“อานันท์” เสนอคุมกำเนิดกทม. เริ่มต้นลดความเหลื่อมล้ำ แย่งชิงทรัพยากร
เผยการปฏิรูป ต้องใช้เวลานานกว่า 300 ปี ตราบใดมนุษย์ยังมีการเปลี่ยนแปลง พร้อมชี้ ประชาชนอย่ากลัวการปฏิรูป ต้องสู้เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์สุขของทุกคน ด้าน มีชัย วีระไวทยะ เสนอปฏิรูปประเทศ รัฐบาลฐานะผู้เช่าบ้านต้องมีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือ อย่าคิดว่ารัฐจะให้ทุกอย่างกับประชาชนได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (3 ส.ค.) นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูป ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ปฏิรูปประเทศไทย ในงาน”ครบรอบ 36 ปี สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน(PDA) ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปประเทศไทย คือ การปฏิรูปสังคม เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งตนคิดว่าอยากให้มีการคุมกำเนิดกรุงเทพมหานคร เพื่อลดการแย่งชิงทรัพยากร จากเศรษฐกิจที่กระจุกตัวในเมืองลงสู่ชนบท อาทิ ถนน สะพาน สิ่งก่อสร้างสาธารณประโยชน์ รวมทั้ง ครู แพทย์ วิศวกร โรงพยาบาลที่มีคุณภาพ เพื่อให้ช่วยเกิดความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองหลวงและชนบท
“การจะทำการปฏิรูป ต้องคำนึงถึงมิติการเปลี่ยนแปลงของเมืองไทย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเดินต่อไปได้ เริ่มต้นการคุมกำเนิดกรุงเทพฯ ลดการสร้างสะพาน ถนน กระจายความสะดวกสบายออกสู่ชนบท ให้คนที่เข้ามาทำงานในเมืองกรุง รู้สึกเบื่อหน่ายกรุงเทพมหานคร และกลับสู่บ้านเกิด จะเป็นการพัฒนา และกระจายประชากรกลับถิ่นฐาน”
นายอานันท์ กล่าวต่อว่า ที่ใช้คำว่าปฏิรูป อาจไม่ใช่คำว่าปฏิรูปประเทศไทยเพียงอย่างเดียว เพราะทะเยอทะยานมาก และไม่เพียงใช้เวลาแค่ 3 ปีจะสำเร็จ แต่ต้องใช้เวลานาน อาจจะมากกว่า 300 ปี ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังว่าการปฏิรูปเป็นกระบวนการไม่มีจบ เพราะธรรมชาติของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไม่รู้จักจบสิ้น
“เริ่มต้นทุกคนต้องรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ บางอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติ และบางอย่างเกิดจากการหากฎหมาย กติกา กฎเกณฑ์ วิถีความคิด ซึ่งปัญหาไม่ใช่การจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง หรือเพราะเป็นเรื่องที่ถูกต้องจำเป็นต้องทำ หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตไม่สามารถปล่อยตามยถากรรมได้ มีหลายอย่างที่ต้องดูแล และไม่ปล่อยให้เป็นไปตามวิวัฒนาการ เพราะจะนำไปสู่สิ่งที่ไม่ดี โดยเฉพาะในสังคมไทยที่เป็นสังคมที่อนุรักษ์นิยม ต้องสู้กับความเปลี่ยนแปลง จัดการและบริหารความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้ประโยชน์สุขกับคนทั่วไป”
ประธานคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวต่อว่า เมืองไทยมีการปฏิรูปมานาน เกิดก่อนการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูป นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนกระทั่งการรัฐประหาร ซึ่งการปฏิรูปสามารถเป็นได้หลายอย่างทั้งดีและไม่ดี สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปที่เกิดขึ้นนี้ ขอย้ำว่าไม่ได้เกิดจากรัฐบาล เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากองค์กรภาคประชาชน ซึ่งวิธีการ บทบาท การทำงานจะเป็นของตนและศ.นพ.เท่านั้น เป็นอิสระ ซึ่งรัฐบาลไม่ใช่เจ้าของ แต่เจ้าของการปฏิรูป คือ ประชาชน
“โดยสำหรับการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป ประกอบด้วยนักคิด นักปฏิบัติ ผู้เชียวชาญ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน อาทิ ประวัติศาสตร์ ทรัพยากรศาสตร์ กฎหมายแรงงาน ฯลฯ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุคลากรทางการเมือง และผู้ที่ทำงานประจำ โดยข้อเสนอของ คปร.จะเป็นแผนปฏิบัติ(action plan) แบ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว จากปัญหาที่หมักหมมมานาน ซึ่งต้องใช้ยุทธศาสตร์ในเชิงรุกเข้าจัดการภายใต้โจทย์ใหญ่ที่ต้องทำร่วมกัน โดยไม่มีสี ไม่มีอคติ ไม่มีวาระซ่อนเร้น มีเพียงอย่างเดียว คือ อยากทำงานร่วมกันในความคิดเห็นที่ต่างกัน เน้นความเป็นฉันทามติ เพื่อให้เป็นแบบฉบับในการเริ่มต้นการอยู่ด้วยความคิดต่างแต่อยู่ด้วยกันได้ในสังคม เพราะตราบใดที่ทุกคนยังนั่งอยู่ห้องเดียวกัน คุยกันด้วยเหตุผลและความจริง เข้าใจซึ่งกันและกัน จะไม่นำพาไปสู่ความรุนแรง”
