“อดัม คาเฮน” แนะสังคมไทยสร้างภาพอนาคต ให้เห็นช้างทั้งตัวร่วมกัน
วันนี้(17 ส.ค.) เวลา 10.00 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและองค์กรร่วมจัด ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ,สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ,สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย , สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (ฝ่ายวิชาการ) ,สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ กระทรวงอุตสาหกรรม, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ,มูลนิธิดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพ ,คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด จัดการเสวนาในหัวข้อ “เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบไหนให้ลูกหลาน กับ อดัม คาเฮน” ณ ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายอดัม คาเฮน นักสันติวิธีผู้สร้างกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก มีชื่อเสียงโด่งดังจากกรณีการสร้างสันติภาพในประเทศแอฟริกาใต้ กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่พยายามทำ คือ ภาพอนาคต (Scenario) สุนทรียสนทนา (Dialogue) เพื่อช่วยเปลี่ยนปัญหาประเทศไทย โดยสิ่งแรกที่ได้ค้นพบในประเทศไทย คือ มีความแตกต่างของแต่ละบุคคลมากและมีทัศนะที่แตกต่างลักษณะแบ่งเป็นขั้วอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเหตุผลเฉพาะและใช้ความรู้สึกที่รุนแรง
ภายใต้ความสัมพันธ์ที่เข้าหากันยาก นายอดัม ได้แบ่งเป็นปัญหาออกเป็น คือ 1.มีความไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น 2.มีความสับสน ไม่คุ้นเคย 3.ได้พัฒนาเป็นความกังวล 4.นอกจากนั้นเป็นความกังวลยังบวกกับความรู้สึกกับอารมณ์ แต่ข้อดีของสังคมไทยที่ผ่านมา คือ มีความพยายามจะพูดคุยกัน และรัฐบาลยอมรับว่ามีปัญหาในประเทศจริง ซึ่งมีการแก้ไขโดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น นับเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่อยากเพิ่มเติม คือ ควรให้มีการเจรจาพูดคุยที่เป็นการปล่อยให้แต่ละฝ่ายได้พูดคุยกันมากขึ้นใน ลักษณะการสร้างสถานการณ์จำลองด้วย
นักสันติวิธีระดับโลก กล่าวถึงการสร้างสถานการณ์จำลองมีลักษณะเป็น 3 ขั้นตอน คือ การจัดการประชุม , การร่วมวางภาพ ซีเนรีโอ และการลงมือปฏิบัติ ซึ่งคาดว่าเมื่อทำครบทั้ง 3 ขั้นตอน จะเกิดผลลัพธ์ 5 ประการ คือ 1.ช่วยหาสิ่งที่เข้าใจร่วมกันของสังคมไทย 2.หาความสัมพันธ์ และสร้างความไว้วางใจในสังคม 3.สร้างความเชื่อใจ มีความชัดเจนในการสร้างพันธะในการแก้ปัญหาร่วมกัน 4.เป็นผลต่อเนื่องทางปฏิบัติที่เกิดจากความริเริ่มจากหลากหลายภาคส่วน 5. เพิ่มขีดความสามารถของคนไทย ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยได้
