"อาดัม คาเฮน" ถอดบทเรียนความขัดแย้งโลก เสนอยุทธศาสตร์ "ห้องปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลง"
ระบุต้องระดมความเห็นจากทุกฝ่ายผ่านการจำลองสถานการณ์อนาคต และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ต้องรีบ พร้อมเสนอแนวทาง "สานเสวนา" พูดด้วยความเข้าใจ ฟังด้วยความลึกซึ้ง ชู 2 ปัจจัยมูลเหตุ ผนึก "อำนาจ -ความรัก" เพื่อถอดชนวนการแตกหัก
วันนี้ (16 ส.ค.) เมื่อเวลา 14.00น. ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จัดเสวนาในหัวข้อ "เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบไหนให้ลูกหลาน" ร่วมจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย,สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย, สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง,มูลนิธิดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพ, สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม, บริษัทไทยประกันชีวิต และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน
นายอาดัม คาเฮน นักสันติวิธีผู้สร้างกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังจากกรณีการสร้างสันติภาพในประเทศแอฟริกาใต้ เปิดเผยว่า ตลอดการทำงาน 20 ปี เพื่อถอดบทเรียนความขัดแย้งจากสถานการณ์ต่างๆ นั้น ได้พยายามหาคำตอบง่ายๆ จากคำถามหนึ่ง คือเราจะแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและมีความขัดแย้งที่สุดด้วยวิธีที่สันติได้อย่างไร ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมามีการลองผิดถูกมาเป็นจำนวนมากและได้พบกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ โดยสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้ คือ การทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์แล้วคะเนสถานการณ์อนาคตต่อไปว่าหลังจากนี้อาจจะเกิดอะไรขึ้นได้อีกบ้างด้วยวิธีที่เรียกว่าห้องปฏิบัติการเพื่อการเปลี่ยนแปลง
นายอาดัม กล่าวว่า ได้เริ่มทำงานในบริษัทเชลล์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่ โดยขณะที่ร่วมทำงานนั้นเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ซึ่งกระทบต่อตลาดน้ำมันโดยตรง ทางบริษัทจึงกลับมาคิดว่าควรทำอะไรบางอย่างเพื่อตีความสถานการณ์และแก้ปัญหาอย่างสมเหตุสมผล ทั้งนี้ท้ายที่สุดแล้วได้ค้นพบว่าเราต้องตอบคำถามที่เจาะจงในเรื่องราวต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเกณฑ์และความเกี่ยวโยงอย่างท้าทายและแจ่มชัด
นักสันติวิธีผู้สร้างกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งแอฟริกาใต้ กล่าวว่า จากนั้นได้เข้ามาแก้ปัญหาในแอฟริกาใต้ โดยประยุกต์จากแผนงานของเชลล์ ซึ่งสถานการณ์ในขณะนั้นมีความวุ่นวาย เกิดการจลาจล กระทั่งคนในแอฟริกาใต้ตระหนักและกังวล ทั้งนี้การแก้ปัญหาในขณะนั้นมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา ประกอบด้วยทุกภาคส่วนในสังคม อาทิ นักวิชาการ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผิวขาวหรือผิวดำก็มาร่วมกันแก้ปัญหาผ่านกระบวนการจำลองสถานการณ์ในอนาคต หรือที่เรียกว่าฉากทัศน์ (Scenarios)