นายอานันท์ กล่าวอีกว่า ถึงเวลาที่ทุกคนต้องร่วมคิดร่วมทำ อย่าเพิกเฉย ต้องรวมพลังแต่ไม่ใช่เป็นพลังเชิดชูหรือไปต่อต้านใคร แต่ต้องเป็นการรวมตัวเพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ประเทศเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะขณะนี้สังคมไทยยังมีการพูดคุยกันไม่เพียงพอ มีเพียงการด่า อาฆาต เกลียดชัง จำเป็นต้องสร้างให้เกิดเปลี่ยนความคิด หันหน้าคุยกัน และต่างกันได้แต่ไม่เป็นศัตรูกัน
สำหรับกรณีที่ประชาชนยังสับสนเรื่องการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป ชุดนายอานันท์ เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ชุดศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน เป็นคณะกรรมการปรองดองหรือไม่นั้น นายอานันท์ กล่าวว่า การปรองดองของรัฐบาล มีองค์ประกอบแต่ละแท่งชัดเจนในการทำงานเรื่องใด ขอย้ำว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยทั้งสอง ไม่เกี่ยวกับการปรองดอง เพราะการปอรงดองเกิดจากการพยายามรวมตัวของกลุ่มการเมืองที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรง แต่การร่วมกันปฏิรูปของคณะกรรมการจะเป็นการช่วยปรับเปลี่ยนสังคมทุกด้าน ปรับปรุงระบบและโครงสร้าง ทั้งความเหลื่อมล้ำในสังคม เสริมสร้างสมรรถนะ ช่วยขับเคลื่อนสังคมให้มีความเข้มแข็ง อันนำไปสู่สังคมศานติสุข เจริญมั่นคงต่อชาติบ้านเมือง แต่ผลของคณะกรรมการปฏิรูปจะมีส่วนในการเกื้อกูล และช่วยความขัดแย้งได้
“เป้าหมายการปฏิรูป คือ ลดความเหลื่อมล้ำเรื่อง รายได้ โอกาส สิทธิ อำนาจต่อรอง โดยยึดหลักภายใต้สังคมที่มีความยุติธรรม และต้องบอกว่าไม่มีสังคมใดไม่มีความเหลื่อมล้ำเลย เป็นธรรมชาติ การนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเพียงการยืนพื้น อย่าฝันหวานว่าต้องเป็นสังคมที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำเลย เป็นไปไม่ได้ แต่การสามารถแบ่งแยกได้ว่า สิ่งใดที่เราสามารถทำได้ แก้ได้ ต้องทำก่อน จะเป็นการเริ่มปรับแก้สิ่งที่ไม่เป็นธรรมต่างๆได้ โดยต้องเป็นสิ่งที่สังคมเอาด้วย และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม”
สุดท้าย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานของ คปร. จะมี 5 มิติ คือเศรษฐกิจ , สิทธิ , โอกาส , อำนาจต่อรอง และ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งทางคณะกรรมการปฏิรูปจะลงพื้นที่รับฟังในพื้นที่ต่างๆ โดยอาศัยความคิดประสบการณ์ของคนไทย ความร่วมมือของทุกฝ่าย และเชื่อว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงได้ เพราะปัญหาเกิดจากคน ต้องแก้ได้ ร่วมกันคิดร่วมกันทำ โดยมีตัวตั้ง คือ ประชาชนที่ได้รับการเดือดร้อน
ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน(PDA) กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูปประเทศไทยว่า ประชาชนเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของประเทศ และรัฐบาลเป็นเพียงผู้เช่าบ้าน ดังนั้น ผู้เช่าบ้านต้องมีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือ อย่าคิดว่ารัฐจะให้ทุกอย่างกับประชาชนได้ 2.อยากให้ช่วยผลักดันให้หักลดหย่อนภาษี และ 3.รัฐอย่าลงไปสัมผัสชาวบ้านด้วยเงินทอง เพราะจะเป็นเหมือนการโยนเนื้อให้สัตว์ประหลาดกิน ซึ่งควรมีผู้ใหญ่บ้านกิตติมศักดิ์ อย่างน้อยหมู่บ้านละ 3 คนเพื่อรับรู้ปัญหาของประชาชนอย่างจริงจัง และส่วนหนึ่งควรเป็นผู้หญิง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน นอกจากนั้น สิ่งสำคัญ คือ ควรกระตุ้นให้สร้างจิตสาธารณะ ตั้งแต่วัยเด็ก และสุดท้าย ต้องสร้างให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของบ้านช่วยกันดูแล อย่าปล่อยให้ผู้เช่าบ้านมาดูแลเท่านั้น