ก.ไอซีทีเล็งทอนเป้าหลังพบคนไทยแค่8% เข้าถึง-ใช้ไอซีทีได้
เร่งเครื่องผลักดันไทยสู่ “สังคมอุดมปัญญา” ให้ได้ตามแผนแม่บทไอซีที2 มุ่งพัฒนาคน-โครงข่าย-สร้างธรรมาภิบาลการจัดการ ขณะที่หมอประเวศชี้เหตุคนไทยเข้าไม่ถึงและไม่สามารถใช้งานไอซีทีได้ เพราะค่าใช้จ่ายยังสูง
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ณ ห้องประชุม1 ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดประชุมโครงการปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 22 หัวข้อ “ผลักดันไทยสู่สังคมอุดมปัญญาด้วยแผนแม่บทไอซีที” นำเสนอโดยนางเมธินี เทพมณี ซึ่งมีศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสเป็นประธาน พร้อมนักวิชาการทรงคุณวุฒิร่วมให้ความสนใจอย่างคับคั่ง
ในที่ประชุมมีความเห็นว่า แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศฉบับที่ 2 นี้จะผลักดันให้สังคมไทยไปสู่สังคมอุดมปัญญาได้ ต้องเริ่มที่การขยายโอกาสในการเข้าถึงและขยายฐานการใช้ไอซีทีของทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มคนในชนบท ให้เข้าถึงและใช้ทรัพยากรได้อย่างเท่าทันและเท่าเทียมกัน ซึ่งต้องยึดยุทธศาสตร์พัฒนาคนที่แท้จริง ไม่มุ่งวัดเฉพาะผลกำไร การแข่งขัน ควรมุ่งผลการนำไปใช้ประโยชน์แก่สังคมจริงแทน
นางเมธินี เทพมณี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายยุทธศาสตร์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับที่ 2 ระหว่างพ.ศ.2552-2556 ประกาศใช้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่าน โดยวิสัยทัศน์ระบุว่า ประเทศไทยจะต้องเป็นสังคมอุดมปัญญาด้วยไอซีที หรือ Smart Thailand บนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนทุกระดับต้องมีความเฉลียวฉลาด รอบรู้สารสนเทศ สามารถเข้าถึงและใช้สารสนเทศได้อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้และนวัตกรรมอย่างมั่นคงยั่งยืน
นางเมธนี กล่าวถึงแผนแม่บทฯ ฉบับนี้ว่า มีเป้าหมายหลัก 3 ข้อ คือ ประการแรกประชาชนอย่างน้อย 50% ต้องสามารถเข้าถึงและใช้ไอซีทีได้อย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน ซึ่งปัจจุบันจากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2551 สำรวจ พบว่า มีคนไทยเพียง 8% ที่สามารถเข้าถึงและใช้งานไอซีทีได้อย่างมีวิจารณญาณ
“ประการที่สองประเทศไทยสามารถยกระดับความพร้อมด้านไอซีทีใน Networked Readiness Rankings ให้อยู่ในกลุ่ม Top 25% ได้ แต่ขณะนี้อยู่ในกลุ่มรองลงมา และประการสุดท้ายประเทศไทยต้องมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมไอซีทีต่อ GDP ไม่น้อยกว่า 15% ทั้งหมดจะดำเนินการผ่าน 6 ยุทธศาสตร์ คือ เร่งพัฒนากำลังคนด้านไอซีทีให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ สร้างระบบจัดการที่มีธรรมาภิบาล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอซีที ใช้ไอซีทีสนับสนุนให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารและบริการของรัฐ พัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไอซีที และใช้ไอซีทีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน”
ผู้อำนวยการสำนักนโยบายยุทธศาสตร์ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญแผนแม่บทฯ ฉบับนี้มุ่งพัฒนาสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ มุ่งพัฒนากำลังคนให้เข้าถึงและใช้ทรัพยากรไอซีทีอย่างรู้เท่าทัน สร้างการบริหารจัดการระดับชาติภายใต้หลักธรรมาภิบาล กระจายสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม และมุ่งเร่งพัฒนาโครงข่ายความเร็วสูงและโครงข่ายพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้ยังมีไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง ทำให้การพัฒนาและการใช้ประโยชน์ไอซีที เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ การพัฒนาธุรกิจ การให้บริการของภาครัฐ ไม่สามารถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากแผนแม่บทฯ ฉบับแรกไม่สามารถบรรลุพันธกิจดังกล่าวได้