นักสันติวิธีผู้สร้างกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งแอฟริกาใต้ กล่าวด้วยว่า ขณะนั้นมีการตั้งคำถามกันว่าอะไรอาจจะเกิดขึ้นมาได้บ้าง และจะจบประเด็นพิพาทตรงนี้ได้หรือไม่อย่างไร โดยในตอนนั้นมีการสรุปผลว่า หากเป็นรัฐบาลผิวขาวก็จะเป็นสถานการณ์นกกระจอกเทศ คือรัฐบาลจะมุดหัวลงไปในทราย ไม่ยอมฟังอะไร แต่สุดท้ายแล้วก็จะต้องโงหัวขึ้นมาและพบกับปัญหาในที่สุด แต่หากเป็นรัฐบาลผิวดำ ก็จะกระทบต่อคนผิวขาว กระทบต่ออำนาจและเศรษฐกิจ ซึ่งหากพิจารณาโดยสภาพการณ์แล้วก็จะกลายเป็นเป็ดป่วย เป็ดที่ไม่พร้อมขาหักปีกหัก ซึ่งจะเหมือนอิคคะรัส เทพปกรณัมของกรีกที่เอาปีกมาจากนกนางนวล แล้วติดปีกด้วยขี้ผึ้ง เมื่อโดนแสงอาทิตย์ก็หลุดลงมา ไม่ประสบผลสำเร็จในที่สุด
"หากกระบวนการเปลี่ยนผ่านเร็วเกินไปก็จะไม่ได้ผล ถามว่าถ้ามีรัฐบาลแล้วจะยั่งยืนหรือไม่ เพราะตอนนี้รัฐบาลไม่สามารถจัดการสถานการณ์ได้ และถ้าเอาเงินของคนรวยไปให้คนจน เอาเงินผิวขาวไปให้ผิวดำ ก็แก้ปัญหาไม่ยั่งยืน สุดท้ายทุกอย่างก็จะพังทลายพินาศยับเยิน"
สำหรับการแก้ปัญหาของเมลสันแมนดาลานั้น นายอาดัม กล่าวว่า มีทั้งคนคาดการณ์ว่าสำเร็จและผิดพลาด แต่สุดท้ายแล้วจะเห็นว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้น เริ่มมาจากการบินช้าๆ อย่างมีกระบวนการ เป็นการบรรลุผลช้าๆ อย่างต่อเนื่องซึ่งแม้ว่าคณะทำงานต่างๆ จะมีความขัดแย้งไม่ลงรอยกันแต่ก็สามารถร่วมทำงานในเชิงสร้างสรรค์กันได้
"มีการพูดเล่นๆ ในตอนนั้นว่าแอฟริกามีทางเลือกสำหรับแก้ปัญหา 2 ทาง 1.เชิงปฏิบัติ คือ ให้ทุกคนคุกเข่าอ้อนวอนให้เทวทูตมาช่วยแก้ปัญหา 2.เชิงปาฏิหาริย์ คือ ต้องหาทางเดินไปร่วมกันซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว คือการทำงานในเชิงปาฏิหาริย์"
ส่วนหลักการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น นักสันติวิธีผู้สร้างกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งแอฟริกาใต้ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงปัญหาที่ซับซ้อน จำเป็นต้องแก้ไขเชิงพลวัต คือ แม้ว่าเหตุผลจะกระจัดกระจายแต่สุดท้ายก็ยังเชื่อมโยงกันอยู่ดังนั้นต้องค่อยๆ แก้ทีละอย่าง มองการแก้ปัญหาเป็นรายประเด็นแต่ใช้วิธีการแก้เป็นองค์รวมส่วนความซับซ้อนเชิงสังคมที่เกิดความแตกต่างระหว่างบุคคลและสถานการณ์ต้องเข้าใจว่าไม่สามารถใช้กำลังมาแก้ไขได้ต้องนำผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามาด้วยการใช้กระบวนการการมีส่วนร่วม
นักสันติวิธีผู้สร้างกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งแอฟริกาใต้ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่ไม่ซับซ้อนมากสามารถใช้ประสบการณ์จากอดีตมาศึกษาได้ แต่หากมีความซับซ้อนมาก จำเป็นต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา รวมทั้งต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบเพราะไม่มีใครสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวคนเดียวได้
