ปธ.ทีดีอาร์ไอเสนอยุทธศาสตร์ Quick win จัดสรรทรัพยากรเพื่อความเป็นธรรม
ดร.นิพนธ์ เปิดแผนงานคณะกรรมการจัดสรรทรัพยากรสร้างความเป็นธรรม เผยกลางกันยาฯ ได้เห็นข้อเสนอสวัสดิการขั้นพื้นฐาน-ปฏิรูปภาษี พร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะพร้อมกัน
วันนี้ (11 ส.ค.) ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะประธานคณะกรรมการการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเป็นธรรม กรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) นำเสนอเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กับนโยบายการจัดสรรทรัพยากร ” ในการประชุม คสป. ครั้งที่ 3 มีศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ณ เรือนธารกำนัล บ้านพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงผลพวงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้สัดส่วนคนจน (เงิน) ลดลงมาก แต่ปัญหาสำคัญที่สุดกลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งการที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมากใกล้เคียงกับกลุ่มละตินอเมริกา ได้กลายเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย
สำหรับผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในระยะยาวมีผลให้เศรษฐกิจขยายตัวช้า รายได้รัฐบาลต่ำจนไม่มีเงินจัดสวัสดิการสังคมพื้นฐาน เกิดผลทางสังคม เช่นปัญหาโสเภณี ผลทางการเมือง เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจทางการเมือง นักการเมืองผูกขาดเข้าสู่การเมือง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ สุดท้ายทำให้ประชาธิปไตยไม่มั่นคง ซึ่งการแก้ปัญหาโดยใช้เครื่องมือทางภาษี ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะภาษีที่ดิน และเงินทุน
“ในสังคมที่ไม่มีความเสมอภาคสูง คนอยู่กึ่งกลางเป็นคนชั้นกลาง ระดับล่าง-กลาง มีแรงกดดันให้รัฐเก็บภาษีและกระจายรายได้สูง นำมาสู่นโยบายประชานิยม ขณะที่คนรวยไม่อยากเสียภาษี ประชาธิปไตยจึงมีเสถียรภาพยาก จึงทำให้คิดว่า แท้จริงแล้ว สองนคราประชาธิปไตย เป็นความขัดแย้งทางชนชั้นเศรษฐกิจใช่หรือไม่” ดร.นิพนธ์ กล่าว และว่า ความจนไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญที่สุด แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การกระจายรายได้ มิติความเหลื่อมล้ำทางทรัพยากร ความรู้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หัวใจสำคัญของการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสร้างความเป็นธรรมครั้งนี้นั้นจะต้องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยไม่ทำให้การดำเนินการทางเศรษฐกิจเสียหาย
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการแก้ไขความเหลื่อมล้ำว่าด้วยระบบภาษีและการสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน ต้องมีวินัยทางการคลัง กำหนดประเภทของสวัสดิการพื้นฐานตามฐานะทางเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบภาษีควบคู่กัน เพื่อระดมเงินมาจัดสวัสดิการ โดยไม่ก่อภาระหนี้สิน และไม่ควรทำสุดโต่งจนเกิดการต่อต้านรุนแรง
ส่วนแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเป็นธรรม ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า จะใช้กลยุทธ์ชนะโดยเร็ว (Quick win strategy) เพื่อให้มีข้อเสนอที่แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ขณะนี้คณะทำงานมีความพร้อมแล้ว ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การจัดสวัสดิการพื้นฐาน การปฏิรูประบบภาษี และการแก้ปัญหาประกันสังคม ภายใน 3 เดือนนี้จะเร่งดำเนินการจัดทำแผนข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปพร้อมๆกัน
สำหรับแผนการจัดระบบสวัสดิการในสังคมไทย ที่จะทำเป็นเรื่องแรกนั้น ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า คาดว่าจะนำเสนอแผนที่ชัดเจนออกมาสู่สาธารณะได้ในกลางเดือนกันยายนนี้ ส่วนเรื่องที่ 2 คือ แผนการปฏิรูประบบภาษีนั้นมีเป้าหมายในการปฏิรูประบบภาษีเพื่อหาเงินมาช่วยสนับสนุนการจัดระบบสวัสดิการของประเทศ โดยจะต้องมีการปฏิรูปภาษีนิติบุคคล หรือสิทธิพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ด้วย
ขณะที่เรื่องที่ 3 คือ การแก้ปัญหาปรับปรุงระบบประกันสังคม ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า จะพิจารณาการขยายฐานประกันสังคมให้คุ้มรวม ไปยังแรงงานนอกระบบ ซึ่งจะมีการทำตัวเลขออกมาชัดเจน และการปรับโครงสร้างกองทุนประกันสังคมให้ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการขยายโอกาสทางการศึกษา การขยายโอกาสให้แรงงาน และโอกาสทางเศรษฐกิจของธุรกิจเอสเอ็มอี นั้น ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนที่ 5 ต่อจากนี้ไป จะมีการเสนอแผนการปฏิรูปออกมา โดยทีดีอาร์ไอจะเร่งจัดประชุมใหญ่เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
“ส่วนการปฏิรูปการให้บริการของรัฐ โดยเฉพาะเรื่องขนส่งมวลชน ได้วางกรอบทำงานจัดทำแผนปฏิรูปเสนอในเดือนที่ 6 และเนื่องจากขณะนี้มีงบประมาณจำนวนมากตกอยู่ในกลุ่มคนรวยหรือเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มนี้ ดังนั้น เรื่องวินัยทางการเงินการคลัง กำลังจะจัดทำข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกองค์กรประเมินประสิทธิผลของการใช้งบประมาณ (CBO) ภาควิชาการเกิดขึ้นในระบบรัฐสภา ว่าด้วยการให้ความรู้ส.ส.ในการวิเคราะห์การโหวตสนับสนุนการจัดสรรงบประมาณในเรื่องต่างๆ ที่ต้องยึดผลประโยชน์ที่จะต้องเกิดกับประชาชนเป็นหลัก ประมาณเดือนที่ 7”
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ถือว่ายากที่สุดในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความเป็นธรรมนั้น คือ เรื่องที่ดิน วางกรอบไว้ภายใน 12-15 เดือนในการดำเนินงาน หรืออาจต้องใช้เวลาถึง 18 เดือนด้วย เนื่องจากขณะนี้มีกฎหมายจำนวนมากที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดการจัดสรรที่ดินไม่เป็นธรรม มีกฎหมายที่ต้องศึกษาเพื่อปฏิรูปอีกหลายฉบับ