ขณะที่ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานกลุ่มเครือข่ายสถาบันทางปัญญา กล่าวว่า ขณะนี้ระบบจัดการไอซีทีไทยยังขาดการบริหารจัดการที่ดี คือ มีข้อมูลที่ดีแต่ไม่มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลมาใช้ประโยชน์ระหว่างหน่วยงานได้จริง พร้อมยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่มีการจัดการระบบข้อมูลประชากรที่ดีมาก ใครทำผิดสามารถติดตามตัวมารับโทษโดยเร็วได้ ซึ่งไทยยังไม่มี
“นอกจากนี้พบว่า สาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงและใช้งานไอซีทีได้นั้น เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการเข้าถึง ปัญหานี้เสมือนคอขวดราคาถ้าแก้จุดนี้ได้จะทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงและใช้งานได้กว้างมากขึ้น ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรนี้ได้”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า เราควรสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนโดยยึดหลักส่งเสริมการอ่าน ควรสร้างห้องสมุดที่สามารถเข้าถึงสื่ออินเตอร์เน็ตในกว่า 76,000 ตำบลทั่วประเทศ โดยการร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลกับรัฐ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และศูนย์การเรียนรู้ตำบาลนี้ควรประกอบด้วย ห้องสมุดที่สามารถใช้งานไอซีทีได้ ควรมีพิพิธภัณฑ์ตำบล ศูนย์ศิลปะ ศูนย์กีฬา และศูนย์การเรียนรู้พิเศษสำหรับแลกเปลี่ยนความชำนาญเฉพาะด้านของชุมชน
ด้านศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและนักวิชากร กล่าวถึงแผนแม่บทฯ ฉบับนี้ว่า เน้นเพียงการใช้เครื่องมือ ไม่เน้นการใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรจากเทคโนโลยี และยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องการลดการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศในทางที่ผิด ทำให้การดำเนินงานพัฒนาไอซีทีของไทยไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกกระทรวง ทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะมุ่งเพียงความต้องการขายไอซีทีไม่ตระหนักถึงความต้องการซื้อของผู้ใช้อย่างแท้จริง ยังยึดการจัดอันดับตัวเลขในแง่อุตสาหกรรมและพาณิชย์ โดยไม่ตระหนักถึงแง่การนำไปใช้ประโยชน์แก่สังคมเท่าใดนัก ส่งผลให้การพัฒนาไม่ครบองค์ประกอบที่แท้จริง
“เรายังมองเทคโนโลยีในรูปแบบเก่าๆ ว่ากลุ่มผู้ใช้ต้องเป็นกลุ่มคนทันสมัย โดยลืมคำนึงถึงกลุ่มผู้ใช้ในชนบท เราไม่ได้พัฒนายกระดับสังคมชาวชนบทให้สามารถเข้าถึงสื่อเหล่านี้ได้ โดยยังมองการพัฒนาไอซีทีเพียงอุปกรณ์และโปรแกรม ไม่มองการนำไปใช้งาน ดังนั้น ควรสร้างมาตรฐานการใช้งานไอซีทีให้เป็นมาตรฐานสากลสำหรับทุกคน เช่น ควรคำนึงถึงการเข้าถึงและการใช้งานของคนตาบอดด้วย และที่สำคัญเราจะทำอย่างไรให้เกิดการขยายกลุ่มผู้ใช้ไอซีทีให้มากกว่าในปัจจุบัน รวมถึงการขยายนำไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นด้วย” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ส่วนนายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้สังคมไทยในชนบทกลุ่มผู้ใช้ทรัพยากรนี้ยังไม่สามารถมีสิทธิเข้าถึงและการใช้งานไอซีทีได้ จึงเกิดคำถามว่าทำอย่างไรคนในชนบทจะเข้าถึงและใช้งานโดยทั่วกัน ได้ เห็นได้ชัดว่าแผนแม่บทฉบับที่ 2 นี้มุ่งที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนที่แท้จริง ยังเป็นการพัฒนาคนเฉพาะกลุ่ม เราไม่ควรมุ่งหวังเพียงกำไร ควรวัดประโยชน์การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้จริงจะดีกว่า.