“บุญเลิศ” อัดสื่อไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกระจก เหตุถูกครอบงำจากอำนาจรัฐ นายทุน ธุรกิจ
จี้ปลดแอกให้คนทำสื่อมีอิสระ เปิดพื้นที่ให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วม ขณะที่ดร.วรัญญู ตั้งคำถามเนื้อหา ข่าวสารในสื่อใหม่ มีความน่าเชื่อถือ มีจริยธรรมในการนำเสนอ หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากน้อยแค่ไหน
วันที่ 25 พฤศจิกายน มีเสวนาวิชาการ CITU FORUM ครั้งที่ 13 เรื่อง “ นวัตกรรมการบริหารสื่อสมัยใหม่กับจริยธรรมทางสังคม ” เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยวิเคราะห์เจาะกระแสผ่านสื่อสมัยใหม่ Social Media- Social Network , BB, SMS, Hi5 และผลกระทบการนำเสนอข่าวที่สะท้อนให้เห็นสภาพไร้จริยธรรมของสังคมไทย ณ ห้องบรรยาย CITU 513 ชั้น 5 อาคารอเนกประสงค์ 3 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดร.วรัญญู สุจิวรพันธ์พงศ์ อาจารย์พิเศษวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงนวัตกรรมการบริหารสื่อสมัยใหม่กับจริยธรรมทางสังคม ว่า ปัจจุบันการเสพสื่อมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากยุคเก่าที่มีคนสร้างเนื้อหาอยู่ฝ่ายเดียวและนำขึ้นเผยแพร่ จนได้เข้าสู่เทคโนโลยี web 2.0 ซึ่งก็คือสิ่งที่เราคุ้นเคยและใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ คนที่เสพเนื้อหากับคนที่สร้างเนื้อหา เป็นคนๆ เดียวกัน เป็นทางเลือกให้คนสื่อสารข้อมูลในมุมมองของเราเองได้ ตามความเห็นของเราเอง
“เราสามารถใช้พื้นที่ในสื่อใหม่แสดงความคิดเห็น หรือบทวิเคราะห์อะไรก็ได้ นับว่าลดต้นทุนในการผลิตเว็บไซต์ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้สื่อหนังสือพิมพ์มียอดขายลดลง และยอดการชมรายการทีวีก็น้อยลงไปด้วย”
ดร.วรัญญู กล่าวว่า ปัจจุบันผู้นำเสนอเนื้อหา ข่าวสารในสื่อใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักข่าว แต่ก็สามารถวิพากษ์ วิจารณ์เรื่องราวต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือละคร ซึ่งเป็นไปได้ยากในสื่อสมัยก่อนที่มีช่องทางจำกัด แต่สำหรับสื่อยุคใหม่นอกจากจะมีช่องทางจำนวนมากแล้ว ยังสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เพราะความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะจากผู้ใช้ด้วยกันเองจะมีอิทธิพลทางความคิดสูงกว่าจากผู้ประกอบการ สื่อหลัก หรือรัฐ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อถือที่ลดลง แต่สิ่งที่ต้องจับตามองคือเนื้อความต่างๆ เหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และมีจริยธรรมในการนำเสนอ หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ รวมทั้งประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ด้านนายบุญเลิศ ช้างใหญ่ บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์มติชน กล่าวถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรวดเร็วจนตามไม่ทัน ยุคปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกของการสื่อสารที่เรียกว่า ระบบดิจิตอล ซึ่งมีอิทธิพลสูงมาก เข้าถึงการใช้งานของคนไทยมากขึ้นในทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นในเด็กเล็ก
“สื่อใหม่ หรือสื่อสมัยใหม่ กำลังท้าทายสื่อเก่าๆ อย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ และทีวี เราต้องร่วมกันพิจารณาว่าจะมีนวัตกรรมการบริหารเฉพาะ หรือพิเศษอย่างไร ที่จะให้สื่อใหม่ถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์ สร้างสรรค์ ประเทืองปัญญา เพราะทุกวันนี้การใช้สื่อใหม่มักไม่ค่อยเกิดประโยชน์ และเป็นเครื่องมือที่ทำให้ขาดความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เหมือนกำลังอยู่ในภาวะเสพติดเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่”
ส่วนการเสนอข่าวสารในสื่อใหม่ของคนทั่วไป นายบุญเลิศ กล่าวว่า อาจจะเกิดข้อถกเถียงกันมากสำหรับการเสนอข่าวสารจากคนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนสื่อสารมวลชน หรือนิเทศศาสตร์ ซึ่งต้องย้อนถามว่า การแสดงความคิดเห็นของคนที่จะสื่อสารกัน จำเป็นต้องเรียนด้วย หรือเป็นสิทธิเสรีภาพ ที่ไม่ควรไปล้ำเส้น ละเมิดสิทธิกัน แต่คนที่ตีความ บังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถผดุงความยุติธรรมได้ จึงหาเส้นแบ่งลำบาก และหากตราบใดประเทศไทยยังวนเวียนอยู่ในภาวะหลุมดำเช่นนี้ ก็เปรียบเหมือนกลียุค
นายบุญเลิศ กล่าวถึงการควบคุมกันเองของสื่อให้อยู่ในจริยธรรมว่า ยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน หรือสื่ออาจไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา การควบคุมกันเองของสื่อกระแสหลักล้มลุก คลุกคลานมาตลอด ด้วยความที่ไม่กล้าจะควบคุมตรวจสอบกันเอง เห็นเป็นพวกเดียวกัน ถกเถียงกันแต่ในเรื่องจริยธรรม แต่ไม่เห็นว่าจริยธรรมจริงๆ อยู่ตรงไหน ทุกวันนี้สื่อไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกระจกแล้ว ทั้งที่ควรทำหน้าที่เป็นทั้งกระจกสะท้อน และตะเกียงส่องทาง
สำหรับการเป็นสื่อสาธารณะได้นั้น นายบุญเลิศ กล่าวว่า ต้องเปิดพื้นที่ให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วม และสื่อต้องไม่ถูกครอบงำจากอำนาจรัฐ หรือนายทุน ธุรกิจ จึงจะทำให้คนทำสื่อมีความเป็นอิสระมากขึ้น ในการเผยแพร่เนื้อหา ข่าวสารก็จะสามารถตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง เพราะปัจจุบันนี้ยังไม่เห็นความแตกต่างระหว่างสื่อสาธารณะกับสื่อหลักในบ้านเรา