“การดำเนินงานนั้นควรเริ่มจากจัดการประชุม เพื่อสร้างพันธมิตรของกลุ่มต่างๆ ทั้งรัฐบาลและประชาสังคมเข้าด้วยกัน ก่อนนำไปสู่การร่วมสร้างแผนอนาคต ซึ่งเมื่อได้คณะกรรมการดำเนินงานแล้ว ตัวบุคคลที่ทำงานไม่ควรเป็นเพียงอาสาสมัคร แต่ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอย่างจริงจัง อาจจะมี 25-35 คน ที่เป็นกลุ่มผู้นำความคิดในร่วมออกแบบซีเนรีโอ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงคนไทยคนหนึ่งที่มาทำงานร่วมกัน และความคิดแต่ละคนอาจจะเห็นเพียงส่วนส่วนหัวหรือส่วนหางของช้าง แต่เมื่อมาทำงานร่วมกันจะเกิดการทำงานที่เห็นเป็นภาพของช้างทั้งตัวได้ โดยการทำงานนั้นต้องมุ่งเน้นสร้างสถานการณ์ที่สร้างความเป็นไปได้ ซึ่งไม่ควรมาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีอิทธิพลทางสังคม”
สำหรับกระบวนการสร้างซีเนรีโอ ไดอาล็อก นั้น นายอดัม กล่าวว่า ควรมีการจัดทำเวิร์คช็อป 3 ครั้ง กำหนดครั้ง 4 วัน และการพูดคุยต้องเป็นส่วนตัว แต่ไม่เป็นความลับ มีโครงสร้างที่ชัดเจน พูดคุยได้อย่างกว้างขวาง และลงไปรับข้อมูลพื้นที่ที่มีสถานการณ์จริง นอกจากนั้น ต้องนำข้อมูลเชิงวิจัยที่ประเทศไทยที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ทำงานได้ในเชิงปฏิบัติ ซึ่งอาจมีการตั้งกองทุนขนาดเล็กๆ ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นกองทุนเริ่มต้นในการดำเนินงานอย่างเป็นอิสระ ไม่ข้องเกี่ยวกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
“ส่วนกระบวนการทำงานจะมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างไร ประเทศไทยต้องพิจารณาเองว่า สามารถนำมาปรับประยุกต์อย่างไร ซึ่งขั้นตอน 3 กระบวนการ คาดว่าต้องใช้เวลา 18 เดือน เริ่มจากขั้นตอนแรก โดยขั้นที่ 2 สร้างซีเนรีโอ ประมาณ 6 เดือน และขั้นที่ 3 ที่สามารถจะนำไปปฏิบัติได้ ประมาณ 1 ปี ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะสำเร็จได้ต้องใช้เวลาและขึ้นอยู่ที่รูปแบบกระบวนการทำงาน เปรียบคนตั้งครรภ์ ยังต้องใช้เวลา 9 เดือน การทำกระบวนการให้สำเร็จก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน จึงจะคลอดออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ“
โดยช่วงท้ายของการรับฟังการเสวนา นายอดัม กล่าวเพิ่มเติมว่า คน ไทยต้องเป็นผู้สร้างบ้านเอง ตนเป็นเพียงผู้ที่มีประสบการณ์ ซึ่งพร้อมที่จะช่วยเหลือและเป็นที่ปรึกษา ขณะนี้รู้สึกว่าประเทศไทยมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนามาก ซึ่งหากพูดถึงปัจจัยความสำเร็จ คนที่เข้าร่วมในการสร้างภาพซีเนรีโอต้องไม่มีอิทธิพลมากหรือเป็นผู้นำทาง ความคิดมากเกินไป เพราะ อาจไม่ส่งผลดีต่อการจัดสร้างกระบวนการดังกล่าว
ด้าน รศ.ดร.โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า หากมนุษย์ไม่เชื่อในการพูดและการฟังซึ่งกันและกัน ปัญหาจะนำไปสู่การรุนแรง แต่หากเชื่อการแก้ปัญหาจะนำมาซึ่งสันติได้ วันนี้ต้องยอมรับว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ต้องลดอัตตา เพิ่มความรัก ความเมตตา เข้าไป เชื่อว่า จะนำไปสู่การพูดคุยกัน ลดการประจันหน้าและพูดกันด้วยการรับฟัง
“หากจะทำงานให้สำเร็จ ต้องจริงจัง และร่วมสร้างซีเนรีโอร่วมกัน ให้ได้เหมือนแอฟริกาใต้ ต้องร่วมสร้าง ซีเนรีโอที่เป็นไปได้ โดยไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนอยากให้เป็น และเชื่อว่า ที่กำหนดไว้ 18 เดือนไม่ยากเกินไป”