รมว.วธ.มั่นใจปีนี้เกิดแน่ กองทุนสื่อสร้างสรรค์
พร้อมดันสุดลิ่ม “หมอประเวศ” แนะเพิ่มพื้นที่สื่อเพื่อเด็ก-เยาวชน ต้องเริ่มจากชุมชน เสนอดึงมหาวิทยาลัย-ภาคเอกชน-รัฐวิสาหกิจร่วม วอนรัฐสร้างกองทุนสื่อเพื่อเด็ก ย้ำสร้างกระแสคุณค่าให้เกิดแก่สังคมก่อน
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สยย.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดมหกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 มีนายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมภาคีเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งรมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า วันนี้พฤติกรรมเด็กและเยาวชนไทยเปลี่ยนไปมาก สื่อมวลชนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างพฤติกรรมเลียนแบบด้านเพศ ภาษาและความรุนแรง ซึ่งขัดต่อบรรทัดฐานของสังคม เหตุนี้จึงต้องเร่งผลักดันให้มีการเปิดพื้นที่แก่สื่อเพื่อเด็ก อีกทั้งต้องเร่งสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ สร้างกลไกหลักในการขับเคลื่อน ตอนนี้มี 14 หน่วยงานหลัก
นายธีระ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้เร่งร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างสื่อสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนแล้ว เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนทั่วประเทศ จากนั้น จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งตนพร้อมจะผลักดันให้กองทุนสื่อสร้างสรรค์ เกิดขึ้นให้ได้ในรัฐบาลชุดนี้ภายในปี 2552
จากนั้น ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ปฏิรูปประเทศไทยด้วยสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชน” โดยเสนอว่า การเพิ่มพื้นที่สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนต้องเริ่มจากชุมชน ทั้งนี้ต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้สังคมตระหนักในคุณค่าของการมีสื่อดีเพื่อเด็กก่อนเป็นอันดับแรก
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทย ด้วยสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชน ว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนเด็กปฐมวัยกว่า 4.2 ล้านคน หากรวมเยาวชนก็เป็นจำนวนกว่า 14 ล้านคน ดังนั้นการลงทุนเรื่องเด็กและเยาวชนจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาชาติ เนื่องจากเด็กคืออนาคตของชาติ สังคมต้องร่วมกันพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน โดยใช้เครื่องมือด้านการสื่อสารที่มีอิทธิพลและสามารถเข้าถึงจิตใจเด็กได้ดี ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาสื่อเพื่อเด็กนั้นเป็นการพัฒนาแบบตัดขาด ไม่วิเคราะห์และแก้ปัญหาทั้งระบบอย่างเชื่อมโยงกัน ไม่พัฒนาจากรากฐานชุมชนที่มั่นคงแต่เป็นการพัฒนาจากยอดระดับชาติลงมา
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงแนวทางการเปิดพื้นที่ให้แก่สื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชนว่า ทำได้โดยสร้างพื้นที่สื่อจากระดับชุมชนสู่ระดับชาติ คือ สร้างชุมชนรักการอ่านแก่เด็กและเยาวชนในกว่า 76,000 หมู่บ้านทั่วประเทศเพื่อตัดวงจรอุบาทว์ของการอ่านหนังสือน้อย ต้องสร้างศูนย์การเรียนรู้ตำบล โดยจัดให้มีห้องสมุดที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ มีพิพิธภัณฑ์ตำบล ศูนย์ศิลปะ ศูนย์กีฬา และศูนย์การเรียนรู้พิเศษ ให้เด็กและเยาวชนสามารถค้นคว้า เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้และผลงานของตนเองระหว่างกันในชุมชนได้ พร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงไปสู่ระดับอำเภอและจังหวัด ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนรักในท้องถิ่น
ราษฎรอาวุโส กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ต้องมีคณะทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนในระดับจังหวัด คอยขับเคลื่อนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนในระดับชาติต้องใช้สื่อทุกประเภทและศิลปะทุกชนิด เช่น สื่อวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ภาพยนตร์ เพื่อเข้าถึงจิตใจเด็กไม่ยึดเพียงวิชาการ ต้องจัดการเนื้อหาของสื่อต่างๆให้เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชน ทั้งควรดึงมหาวิทยาลัยกว่า 100 แห่งทั่วประเทศตั้งศูนย์ความรู้เพื่อเด็กและเยาวชน และมูลนิธิสร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กและเยาวชน
“ เราต้องสร้างภาคีสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งรัฐ ธุรกิจเอกชน และรัฐวิสาหกิจ สร้างความร่วมมือในการรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งสร้างธุรกิจเพื่อสังคมให้มากขึ้น และสุดท้ายรัฐต้องสร้างกองทุนสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชน โดยอาศัยกลไกการทำงานที่เป็นรูปธรรมจากขั้นต้น เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มทุนและผู้มีอำนาจ โดยกองทุนนี้ภาคีเครือข่ายจะเป็นเจ้าของและดูแลจัดการทุนร่วมกัน”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยไม่ตระหนักในคุณค่าของการมีสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กและเยาวชน ดังนั้นคณะทำงานในระดับชาติต้องสร้างความเข้าใจแก่สังคมว่า การมีสื่อดีๆ เพื่อเด็กนั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อพฤติกรรมและกระบวนการคิดของเด็ก และสำคัญเพียงใดต่อการพัฒนาประเทศ ต้องสร้างกระแสคุณค่านี้ให้เกิดขึ้นก่อน