"เดชรัต" เผย คปร. พร้อมเปิดเวทีพูดคุยสาธารณะครั้งใหญ่ 23 ก.ย
เล็งลงพื้นที่ภูมิภาคได้ทั่วประเทศ เดือนสิงหาคม ด้าน “บัณฑร อ่อนดำ” ระบุต้องพูดคุยกับกรรมการชุดหมอประเวศก่อน ส่วนชุดนี้ทำแก้ในสิ่งที่แก้ได้ เช่น เรื่องความจน หนี้สิน แม้จะเป็นเรื่องยาก-แก้ไม่ได้ ก็จะเข้าไปเพียงช่วยลด
วันนี้(2 ส.ค.) เวลา 13.00 น.คณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการปฏิรูป ณ บ้านพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร โดยดร.เดชรัต สุขกำเนิด เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้รวมประเด็นจากสัปดาห์ก่อน 15 ประเด็นให้เป็นกรอบแนวทางชัดเจน 14 ประเด็น คือ 1.เรื่องที่อยู่อาศัย ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน 2.ค่าจ้าง คุณภาพชีวิต แรงงาน 3. ระบบสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคม 4.การศึกษา 5.หนี้สิน 6.ระบบงบประมาณ ที่ต้องกระจายลงไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน 7.ระบบการกระจายอำนาจ บทบาทของการปกครองส่วนท้องถิ่น 8.การสร้างชุมชน รวมทั้งการรักษาชุมชนเดิม และสร้างชุมชนใหม่ในเมือง 9.ระบบราชการ โดยเฉพาะการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ 10.ระบบยุติธรรม 11.การจัดทรัพยากรน้ำ 12.ระบบสาธารณสุข ที่เน้นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนเมือง 13.อิทธิพลเถื่อน และ 14.การจัดการเรื่องเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม
"หลังจากนี้ ทั้ง14 ประเด็นจะจัดรวมเป็น 5 มิติ คือ เศรษฐกิจ , สิทธิ , โอกาส , อำนาจต่อรอง และ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยในบางเรื่องอาจจะเข้าไปอยู่ในหลายมิติ ซึ่งจะได้ร่างการทำงานอย่างชัดเจนประมาณวันพฤหัสบดี (5 ส.ค.) ก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ได้รับรู้ร่วมกัน และในวันจันทร์ (9 ส.ค.) จะมีการประชุมจัดความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอีกครั้ง"
ดร.เดชรัต กล่าวถึงขั้นต่อไปจะทำการลงพื้นที่จัดตั้งเวทีสาธารณะพูดคุยหารือในประเด็นต่างๆ ครั้งใหญ่ ประมาณวันที่ 23 กันยายน ที่กรุงเทพมหานคร และดำเนินการจัดเวทีในส่วนภูมิภาคได้ก่อนในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งแต่ละครั้งจะมีคณะกรรมการลงพื้นที่ประมาณ 3-5 คน เพื่อลงในกรณีปัญหาเฉพาะ เช่น เรื่องที่ดิน ที่จังหวัดลำพูน ส่วนในกรณีพื้นที่ที่มีความชัดเจนเรื่องปัญหาและมีความจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆจะเสนอลงพื้นที่เป็นระยะๆ
ด้าน ผศ.บัณฑร อ่อนดำ คณะกรรมการปฏิรูป กล่าวถึงการลงไปทำงานในพื้นที่ทางชุดคณะกรรมการปฏิรูปต้องมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ชุด ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานอย่างชัดเจนเสียก่อน เนื่องจากต้องใช้งบประมาณร่วมกัน แต่หน้าที่หลักของกรรมการชุดนี้ คือการวิเคราะห์ แต่จะไม่ได้จัดร่วมกัน ซึ่งทาง คปร.จะจัดโดยใช้แนวทาง 2 แนว คือ จัดเพื่อประกาศให้ทุกคนมาพูดคุยปัญหาทั้งหมด จากทุกเครือข่ายให้พูดทุกประเด็น ก่อนนำไปหาคำตอบเรื่องเร่งด่วนในภายหลัง ซึ่งใช้มาตรฐานวัดความเร่งด่วนจากความเดือดร้อนของประชาชน
“บางเรื่องที่ไม่สามารถแก้ได้ ทางประธานแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องแก้ และจะแก้ในสิ่งที่แก้ได้ เช่น เรื่องความจน หนี้สิน ที่เป็นเรื่องยากและแก้ไม่ได้ ก็จะเข้าไปเพียงช่วยลด ดังนั้น จะทำในสิ่งที่เป็นไปได้ในเบื้องต้น”