“มีชัย ฤชุพันธุ์” ตอบชัดแก้ข้อกล่าวหา กฤษฎีกาดองกม.หลายฉบับล่าช้า
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา ตอบคำถามไว้ในคอลัมภ์ ถาม-ตอบกับมีชัย เรื่อง คณะกรรมการกฤษฎีกา ทำงานล่าช้า ดองร่างกฎหมายหลายฉบับที่สำคัญ เช่น ร่างกฎหมายภาษีที่ดิน ร่างกฎหมายกองทุนเงินออมแห่งชาติ ร่างกฎหมายการเงินการคลังฉบับใหม่ จริงหรือไม่ ในเว็บไซต์ www.meechaithailand.com เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา
นายมีชัย ระบุไว้ในคำตอบถึงการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า มิได้ทำแต่เฉพาะตรวจถ้อยคำ หรือวรรคตอน อย่างที่บางคนเข้าใจ หากแต่ได้พิจารณาถึงเนื้อหาของร่างกฎหมาย เพื่อพิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ เช่น
1. เริ่มต้นตั้งแต่กฎหมายนั้นสมควรมีหรือไม่ เพราะขึ้นชื่อว่ากฎหมายแล้วก็ย่อมต้องมีสภาพบังคับให้คนต้องปฏิบัติ เมื่อมีกฎหมายมากเท่าไร คนก็จะถูกบังคับมากขึ้นในอิริยาบถต่าง ๆ มากขึ้นเท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นเพราะมีกฎหมายที่ใช้ได้อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่ หรือถ้าพอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเก่าได้ ก็จะได้ไม่ต้องมีกฎหมายเพิ่มขึ้น
2. พิจารณาว่ากฎหมายที่จะออกใหม่จะมีอะไรขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่มีอยู่เดิมหรือไม่ จะต้องปรับปรุงแก้ไขกันอย่างไรจึงจะไม่ขัดกันหรือซ้ำซ้อนกัน
3. ขึ้นชื่อว่ากฎหมายก็ต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้คน จึงต้องพิจารณากันว่า ทำได้ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าทำได้การจำกัดสิทธินั้นจะคุ้มกับประโยชน์ที่จะได้รับเป็นส่วนรวมหรือไม่ จะมีทางใดผ่อนปรนเพื่อให้การจำกัดสิทธินั้นไม่เหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไป พอที่จะรับและมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขกันได้
4. ในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็ต้องให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เวลาหน่วยงานต่าง ๆ ร่างขึ้น ก็มักจะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ให้มากที่สุดเพื่อเป็นการสะดวกในการปฏิบัติงาน และการบังคับประชาชนให้ต้องปฏิบัติตาม คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ต้องคอยดูว่า อำนาจเช่นว่านั้น เกินสมควรไปหรือไม่ ถ้าเวลาเจ้าหน้าที่ที่ไม่สุจริตใช้อำนาจนั้น จะเดือดร้อนแก่ราษฎรเพียงใด มีทางใดที่จะลดอำนาจนั้นลงให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้คนที่จะต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายนั้น
5. ในทางปฏิบัติเมื่อมีกฎหมายนั้นแล้ว จะปฏิบัติกันอย่างไร จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตมากน้อยเพียงใด จะเกิดขั้นตอนอันทำให้ยุ่งยากเพียงใด จะสามารถลดขั้นตอนหรือบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานให้เร็วเพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนจนเกินไปได้หรือไม่ ความเดือดร้อนที่ประชาชนจะต้องรับจะคุ้มค่ากับที่สังคมได้รับประโยชน์หรือไม่
6. มีช่องทางใดที่จะป้องกันมิให้คนที่คิดหลบเลี่ยงกฎหมาย ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ และไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายนั้นไปทำมาหากิน
“เพียงตัวอย่างเท่านี้ก็จะเห็นว่า ไม่ใช่จะทำได้ง่าย ๆ หรือได้รวดเร็ว เพราะจะต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงให้ร่างสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้ บางทีเจ้าหน้าที่ ที่มาชี้แจงเองก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร อย่างไร ก็ต้องให้เวลาเขาไปหาข้อมูลหรือไปคิดทบทวนดู ทั้งหมดนี้จึงใช้เวลาพอสมควร” นายมีชัย ระบุ และว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีเหตุอะไรที่จะไปดองกฎหมายของใครให้ล่าช้า กฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้องกับคนเป็นจำนวนมาก หรือเกี่ยวกับอาชีพใดอาชีพหนึ่งเป็นการเฉพาะ ก็ต้องเปิดโอกาสให้คนที่เกี่ยวข้องที่ไม่ใช่ราชการได้มาแสดงความคิดเห็น หรือเล่าปัญหาหรือความต้องการของเขาให้ฟังบ้าง ซึ่งก็ยิ่งต้องใช้เวลายิ่งขึ้น
สำหรับกฎหมายของกระทรวงการคลังที่เป็นปัญหานั้น นายมีชัย ระบุว่า ดูเหมือนมีการพิจารณากันในคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษีอากรและการเงินการคลังอยู่เต็มคณะ ส่วนจะติดขัดอย่างไรไม่ทราบได้เหมือนกัน แต่ก็เชื่อว่าหลักใหญ่ก็คงพิจารณาตามแนวทางข้างต้น แต่ถ้าคิดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาล่าช้า คงต้องย้อนกลับไปดูว่าร่างกฎหมายนั้นเมื่อดำเนินการยกร่างกันที่กระทรวงการคลัง ใช้เวลานานเท่าไร ดูเหมือนจะเตรียมคิดและร่างกันมาก่อนที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหาร โดยร่างนั้นคิดแต่ในแง่ของคนที่จะเก็บภาษีเท่านั้น อาจจะยังไม่ได้คิดถึงราษฎรที่จะต้องถูกเก็บภาษี ก็ยังใช้เวลานานขนาดนั้น
“แต่เวลาที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา จะต้องพิจารณาในแง่ของทั้งสองฝ่ายจึงคงต้องใช้เวลาบ้างเป็นธรรมดา ที่ตอบทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องบอกเล่าถึงแนวทางกว้าง ๆ ของการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้น ส่วนรายละเอียดคงต้องไปถามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะบอกได้มากกว่านี้”