เวทีระดมความเห็นสื่อจุดประกายปฏิรูป 5 ประเด็นร้อน
กลุ่มปฏิรูประบบอำนาจรัฐ เสนอให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น กลุ่มปฏิรูปการศึกษา วอนนักการเมือง เป็นแบบอย่างที่ดี เลิกคอร์รัปชั่น กลุ่มปฏิรูประบบยุติธรรม ยื่นข้อเสนอตั้งองค์กรตรวจสอบกรมที่ดิน และให้โอกาสการศึกษาคนกลุ่มน้อย
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม คณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาการปฏิรูป ร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อ จัดเวทีระดมความคิดเห็นสื่อมวลชน “จุดประกายการปฏิรูปโดยพลังการสื่อสาร” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดเห็นจากกลุ่มเสวนาหาแนวทางการปฏิรูปประเทศ โดยมี 5 ประเด็นในการระดมความคิดเห็น ได้แก่ การปฏิรูประบบยุติธรรม การปฏิรูประบบภาษี ปฏิรูประบบสวัสดิการ การปฏิรูประบบการศึกษา และการปฏิรูประบบอำนาจรัฐ
จากนั้นมีการสรุปผลการระดมความคิดเห็น เริ่มจากตัวแทนกลุ่มปฏิรูประบบอำนาจรัฐ นายเถกิง สมทรัพย์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ นำเสนอความคิดเห็นจากการประชุมว่า ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเห็นว่า การเลือกตั้งในท้องถิ่นต้องโปร่งใส ควรลดอำนาจองค์กรปกครองท้องถิ่นลง เพื่อให้อำนาจลงไปถึงชุมชนอย่างแท้จริง และรัฐบาลควรเขียนนโยบายการกระจายอำนาจที่มีกลไกสร้างความเข้มแข็งในชุมชนอย่างชัดเจน โดยจัดระบบการตรวจสอบเพื่อสร้างความโปร่งใส ขณะที่สื่อในท้องถิ่นควรมีอิสระจากอำนาจรัฐเพื่อทำหน้าที่เสนอความรู้และความถูกต้องให้ประชาชน
ด้านนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ตัวแทนจากกลุ่มปฏิรูประบบการศึกษา นำเสนอความคิดเห็น พร้อมข้อเสนอแนะว่า นักการเมืองควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ครู และนักเรียน รวมถึงต้องเลิกคอรัปชั่น ทั้งนี้ควรกระจายอำนาจการศึกษาให้ส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ตลอดจนการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาให้กับคนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ คนพิการ และคนจน ดึงการเปลี่ยนแปลงของสื่อใหม่มาบูรณาการกับการศึกษา และใช้การบริหารจัดการ เครื่องมือ เทคโนโลยี รวมถึงทักษะใหม่ๆ เข้ามายังท้องถิ่น
"ปฏิรูปการศึกษา ต้องกลับไปแก้ที่พื้นฐาน มองตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาล อีกทั้งที่ผ่านมาระบบการศึกษาไม่เคยมองให้เชื่อมโยงโลกาภิวัฒน์ สนใจให้การศึกษากลับไปที่พื้นที่อย่างเดียว ดังนั้นปฏิรูปต้องมีกรอบคิดใหม่ๆ ในการจัดการศึกษา"
ส่วนนายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เสนอความคิดเห็นจากกลุ่มปฏิรูประบบภาษี และระบบสวัสดิการ ว่า ขณะนี้ภาคประชาสังคมหรือประชาชนทั่วไปยังมองเรื่องของการปฏิรูปเป็นเรื่องที่ไกลตัว ดังนั้น ต้องสร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการร่วมกันปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ในด้านการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิรูปผ่านสื่อยังมีพื้นที่ในการนำเสนอเพียงเล็กน้อย ดังนั้นจึงควรมีการเพิ่มพื้นที่สื่อในการนำเสนอให้มากขึ้น ส่วนเรื่องของระบบทรัพย์สินรายได้นั้น ภาครัฐต้องดูแลจัดสรรการลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนได้ทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงการเปิดช่องการลดหย่อนให้สิทธิเฉพาะกับคนรวย
ขณะที่ ด.ต.อัครวัฒน์ วลัยศรีสง่า วิทยุชุมชน 104.5 อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ตัวแทนจากกลุ่มยุติธรรมชุมชน เสนอว่า ปัญหาคนจนถูกกดขี่ และความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหลัก ที่สื่อจะต้องให้ความสำคัญในการกลับไปคิดว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร ทั้งที่เกี่ยวกับเรื่องศาล กระบวนการยุติธรรม และควรให้ความสำคัญ หรือมีพื้นที่ให้กับคนพิเศษ เช่น ผู้พิการ และนำเสนอข่าวความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย อีกทั้งเสนอให้มีองค์กรตรวจสอบกรมที่ดินในการให้ประชาชนถือครองที่ดิน ส่วนบุคลากรด้านความยุติธรรมควรถูกปลูกฝังให้มีจิตอาสาในการทำงานให้ส่วนรวมไม่ควรฝักใฝ่ฝ่ายใด นอกจากนี้ระบบการประกันตัวโดยหลักทรัพย์ของกรมราชทัณฑ์ควรจะพิจารณาใหม่ เพราะสร้างความเสียเปรียบให้กับคนจน