จากประสบการณ์การแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศกัวเตมาลานั้น นายอาดัม กล่าวว่า เป็นสถานการณ์ความขัดแย้ง สงครามกลางเมืองซึ่งหลังจากสถานการณ์สิ้นสุดลงหลายฝ่ายมีการพูดคุยกันว่าจะบูรณะประเทศอย่างไรซึ่งขณะนั้นมีการดึงทุกภาคส่วน ทั้ง ฝ่ายนักการเมือง ประชาชน นักวิชาการทหาร เข้ามาร่วมห้องปฏิบัติการเชิงสังคมมีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อดำเนินกิจกรมและแลกเปลี่ยนความรู้กัน
นายอาดัม กล่าวว่าสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหา คือ ต้องหยั่งยานหรือรับรู้เชิงลึกซึ้งโดยเฉพาะกระบวนการฟังและการพูดทั้งนี้หากเปลี่ยนวิธีการฟังก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตและผลการทำงานได้ทั้งนี้การพูดอาจจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การพูดลักษณะดึงข้อมูลออกมาพูดซ้ำๆ ซึ่งก็จะไม่มีอะไรใหม่และการอภิปราย ที่พัฒนาขึ้นแต่ก็เป็นการพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูดเท่านั้นและก็จะไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่เช่นกัน
"สองวิธีนี้เป็นเพียงการผลิตซ้ำในสิ่งที่รู้อยู่แล้วและจะได้สัจพจน์เดิมๆ ดังนั้นต้องปรับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งคือ การสานเสวนาซึ่งไม่ใช่แค่บอกว่าตัวเองคิดอะไรอยู่แต่ต้องพยายามอธิบายให้คนฟังเข้าใจว่า ทำไมถึงคิดแบบนี้ความคิดเหล่านี้มาจากไหน ส่วนการฟังก็ต้องใส่ใจที่จะฟังในทุกรายละเอียดไม่ใช่ฟังเพื่อตัดสินว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแต่ต้องพยายามสร้างความเข้าใจว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น"
นักสันติวิธีผู้สร้างกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก กล่าวว่า ที่สำคัญ คือ จำเป็นต้องสร้างผัสสะร่วมให้เกิดขึ้นเพราะเมื่อทุกฝ่ายเข้าใจร่วมกันก็จะรับรู้การเปลี่ยนแปลง เข้าใจโลกเป็นส่วนหนึ่งของโลกซึ่งทำให้เปิดจิตเปิดใจเปิดโอกาสในการทำงานร่วมกันได้
นายอาดัม กล่าวด้วยว่า แม้การสานเสวนาจะมีการพัฒนาขึ้นแต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่นในกัวเตมาลายังมีเอ็นจีโอที่ประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมสานเสวนาอีกแล้วเนื่องจากรัฐบาลพยายามกดดันให้ยุติการชุมนุมประท้วงนั่นเป็นเหตุให้จำเป็นต้องกลับมาคิดว่ายังมีอะไรผิดพลาดหรือนอกเหนือการสานเสวนาเพื่อยุติปัญหา
นักสันติวิธีผู้สร้างกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก กล่าวถึงปัจจัยมูลฐานสำหรับแก้ปัญหาความขัดแย้งว่าต้องมี 2 ประการคือ 1.ด้านจิตใจ (Love) ซึ่งเป็นสิ่งช่วยเชื่อมประสานรอยร้าวได้ดีที่สุด2.พลังขับเคลื่อน (Power) ที่เป็นพลังขับเคลื่อนสรรพชีวิตให้บรรลุผลสูงสุดได้โดยทั้งสองส่วนต้องผลึกเข้ากัน ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้
"ความสันติและการรับมือกับประเด็นความซับซ้อนในสังคมจะเกิดขึ้นได้จากการบวนการแก้ไขอย่างเป็นระบบ การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การสานเสวนา การสร้างผัสสะร่วมและการผนึกความรักและอำนาจเข้าร่วมกัน"
