ภาคีสื่อย้ำสื่อดีต้องหลากหลาย-สนองปชช.-เน้นการมีส่วนร่วม
พร้อมเข็นวัฒนธรรมใช้สื่อสร้างสรรค์-รู้เท่าทัน ขณะที่ “ผอ.สบท.”จี้รัฐผลิตองค์กรคุมเนื้อหาสื่อโทรคมฯ เผยเหตุมอมเด็ก-เยาวชน ด้านนักวิชาการ มช. แนะสร้างหลักสูตรเท่าทันสื่อ
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สยย.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ภายใต้งบสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดมหกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการรวมเครือข่ายคณะทำงานสื่อเพื่อเด็กในประเทศไทย เพื่อประมวลสถานการณ์สื่อในปัจจุบัน และนำเสนอรูปแบบการทำงานของสื่อเพื่อเด็ก
สำหรับเวทีสัมมนาเรื่อง “พลังภาคี หนุนกองทุนสื่อดี เพิ่มพื้นที่สื่อสร้างสรรค์” มีรศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพร นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ และดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ร่วมเสวนา
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสื่อที่ดีว่า จะต้องสนองตอบประโยชน์สาธารณะ มีการจัดโครงสร้างและจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้อย่างหลากหลาย เสรี เจ้าของสื่อควรมีทั้งสื่อสาธารณะที่ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของได้ มีสื่อพาณิชย์ที่รับผิดชอบต่อสังคม และมีสื่อภาคประชาชน
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า แนวทางในการสร้างระบบสื่อที่ดีนั้น ทำได้โดย 1.ต้องมีกลไกกำกับดูแลโครงสร้างและการแข่งขันที่เป็นธรรม 2. มีกลไกดูแลเนื้อหาของสื่อ มีมาตรการสื่อสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนด้วยสื่อภาคประชาชน 3.มีสภาวิชาชีพและจรรยาบรรณที่เข้มแข็งให้สื่อดูแลกันเองได้ 4.มีกลไกอิสระของผู้บริโภคสื่อหรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ และ5.ต้องมีกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งต้องมีครบทุกองค์ประกอบ
“ร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดสื่อดี และผู้ผลิตสื่อดีในสังคม เกิดจากการผลักดันของเครือข่ายเยาวชนและครอบครัว ที่เดินหน้าต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 น่ายินดีว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มี พ.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ เป็นประธาน และนายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม เป็นรองประธาน จัดเรื่องกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นวาระสำคัญ ขณะนี้คณะกรรมการสื่อปลอดภัยฯ ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์ แล้ว ขั้นตอนจากนี้ คือให้ รมว.วัฒนธรรม นำเสนอเข้า ครม. และไปสู่สภาฯตามขั้นตอน ขณะที่งบประมาณ ส่วนหนึ่งจะมาจากร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่ได้กำหนดให้จัดสรรงบประมาณ 5% ให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ฯ และสนับสนุนกองทุนสื่อสร้างสรรค์ โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีความคืบหน้าไปมาก”รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว และว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยในมิติการพัฒนาสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน จะเน้นการระดมความคิดเห็น สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
ด้านนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพร ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า ปัจจุบันการเชื่อมโยงสื่อหลายประเภททำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าสู่สื่อที่มีความรุนแรงเรื่องเพศ และการพนันได้ง่ายมาก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์บนมือถือที่ใช้งานได้ทุกแห่ง จากสถิติพบว่า คนไทยใช้มือถือระบบเติมเงินกว่า 90% ส่วนใหญ่ไม่จดทะเบียนซิมการ์ด ทำให้ยากแก่การตรวจสอบการใช้งานของเด็กและเยาวชน เนื่องจากขาดการกำกับดูแลในเนื้อหาของโทรคมนาคมที่ทั่วถึง ผิดกับต่างประเทศที่กำหนดเนื้อหาผู้ใหญ่ว่าจะส่งได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าผู้รับเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะจริงแล้วเท่านั้น
นพ.ประวิทย์กล่าวอีกว่า การขาดมาตรการดูแลเนื้อหาสื่อโทรคมนาคมนี้ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ เนื้อหาสื่อของผู้ใหญ่จะทะลักสู่เด็กและเยาวชน เกิดภาวะเด็กติดเกมส์และอินเทอร์เน็ต สร้างรายจ่ายฟุ่มเฟือยจากธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเกิดการรบกวนความเป็นส่วนตัวจากสื่อหลากหลายประเภท ดังนั้นรัฐควรตั้งองค์กรขึ้นมาควบคุมเนื้อหาส่วนนี้ และสร้างค่านิยมให้ผู้บริโภคสื่อร่วมดูแลและควบคุมสื่อ ไม่พึ่งเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียว เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถคุ้มครองคนทั้ง 63 ล้านคนได้อย่างทั่วถึง
ส่วนนายอิทธิพล ปรีติประสงค์ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการพัฒนาสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนว่า ต้องเริ่มจากส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ที่มีรูปแบบและปริมาณที่หลากหลายโดยเฉพาะสื่อทางเลือก สร้างความรู้การผลิตสื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถร่วมผลิตกับชุมชนได้ เน้นประชาชนมีส่วนร่วมส่งเสริมทุนสนับสนุนสื่อดีด้วยเงิน เวลา หรือ การประชาสัมพันธ์ และเร่งสร้างวัฒนธรรมการใช้สื่อแบบสร้างสรรค์และรู้เท่าทันสื่อ
ขณะที่ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ อาจารย์ประจำคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า วันนี้เราควรฝึกให้เด็กและเยาวชนวิพากษ์สื่อให้เป็น เพื่อรู้เท่าทันป้องกันการถูกครอบงำจากสื่อ ควรสร้างหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อทุกระดับไม่เพียงสอนการผลิตสื่อที่ดีเท่านั้น ซึ่งแนวทางรู้เท่าทันสื่อทำได้ คือ ต้องรู้ไว้เสมอว่าสื่อทุกสื่อถูกสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์หรืออำนาจบางอย่าง ด้วยการสร้างสรรค์ภาษาเฉพาะตัวของแต่ละสื่อ และมักจะแฝงทัศนคติบางอย่างด้วยเสมอ และประสบการณ์ที่ต่างกันของผู้รับก่อให้เกิดสารที่ต่างกันด้วย