“โฆสิต”เสนอแผนฯ11 รื้อฟื้นการทำแผนภาค สร้างคนชั้นกลางให้กระจาย
สภาพัฒน์ฯ ระดมความคิดร่วมวางแผนฯ 11 กำหนดอนาคตประเทศ นายกฯ แนะทำแผนฯ ต้องให้ความสำคัญ ดึงทุกภาคส่วนมาร่วมกำหนดทิศทางประเทศ เลขาฯ สภาพัฒน์ เผยพบ 5 จุดความเสี่ยง หลังระดมความคิดเห็น 4 ภาค "โฆสิต" ชี้เปิดศักราชเดินหน้าคุณภาพสู่การพัฒนา วันนี้ต้องไม่ใช่เรื่อง GDP แต่ต้องสร้างงานที่มีคุณภาพ ทำให้มีคนชั้นกลางมากขึ้น
วันนี้ (6 ส.ค.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. ) จัดการประชุมประจำปี 2553 "ทิศทางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11" ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธานเปิดการประชุม
โอกาสนี้ นายอภิสิทธิ์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "รัฐบาลกับการปฏิรูปประเทศไทย" ถึงการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ซึ่งจะเป็นแผนกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศอีก 5 ปี (2555-2559) ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะที่ผ่านมาการจัดแผนในระยะแรก เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว แม้จะประสบความสำเร็จด้านการพัฒนา แต่ก็ประสบความสำเร็จเฉพาะด้าน ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาทางสังคม
“ปัญหาทางสังคม ความขัดแย้งทางการเมือง มีรากฐานเกิดจากการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล ดังนั้นการจัดทำแผนฯ ควรให้ความสำคัญดึงทุกภาคส่วนมาร่วมกำหนดทิศทางของประเทศ รวมทั้งการผลักดันเรื่องการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ครึ่งปีแรกเติบโตถึงร้อยละ 10 ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว โดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน พลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ รวมทั้งการส่งออก หรือภาคเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งยืนยันได้ว่า ประเทศไทยวันนี้ได้ฟันผ่าก้าวพ้นวิกฤตตรงนี้ได้แล้ว อีกทั้งไม่ต้องมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเหมือนที่ได้เคยวางแผนไว้
ปี 59 ระบบสวัสดิการของไทยต้องชัดเจน
สำหรับทิศทางแผนฯ 11 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ควรมองข้ามการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และต้องพัฒนาจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน มากกว่าให้ส่วนกลางกำหนดแนวทางต่างๆ ลงไป ซึ่งสิ่งที่จะขอเน้นย้ำ “คน” คือ ทรัพยากรที่สำคัญ เป็นหัวใจของการทำแผนฯ 11 โดยขอให้เน้น 2 ส่วน ที่เกี่ยวกับคน ทั้งความมั่นคงของมนุษย์ และ การพัฒนาความรู้ คุณธรรม และจริยธรรม
“ภายใต้แผนฯ 11 สิ้นสุดปี 2559 เราต้องตั้งเป้าระบบสวัสดิการของไทยให้มีความชัดเจน เป็นระบบสวัสดิการที่มีความยั่งยืน ไม่ว่าคนไทยเกิดที่ไหนต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐาน โดยไม่ใช่สิ่งที่ภาครัฐหยิบยื่นให้ฝ่ายเดียว เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนจ่ายสมทบ สุดท้ายไม่กระทบฐานะการเงินการคลัง”
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ภายในปี 2559 เรื่องลดความไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายภาคส่วน ความมั่นคงทางรายได้ ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ปัญหาหนี้สิน ในแผนฯ 11 สิ่งที่จะปรากฏในควรมีรูปแบบการจัดการปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรม มีทั้งหลักคิดและมีเอกภาพ
ไม่ละเลยเรื่องน้ำ ขนส่ง คมนาคม
ส่วนการสนับสนุนเชิงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องน้ำ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในแผนฯ 11 จะต้องตั้งเป้าและกำหนดกรอบตรงนี้อย่างไร รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร ที่ควรตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหาร พลังงาน รวมทั้งเรื่องขนส่งและคมนาคมนั้น 5-6 ปีข้างหน้า ก็ควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาระบบราง ถนน เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงโลก ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดให้ชัดลงไป นอกจากนั้นยังมีเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ และเรื่อง 3G เพื่อลดช่องว่างคนในเมือง คนชนบท ให้มีความเสมอภาค เรื่องกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