นายอาดัม กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยว่าเพิ่งมาถึงประเทศไทยเพียง 4 วันและคิดว่าไม่ใช่เวลาเพียงพอจะเข้าใจสถานการณ์ในเมืองไทยอย่างชัดแจ้งคงไม่เหมาะที่จะวิเคราะห์หรือให้คำแนะนำทั้งหมดแต่จากประสบการณ์จากที่อื่นๆได้ตั้งข้อสังเกตและคาดว่าสถานการณ์ของประเทศไทยมีความซับซ้อนในหลายๆด้าน และเพิ่มพูนขึ้นมา จนถึงตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเหลืองหรือแดงแต่เป็นเรื่องความหลากหลาย เราต้องเข้าใจเรื่องตัวปัญหาซึ่งความขัดแย้งระดับนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ผู้คุมกำลังผู้มีอำนาจหรือนักวิชาการมาแก้ปัญหาได้ง่ายๆแต่ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา
"วิธีแก้ไม่ใช่ใช้อำนาจหรือปราบปรามใครคนใดคนหนึ่งแต่ต้องพยายามสร้างสรรค์กระบวรการผ่านรัฐ โดยใช้ความรักแต่ความรักก็ไม่ใช่แค่ยื่นดอกกุหลาบ แต่ต้องมีความรักเชิงสมานฉันท์สร้างความเชื่อมโยง และบรรเทาประเด็นต่างๆ ได้ไม่น้อยนอกจากนี้ยังตองสร้างเอกภาพ ยอมรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น"
สุดท้ายนักสันติวิธีผู้สร้างกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก สรุปผลการสัมมนาไว้ดังนี้ 1.ทราบว่าพื้นฐานที่คิดว่าจะรู้สึกในช่วงการสนทนาเบื้องต้น คุณค่าหรือค่านิยมในการพิจารณาประเด็นต่างๆ เป็นเรื่องที่ดีทราบถึงจุดเชื่อมโยงต่างๆ ได้คุยกับคนที่ไม่เคยได้คุยเลยถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากในการสานเสวนาซึ่งถือเป็นจุดประสานระหว่างความรักและพลังการขับเคลื่อน 2.สิ่งต่างๆ ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องศึกษาให้ละเอียดว่าการแก้ปัญหาใดสำเร็จหรือล้มเหลวและต้องสร้างการมีส่วนร่วม
3.การขยับพัฒนาการจนถึงขั้นสานเสวนา เป็นสิ่งที่เรียบง่าย แต่ไม่ง่ายปริภูมิหรือทิศต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาด้วยจะสร้างปริภูมิอย่างไร หรือสร้างสมรรถนะอย่างไร 4.ถ้ามีคนไม่อยากคุยจะทำอย่างไรจำเป็นต้องหาวิธีการกระตุ้นให้คนพูดคุยมากกันขึ้น อย่างประเทศโคลัมเบียซึ่งมีกองโจรผิดกฎหมายมาก แต่ต้องให้เขาได้รับรู้ จึงได้มีการถ่ายทอดสดและมีการเปิดสายให้พูดคุยมีกองโจรโทรศัพท์เข้ามาถามว่าต้องหยุดยิงปืนด้วยหรือไม่หากมีการร่วมสานเสวนา เราตอบไปว่า ไม่มีข้อตกลงเบื้องต้นใดๆเพียงแต่ต้องการเข้ามาพูดคุยกัน ไม่ต้องหยุดยิงก็ได้
5.การแก้ปัญหาความซับซ้อนอย่างเป็นระบบ หากบอกว่าสิ่งนี้ถูกนอกเหนือจากนี้ผิด นั้นเป็นประเด็นที่สำคัญ ต้องดึงและมองหลากหลายส่วนทั้งมุมรากหญ้าด้วย ต้องมองให้เห็นช้างทั้งตัวพร้อมๆ กันไม่ใช่มองส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้สื่อมวลชนยังช่วยผลักดันด้วย 6.ไม่เห็นด้วยเต็มที่กับประเด็นว่าต้องเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพราะประโยชน์ส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่เราต้องทำงานด้วยอำนาจและความรัก ดังนั้นเอกภาพที่ไม่เคารพเรื่องผลประโยชน์ส่วนบุคคลก็ไม่สมบูรณ์นัก และ 7.ต้องใช้เวลา เพราะไม่มีสิ่งวิเศษใดที่จะพัฒนาได้ทันทีนั่นถือเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาอย่างน้อยๆ หลายเดือนอนาคตของประเทศไทยไม่ได้สร้างด้วยฝรั่ง 2 คนแต่มาจากที่ทุกคนที่จะคงเห็นคำตอบจากตัวของท่านเอง