วช.ทำประชาพิจารณ์ “ร่างแผนนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ”
วาดฝันปั้นไทยผลิตงานวิจัยคุณภาพ เข็น “5 ยุทธศาสตร์” หนุนพัฒนาชาติอย่างสมดุล-ยั่งยืน ตั้งเป้าปี 59 งบวิจัยไทยเพิ่ม 1% ของจีดีพี ดึงเอกชน-รัฐลงขันทุนวิจัย 1:1 เร่งปั๊ม 2 เท่า ตีพิมพ์งานวิจัยไทย ส่วน “รมว.วิทย์ฯ” แจกการบ้าน 2 ข้อ “สร้างรูปธรรมการบูรณาการ-ใช้ประโยชน์งานวิจัย ”
วานนี้ (17 ส.ค.) สภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดประชุมประชาพิจารณ์ “(ร่าง) นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2555-2559” ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี จ.นนทบุรี มีตัวแทนจากหน่วยงานองค์กรวิจัย นักวิจัย ภาคธุรกิจเอกชน ข้าราชการ ภาคท้องถิ่น ประชาชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศไทย กว่า 500 คน
นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวปาฐกถาเปิดงานในหัวข้อ “นโยบายการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” โดยระบุว่า โจทย์สำคัญในการกำหนดนโยบายการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน จะต้องทำให้การวิจัยนั้นเป็นไปอย่างมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของประเทศ และต้องคำนึงถึง 2 โจทย์หลัก คือ 1.ทำให้ประเทศไทยเกิดการบูรณาการงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อไม่ให้เกิดการวิจัยที่กระจัดกระจาย โดยต้องบูรณาการนโยบายโครงการในพระราชดำริ,ทิศทางนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และความต้องการวิจัยของนักวิจัยให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกันด้วย และ2.ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม เปลี่ยนภาพจากงานวิจัยบนหิ้งสู่งานวิจัยออกห้างได้
“การบูรณาการงานวิจัยและการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมเสมือนเหรียญสองด้านที่ต้องทำโดยพร้อมเพรียงกัน และการบูรณาการงานวิจัยนั้นต้องทำในทุกระดับและทุกสาขาวิจัย ตั้งแต่หน่วยงานกำหนดนโยบายวิจัย หน่วยงานให้ทุนวิจัย หน่วยปฏิบัติการวิจัย รวมถึงภาคผู้ใช้หรือรับประโยชน์จากผลงานวิจัย จะต้องเพิ่มบทบาทภาคเอกชนและภาคชุมชนให้มีส่วนร่วมบูรณาการและกำหนดระบบงานวิจัยด้วย เช่น ต้องมีมาตรการจูงใจเอกชนให้ร่วมลงทุนวิจัยกับรัฐ, มหาวิทยาลัยวิจัยต้องร่วมวิจัยต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นกับชุมชน ฯลฯ” รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
ด้านศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติฉบับนี้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ซึ่งยุทธศาสตร์วิจัย เน้นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและเน้นแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติเพื่อการพัฒนาประเทศที่สมดุลและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการ งานวิจัย, หน่วยงานวิจัย, หน่วยงานสนับสนุนทุนและความร่วมมือวิจัยทั้งรัฐและเอกชน และสร้างความมีส่วนร่วมจากทั้งผู้วิจัยและผู้ใช้หรือรับประโยชน์จากงานวิจัยด้วย
ส่วนรศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำในการวางนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติครั้งนี้ คือ ต้องสร้างเอกภาพในระบบงานวิจัยประเทศไทยให้เกิดขึ้นเสียก่อน โดยวช.จะต้องปรับบทบาทหน้าที่มาดูแลควบคุมภาพใหญ่งานวิจัยของประเทศ และต้องทำให้เกิดแผนยุทธศาสตร์วิจัยที่ทุกคนตระหนักร่วมกันว่า เป็นแผนวิจัยของชาติ สร้างการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เป็นเฉพาะแผนของวช. ซึ่งสกว.พร้อมจะสนับสนุนช่วยเหลือ
นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ร่างฉบับนี้ต้องประเมินและสรุปผลสำเร็จของฉบับที่ผ่านมาด้วย ควรกำหนดการขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุผลสำเร็จในภาคปฏิบัติ, เพิ่มความสำคัญการผลักดันกลไกการใช้ประโยชน์งานวิจัยหรือยุทธศาสตร์ที่ 5,ลำดับความสำคัญและปรับกลยุทธ์วิจัยให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะขณะนี้ยังกว้างเกินไป และกลุ่มเรื่องวิจัยเร่งด่วนควรมีกลยุทธ์ในการผลักดันจัดทำเป็นโครงการเร่งด่วนท้าทายของประเทศด้วย