"ในระยะยาว นอกจากปัญหาที่ท้าทายการแข่งขันระหว่างประเทศแล้ว การปรับกระบวนการพัฒนา ก็ควรเน้นการพัฒนาที่เป็นธรรม สมดุลและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เลิกแนวคิดพัฒนาไปก่อนแล้วมาตามแก้ทีหลัง สุดท้ายการรณรงค์ค่านิยมจิตสำนึกของคน ทั้งจากสื่อ ประชาชน ชุมชน ให้เข้าร่วมและสนับสนุนการทำแผนฯ นี้ให้สำเร็จ”
5 จุดความเสี่ยงประเทศไทย
จากนั้น การประชุมมีการนำเสนอและอภิปรายเรื่อง "ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่11" โดย ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช. คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และนายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีดร.พนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการอภิปราย
ดร.อำพน กล่าวถึงการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ของแผนฯ 11 ว่า ที่ผ่านมามีการประชุมระดมความคิดเห็น 22 เวที ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน 132 หมู่บ้านทั่วประเทศ ,ประชุมระดมความคิดเห็นระดับภาคทั้ง 4 ภาค และประชุมระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม รวม 4 กลุ่ม กลุ่มธุรกิจ ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน และสื่อมวลชน จนพบ 5 จุดความเสี่ยงประเทศไทยที่เห็นพ้องกัน คือ 1. การบริหารงานภาครัฐที่อ่อนแอ 2.โครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 3.โครงสร้างประชากรไม่สมดุล 4.ค่านิยมที่ดีงามของไทยเสื่อมถอย และ5.ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของประเทศมีแนวโน้มเสื่อมโทรมรุนแรง
สำหรับภูมิคุ้มกันที่จำเป็นต่อประเทศ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนคิดว่า เป็นแนวหลักสร้างภูมิคุ้มกัน คือ 1.การที่ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ให้ภาคการเกษตรเป็นฐานรายได้หลัก และความมั่นคงด้านอาหาร 3.การพัฒนาประเทศให้อยู่บนฐานความรู้และเทคโนโลยี ที่ทันสมัย 4.สังคมไทยมีค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีงาม 5.ชุมชนเป็นกลไกที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ 6.ประเทศไทยมีศักดิศรีของความเป็นเอกราชและเป็นมิตรกับนานาประเทศ
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ฯ ได้มีทิศทางแผนฯ 11 “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” โดยกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 6 ข้อ ยุทธศาสตร์สร้างความเป็นธรรมในสังคม, ยุทธศาสตร์ การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน, ยุทธศาสตร์ การสร้างความสมดุลและมั่นคงของอาหารและพลังงาน, ยุทธศาสตร์ การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้และการสร้างปัจจัยแวดล้อม , ยุทธศาสตร์ การสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค และยุทธศาสตร์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ขณะที่คุณหญิงสุพัตรา กล่าวชื่นชมกระบวนการลงไปฝังตัวกับชาวบ้านเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่ เพราะในอดีตเมื่อมีการกล่าวถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็มักจะคิดว่าเป็นเรื่องมหภาค ประชาชนไม่มีส่วนร่วม กลายเป็นถูกบังคับให้อยู่ภายใต้แผน ซึ่งกระบวนการจัดทำแผนฯ 11 นี้ ถือเป็นการสร้างความร่วมมือที่ดี คืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น ให้เขาเป็นคนตัดสินใจเอง และเชื่อว่า หากชุมชนเข้มแข็งบ้านเมืองก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย
"โฆสิต" แนะแผนฯ 11 เน้นคุณภาพการพัฒนา
ส่วนนายโฆสิต กล่าวว่า แผนฯ 11 ถือเป็นทิศทางใหญ่ของประเทศชาติ ประเด็นการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป ดังนั้นต้องมองระยะ 15 ปีที่ผ่านมาด้วย เรามีวิกฤตใหญ่ 2 ครั้ง วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และวิกฤตการเมือง ทั้งหมดเกิดมาจากคุณภาพของการพัฒนา
“การพัฒนาที่ผ่านมาอาจมีคุณภาพไม่พอ จึงเกิดวิกฤต วันนี้ช่วยกันหาได้หรือไม่ว่า คุณภาพของการพัฒนาที่ช่วยกันเติมให้ดีขึ้นเรื่อยๆ คืออะไรบ้าง ณ วันนี้เรารู้เพียงว่า การพัฒนาไม่มีคุณภาพควรหลีกเลี่ยง มี 2 เรื่อง ปี 2540 เกิดวิกฤต จึงรู้ว่า สาเหตุมาจากหนี้สินเกินขอบเขต หนี้สินต่างประเทศ กลายเป็นเรื่องที่สอนเรา ต่อมาได้เห็น ไม่ใช่เมืองไทยมีปัญหานี้เท่านั้น ล่าสุดประเทศกรีซ ก็มีหนี้ ประเทศสหรัฐฯ ก็เจอเหมือนกัน จนเข้าใจความแตกต่างระหว่างการเจริญทางเศรษฐกิจกับคุณภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ การที่เศรษฐกิจโตได้ด้วยหนี้ แต่ไม่มีคุณภาพ จึงกลายเป็นข้อสรุปมีหลักฐานแน่นหนาแล้ว”
สร้างคนชั้นกลางให้กระจายไปอีสาน เหนือ
นายโฆสิต กล่าวถึงวิกฤตทางการเมืองของไทย รัฐบาลพยายามหาหนทางหลายอย่าง หนึ่งในนั้นเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจเป็นประเด็นหนึ่งในเรื่องการพัฒนา ที่ประชาชนรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกันของการพัฒนาประเทศ 15 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นจากนี้ไปเราน่าจะเดินหน้าไปสู่คุณภาพการพัฒนา อาจเริ่มต้นจากแผนฯ 11
“เรื่องการพัฒนาที่มีคุณภาพ หลายคนพูดหลายเรื่อง แต่จากประสบการณ์จากทั่วโลกต้องมีโครงสร้างที่มีคนชั้นกลางจำนวนมาก จุดใหญ่ของไทย คือ มีคนชั้นกลางจำนวนน้อยเกินไป แถมกระจุกตัวมากเกินไปในกรุงเทพฯ ทำให้คนรู้สึกว่า โอกาสไม่มี ต้องเข้ากรุงเทพฯ ถามว่า ตรงนี้หรือไม่ ถ้าใช่ จากนี้เป็นต้นไป ทำอย่างไรให้ผลการพัฒนาเกิดชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น และกระจายไป อีสาน เหนือ ”
กรณีวางรากฐานทำให้มีชนชั้นกลางมากขึ้น ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า คืองานที่มีรายได้ เลี้ยงตัวเอง ครอบครัว และมีอนาคต วันนี้การพัฒนาต้องตัดนิดหน่อย ไม่ใช่เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ต้องเป็นการสร้างงานที่มีคุณภาพ ทำให้มีคนชั้นกลางมากขึ้น ให้คนเหล่านั้นอยู่กระจายมากกว่านี้ โดยเฉพาะการทำแผนระดับภูมิภาค (Regional Plan) ยืนยันว่า เป็นเครื่องมือที่ดี ทำอย่างไรให้ภาคนั้นมีศักยภาพสูงขึ้น คนมีฝีมือ มีความรู้ มีความสามารถในการบริหารจัดการ
“ถามว่าวันนี้ พื้นที่อีสานไม่มีหรือ มี แต่ไม่มีเครื่องมือนำสิ่งเหล่านี้มาเชื่อมโยงให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ของเขา ดังนั้น ต้องทำแผนภาค ถามว่า ทำไมภาคอีสาน จึงมีคนชั้นกลางน้อย ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรดี มีจำนวนประชากรสูงมาก จึงขอฝากไว้ว่า แผนภาคเหมาะกับเวลานี้ ต้องเปิดศักราชเดินหน้าคุณภาพสู่การพัฒนา สร้างคนชั้นกลางให้กระจาย มีเครื่องมือ บวกแผนภาคเข้าไป ซึ่งเชื่อว่า น่าเป็นเครื่องมือ เป็นเสาหลักของการพัฒนาที่มีคุณภาพ”
ด้านนายดุสิต กล่าวถึงการเขียนแผนพัฒนาประเทศว่า การเขียนแผนที่ดียังไม่พอ ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ มีการติดตามผล โดยเฉพาะภาครัฐ ควรให้ความสำคัญในเรื่องการประสานงานระหว่าง กระทรวง ทบวง กรม ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน
เมื่อมองบทบาทของสภาพัฒน์ฯ นายดุสิต กล่าวด้วยว่า ต้องมีความเข้มแข็ง ทำหน้าที่สมบูรณ์แบบ กล้าหาญทานนักการเมือง นอกจากนี้ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการศึกษา ซึ่งในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะเกิดประชาคมอาเซียน แต่การศึกษาไทยไม่ได้เตรียมการรับ ขณะเดียวกันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เมื่ออาเซียนเกิดขึ้น ประเทศไทยต้องลดการพึ่งพาส่งออก ประสานการค้าขายในอาเซียนให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายมีการประชุมกลุ่มย่อย 4 ห้อง ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 เศรษฐกิจเข้มแข็งบนฐานความรู้และมีภูมิคุ้มกัน กลุ่มที่ 2 การพัฒนาคนและสังคมสู่ศตวรรษที่ 21 กลุ่มที่ 3 การสร้างสมดุลอาหารและพลังงานแบบฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กลุ่มที่ 4 การบริหารจัดการจากแผนสู่การปฏิบัติ