้ยากทางธุรกิจ ดังนั้น ต้องชั่งน้ำหนักให้ไปรอดทั้งสองทาง
“สื่อเป็นสถาบันที่มีอำนาจทางความคิด เสนอข่าวสนองความต้องการของสังคม การมีอำนาจไม่ใช่สิ่งผิด สำคัญที่จะใช้อำนาจนั้นไปในทิศทางใดเพื่อประโยชน์ส่วนตัวทางธุรกิจหรือเพื่อสังคม จะเห็นได้ว่าตอนนี้สังคมไทยจะบริโภคอารมณ์เป็นหลัก สื่อเป็นธุรกิจก็ต้องหาผลกำไร สนองความต้องการผู้บริโภค แต่การเสนอข่าวที่มีอารมณ์แล้วก็ต้องมีสาระ มีแง่คิด ให้ผู้บริโภคด้วย”นายบัณฑูร กล่าว
ส่วนนายเทพชัย กล่าวถึงสื่อในปัจจุบันว่า ให้ความสนใจเรื่องที่ไม่ควรจะเป็นข่าว สนใจแต่การรายงานข่าวที่เป็นปรากฏการณ์ โดยลืมว่าข่าวดีที่มีประโยชน์ต่อสังคมก็ขายได้ ดังนั้นสื่อต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อหาข่าวดีๆ หรือสิ่งดีเสนอสู่สังคมควบคู่กับการที่สื่อต้องมีจริยธรรมในการทำงาน
“การที่จะเป็นปูชนียบุคคลได้นั้น สื่อต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม ทำตัวให้เป็นที่น่าเชื่อถือยอมรับของสังคม รวมทั้งต้องรู้บทบาทหน้าที่รู้สถานะที่จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความเห็นแก่ตัว การโกงการทุจริตทางสังคมและยอมรับกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่จะเกิดขึ้นหรือแม้แต่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมข่าวสารเทคโนโลยี”ผอ.ส.ส.ท.กล่าว
ด้านพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย กล่าวถึงหน้าที่ของสื่อมวลชนว่า ทุกวันนี้สื่อมวลชนมีอำนาจที่จะทำสิ่งใดก็ได้ สังคมจะไปในทิศทางไหนก็มาจากพลานุภาพของอำนาจสื่อ ถ้าสื่อไม่จริยธรรม เท่ากับว่าสื่อมีโอกาสเป็นสื่อมอมชนไม่ใช่สื่อมวลชน ดังนั้นสื่อต้องเป็นเสาหลักที่เสนอความเป็นกลางความถูกต้องและสมดุลให้เกิดในสังคม
“ต้องช่วยกันทำสิ่งที่วิปลาสในสังคมให้กลับสู่ความถูกต้อง ทำเพื่อให้ออกไปรับใช้คนอื่น ไม่ใช่กอบโกยเพื่อตนเอง สื่อต้องเป็นผู้ให้ เป็นผู้มีจิตสำนึกรับใช้ประชาชนไม่ใช่รับใช้ทางธุรกิจ เสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ถูกต้องแก่ประชาชน มีทัศนะคติเข็มทิศทางจริยธรรมปกป้องสังคมจากสิ่งไม่ดี รวมถึงต้องช่วยกระตุ้นค่านิยมด้านยศ ทรัพย์ อำนาจของประชาชนให้ลดน้อยลง ถ้าสื่อทำสิ่งเหล่านี้ได้เท่ากับว่าได้ทำหน้าที่สมดังเป็นปูชนียบุคคลได้ในระดับหนึ่งแล้ว”พระอาจารย์ว.วชิรเมธี กล่าว