ขณะที่ดร.พิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า เริ่มแรกต้องมีการกำหนดหน้าที่ให้ชัดเจนทั้งหน่วยงานกำหนดนโยบายวิจัย, หน่วยงานสนับสนุนงานวิจัย และหน่วยปฏิบัติการวิจัย, ควรเพิ่มการวิจัยเรื่องวิทยาศาสตร์ศึกษา ให้ระบบวิจัยไทยสร้างคนให้เกิดการเรียนรู้ชีวิตบนฐานทักษะด้านวิทยาศาสตร์, ส่งเสริมการปฏิรูปงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และต้องสร้างมาตรการจูงใจให้เอกชนมาร่วมลงทุนวิจัยกับรัฐให้มากขึ้นภายใน 10 ปีนี้
ด้านนายธรรมศักดิ์ สัมพันธ์สันติกูล ผู้อำนวยการสำนักจัดทำงบประมาณด้านการบริหาร สำนักงบประมาณ กล่าวถึงเป้าหมายสูงสุดของยุทธศาสตร์วิจัยของชาติ ควรอยู่ที่การวิจัยเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งต้องสร้างการบูรณาการการบริหารจัดการระบบงานวิจัยอย่างครบวงจรด้วยการกำหนดเจ้าภาพรับผิดชอบในแต่ละประเด็นให้ชัดเจน สร้างแผนบูรณาการงบประมาณวิจัยร่วม ขณะที่นักวิจัยต้องบูรณาการงานวิจัยที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทยและผลวิจัยต้องนำไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อเกิดคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งนี้ ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาตินั้นต้องทำให้เกิดการเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศไทยในชุมชนโลก ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเท่านั้น
สำหรับร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.255-2559) กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยมีงานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ให้มีการพัฒนายุทธศาสตร์วิจัยในระดับภูมิภาคยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยตั้งเป้าผลลัพธ์ในปีพ.ศ.2559 ต้องมีจำนวนค่าใช้จ่ายการวิจัยของประเทศไม่ต่ำกว่า 1% ของจีดีพี ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 0.24% ,รัฐและเอกชนต้องลงทุนการวิจัยในสัดส่วนที่เท่ากัน, บุคลากรวิจัยของประเทศต้องเพิ่มเป็น 10 คนต่อประชากร 10,000 คน จากปัจจุบันมี 5.9 คนต่อประชากร 10,000 คน, จำนวนสิทธิบัตรที่จดในประเทศต้องเพิ่มขึ้น 20% และผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ต้องเพิ่มขึ้นสองเท่า อีกทั้งผลงานวิจัยต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30%
ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์การวิจัยได้แก่ 1.สร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางสังคม โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ สร้างการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันของท้องถิ่นและสังคม วิจัยเพื่อปฏิรูปการเมืองไทยให้มีเสถียรภาพและธรรมาภิบาล ฯลฯ 2.สร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรและประมง สร้างองค์ความรู้พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและการรองรับประชาคมอาเซียน
3.สร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนาทางวิทยาการและทรัพยากรบุคคล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและการพึ่งพาตนเองโดยใช้ฐานความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เน้นการต่อยอดภูมิปัญญาของประเทศสู่ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ 4.เสริมสร้างและพัฒนาทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาองค์ความรู้และฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบโดยให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วม 5.บริหารจัดการความรู้ ผลงานวิจัย ทรัพยากร และภูมิปัญญาของประเทศสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะด้วยยุทธวิธีที่เหมาะสม โดยพัฒนาระบบและกลไกบริหารความรู้งานวิจัยของประเทศอย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