ครม.อนุมัติร่างกฎ ก.พ. กรณี ขรก.อายุ 60 ปี รับราชการต่อ
พร้อมรับโอน “อำพน กิตติอำพน” นั่งเก้าอี้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายกฯ อภิสิทธิ์ยันประสบการณ์สูงในหลายเรื่อง และเสนอความเห็นต่าง ๆ ในครม. จึงเหมาะสมกับตำแหน่งนี้
วันนี้ (16 ส.ค.) เวลา 13.00 น. ณ ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงเหตุผลในการรับโอนและแต่งตั้งนายอำพน กิตติอำพน ให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ว่า ท่านเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาครบ 6 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นเห็นว่าน่าจะไปทำงานในตำแหน่งระดับเดียวกัน และท่านยังเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์สูงในหลายเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะนั่งร่วมประชุมครม.และเสนอความเห็นต่างๆ ในครม.จึงเหมาะสมกับตำแหน่งนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ครม.ยังได้อนุมัติปรับบัญชีเงินเดือนตามค่าครองชีพให้มีผลในเดือนเมษายน 2554 รวมทั้งมีการปรับระบบการให้เงินเดือนข้าราชการที่บรรจุเป็นครั้งแรก โดยเพิ่มความยืดหยุ่นให้สามารถที่จะให้ค่าตอบแทนที่สามารถจะเทียบเคียงกับภาคเอกชนได้ หลักคือมีการปรับขึ้นเงินเดือนแรกบรรจุ และยังเปิดโอกาสให้เงินเดือนแรกบรรจุเป็นช่วง แทนที่จะเป็นอัตราที่ตายตัว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นกรณีของผู้ที่ซึ่งมีความสามารถพิเศษ มีประสบการณ์ หรือเข้ามาในตำแหน่งวิชาชีพที่มีความขาดแคลน จะสามารถได้เงินเดือนเริ่มต้นที่สูงกว่าเงินเดือนเริ่มต้นขั้นต่ำ รวมทั้งจะมีการออกประกาศของ ก.พ. ว่ากรณีของข้าราชการซึ่งอายุ 60 ปี และทางหน่วยราชการมีความจำเป็นที่จะต้องให้ทำงานต่อในบางตำแหน่งซึ่งไม่ได้กำหนดไว้เป็นการทั่วไป เช่น ในบางสาขาที่เรากำหนดเป็นการทั่วไปแล้ว ก็สามารถจะต่ออายุราชการได้ แต่ต้องเป็นกรณีซึ่งมีเหตุผลที่ชัดเจนว่ามีการขาดแคลนอย่างไร โดยขณะนี้มีบุคคลอยู่ประมาณ 20 รายที่ขออยู่ ทั้งนี้ เป็นหลักการว่านอกจากสาขาซึ่งเคยประกาศไปแล้ว อาจจะสามารถขอได้เป็นบุคคล แต่จะไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่าง ๆ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 รวม 40 คน เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมจะครบวาระในวันที่ 16 สิงหาคม 2553 ดังนี้
1) คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 5 คน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ จรัส สุวรรณเวลา ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส ศาสตราจารย์ อาวุธ ศรีศุกรี รองศาสตราจารย์ บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ นายวิชัย โชควิวัฒน
2) คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร นางจิราพร บุนนาค นายประวิทย์ สุขวิบูลย์ นายพรชัย ด่านวัฒน์
3) คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมและการเกษตร จำนวน 5 คน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ เกษม จันทร์แก้ว ศาสตราจารย์ ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล ศาสตราจารย์ สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ รองศาสตราจารย์ สุนทร มณีสวัสดิ์ นายสันทัด โรจนสุนทร
4) คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ จำนวน 6 คน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ชมเพลิน จันทร์เรืองเพ็ญ รองศาสตราจารย์ นิพนธ์ พัวพงศกร รองศาสตราจารย์ สหธน รัตนไพจิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธวัชชัย สุวรรณพาณิช นางสาวภัทรา สกุลไทย นายวีระชัย เตชะวิจิตร์
5) คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย จำนวน 20 คน ประกอบด้วย พลเอก วิชิต บุณยะวัฒน์ พลเอก สุพิทย์ วรอุทัย ศาสตราจารย์พิเศษ เรวัต ฉ่ำเฉลิม ศาสตราจารย์ ปรีดี เกษมทรัพย์ รองศาสตราจารย์ มนตรี รูปสุวรรณ รองศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ รองศาสตราจารย์ สมยศ เชื้อไทย ร้อยโท วิรัช พันธุมะผล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปราโมทย์ ประจน ปัจจนึก นายขจัดภัย บุรษพัฒน์ นายชัยรัตน์ มาประณีต นายธรรมรักษ์ การพิศิษฐ์ นางธิดา ศรีไพพรรณ นางแน่งน้อย วิศวโยธิน นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ นายพูลประโยชน์ ชัยเกียรติ นางมัลลิกา คุณวัฒน์ นายวัฒนา รัตนวิจิตร นายสุพจน์ ไพบูลย์ นายฮึกหาญ โตมรศักดิ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป