ปัญหาคนชายขอบความมั่นคงยุคใหม่-เตือนความไม่สงบใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ดร.สุรชาติ ชี้ภัยความมั่นคงทางทหาร-สังคม ปัญหาย้ายถิ่น ขาดอาหาร-ทรัพยากร วิธีปฏิบัติรัฐต่อคนชายขอบกำลังสร้างความรุนแรงเหมือน 3 จว.ชายแดนใต้ ดร.ปริญญา บอกสังคมไทยต้องเคารพกติกา-เตือนความไม่สงบใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
วันนี้(4 ก.ค. 53) สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดบรรยายหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง(บสก.) รุ่น 2 โดย รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายเรื่อง“ภัยคุกคามความมั่นคงในโลกยุคใหม่” ว่าโลกที่เปลี่ยนไปหลังสงครามในยุโรปซึ่งทำให้เกิดสังคมนิยมและทุนนิยม ทำให้คนรู้สึกว่าความมั่นคงเป็นเรื่องใกล้ตัวและเรียกร้องมากขึ้น ซึ่งความมั่นคงแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ความมั่นคงที่มีทหารเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องการปกป้องประเทศและภัยคุกคามต่างๆ และความมั่นคงที่ไม่เกี่ยวกับทหาร คือความมั่นคงทางสังคม เช่น คนกลุ่มน้อยที่กำลังถูกคุกคามด้านอัตลักษณ์ คนย้ายถิ่นทั้งภายในและข้ามรัฐ ดังกรณีคนอีสานประสบปัญหาภัยแล้งจึงมุ่งหน้าเข้าเมืองหางานทำ ความมั่นคงด้านทรัพยากร เช่น น้ำมันแพงทำให้อาหารแพง
“ค.ศ.2008 มีข้อถกเถียงกันมากเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เมื่อมีผู้ออกมาต่อต้านการปลูกพืชพลังงานเพราะเกรงว่าอาหารบริโภคจะไม่พอเพียง และพื้นที่เกิดสงครามส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักเกิดในพื้นที่ที่มีน้ำมัน แต่สิ่งที่ต้องระวังคืออนาคตความขัดแย้งชุดใหม่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ปัญหาคือจะเริ่มจากตรงไหนของโลกซึ่งไม่มีใครรู้ ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ชนะคือผู้มีเงินในกระเป๋าที่จะใช้อาวุธต่างๆได้”
ดร.สุรชาติ ยังกล่าวว่า ความมั่นคงของชนกลุ่มน้อยหรือคนชายขอบมีปัญหามาก เนื่องจากวิธีแก้ปัญหาทุกประเทศทั่วโลกมีหลักการเหมือนกัน สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติของรัฐบาลที่กระทำต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเริ่มจากการปราบ ถ้าไม่สามารถควบคุมได้ ถึงจะเริ่มเจรจา แต่ในการเจรจาส่วนมากข้อต่อรองของชนกลุ่มน้อยหรือคนชายขอบคือขอตั้งประเทศเอกราชใหม่ ให้ทำเป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่งถ้ายอมรับข้อเรียกร้องไม่ได้ก็จะส่งกำลังไปตรึงพื้นที่เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ตอนนี้
ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายเรื่อง“วิเคราะห์กฎหมายรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมืองไทย” โดยเปรียบเทียบว่ารัฐธรรมนูญไทยเหมือนการแข่งขันฟุตบอล หากมีกติกาจะช่วยให้สังคมมีขอบเขต แต่ที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหากลับใช้กำลังยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่อาจเรียกได้ว่าประชาธิปไตย
“ประชาธิปไตย คือ ประชา+อธิปไตย = การปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ระบบประชาธิปไตยจึงต้องมาจากประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน ดังนั้นการเลือกตั้งทุกกากบาทที่ลงไปถือเป็น 1 คะแนนเท่ากันหมด ไม่ว่าคุณจะเป็นใครร่ำรวยขนาดไหน เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ แต่หลักความเสมอภาคไม่ควรมีอยู่แค่ในคูหาเลือกตั้ง”
ดร.ปริญญา กล่าวว่า ควรสร้างสังคมให้มีความเสมอภาค ทั้งเสียงข้างน้อยและเสียงข้างมาก ถ้ามีความเคารพต่อความเห็นของแต่ละฝ่าย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ที่สำคัญการโหวตไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป เนื่องจากจะเป็นการสร้างความแตกแยกให้สังคมเพราะมีคนแพ้และคนชนะ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องยากเนื่องจากความยาวที่มีถึง 44,765 คำ ซึ่งถ้าให้อำนาจถ่วงดุลกันเองและทำให้รัฐธรรมนูญสั้นลงจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ปัจจุบัน ประชาชนยังขาดความเข้าใจกติกาทำให้ควบคุมการทำงานของภาครัฐลำบาก
“ฟุตบอลมีการใช้กติกา ถ้าไม่มีกติกา ผู้แข็งแรงกว่าจะเป็นผู้ใช้กำลังจนผู้อ่อนแอเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ดังนั้นการกำหนดกติกาเพื่อให้ทุกคนสามารถตัดสินปัญหาได้อย่างเท่ากัน แต่ถ้ามีกติกาแล้วไม่เคารพ ก็จะกลับไปสู่จุดที่ทะเลาะกันแล้วทหารมาล้มกติกาพร้อมบอกว่ามาเริ่มกันใหม่ ฉะนั้นผู้เล่นต้องเคารพกติกา และกรรมการต้องตัดสินด้วยความเป็นธรรม”
ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้ ส.ส. ไม่มีอิสระในการทำงาน ล่าสุดที่นายกฯ ยังไม่ประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยชี้แจงว่าให้เลือก ระหว่างการคง พ.ร.ก.ไว้แต่สังคมมีความสงบ กับบ้านเมืองไม่มี พ.ร.ก.แต่เกิดความไม่สงบอีกครั้งหนึ่งซึ่งต้องระวังว่าอาจเกิดความไม่สงบภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะอำนาจยิ่งใช้ยิ่งหมดไป เมื่อคนเริ่มชาชิน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จะไม่มีผลอีกต่อไป .