หม่อมอุ๋ยแนะกก.ปฎิรูป แก้ 3 ปัญหาความขัดแย้ง
ตุลาการศาลรธน.หนุนใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูขาปรับโครงสร้างปท. ขณะที่หม่อมอุ๋ยแนะคณะทำงานปฎิรูปประเทศไทยแก้ 3 ปัญหา สองมาตรฐาน-ผู้นำแต่ละฝ่ายเลิกจับผิดและสื่อที่เป็นตัวการขยายความขัดแย้ง
วันนี้ (24 ก.ค.) สถานีวิทยุ อสมท F.M.96.5 MHz จัดงานสัมมนาครึ่งปีประเทศไทย “คิดเพื่ออนาคต ถอดโจทย์ประเทศไทย ตอน:เส้นทางปฏิรูป” ณ โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ ถ.รัชดาภิเษก โดยมีนายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป ปาฐกถาเรื่อง คิดเพื่ออนาคต ถอดโจทย์ประเทศไทย ตอน สู่เส้นทางปฏิรูป
จากนั้น เวทีสัมมนา มีวิทยากรประกอบด้วย ศาตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย นายพัชระ สารพิมพา ผู้ดำเนินรายการข่าวเด่นประเด็นร้อน F.M.96.5 MHz
ดร.ปริญญา กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาเพราะจำนวนรัฐธรรมนูญหรือคำในรัฐธรรมนูญยิ่งเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งแก้ปัญหาไม่ได้ พร้อมกับยกตัวอย่างเรื่องฟุตบอลว่า การเป็นนักฟุตบอลมีค่าตัวแพงแค่ไหน ในสนามทุกคนเสมอกันภายใต้กติกาเดียวกัน
"ของเราถามเรามีกติกามีไหม ใช้ได้หรือไม่ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว18 ฉบับแต่ปรากฎว่าถูกฉีกทิ้ง ใช้ไม่เป็นเพราะนักฟุตบอลไม่เคารพกติกา นักฟุตบอลตีกัน คนดู ตีกัน รปภ.สนามเข้ามายุติการแข่งขัน ได้ผลหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องตั้งโจทย์ใหม่ คิดใหม่ว่า การที่กรรมการตัดสินฟุตบอล ตัดสินตามกติกา ทำไมผู้ตัดสินไม่สามารถเป่่านกนกหวีดช่วยได้ เพราะคนดูรู้กติกา การแข่งขันฟุตบอลโลกที่ผ่านมา คือคนทั้งโลกรู้กติกา กรรมการเพียงแค่ตัดสิน"
รองอธิการบดี มธ. กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ 2550 หนามาก คนดูรู้หรือไม่ เช่น กรณีการลงประชามติ อ่านกันหรือไม่ ซึ่งเห็นด้วยว่ากติกาไม่จำเป็นต้องหนา แต่ควรให้อำนาจถ่วงดุล สร้างพลเมืองระบอบประชาธิปไตย ให้เคารพกติกา สร้างพลเมืองเคารพผู้อื่น เคารพกติกา หากแก้การเมืองได้ เรื่องอื่นเราไปฉลุย
ขณะที่นายจรัญ กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะมีหลายฉบับและพยายามทำหน้าที่ให้เข้ามาแก้ปัญหาเดิม ส่วนแก้ไขแล้วได้ผลมากน้อยหรือผลกระทบอื่นตามมาก็ต้องปรับ เพราะคงไม่มีรับธรรมนูญฉบับไหนสมบูรณ์แบบ การแก้ไขในครั้งนั้นเพราะมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นกลางที่แท้จริงขององค์กรอิสระ เนื่องจากถูกครอบงำจากฝ่ายข้างมาก ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็เปิดช่องฝ่ายการเมือง ครอบงำ ส่งคนไปเป็นกรรมการอิสระ เกือบทั้งชุด แม้ในศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีให้เราสงสัย
“ต้องพูดให้ชัดว่า ความเห็นแก่ตัว เห็นพวก พรรค เป็นใหญ่จนกระทั่งทำร้ายบ้านเมือง ต้องเลิก ไม่ใช่เกลี่ยปัดปัญหาเข้าใต้พรม เราเทิดทูนบูชาคน พรรค องค์กร จนลืมประเทศชาติ และสาเหตุหนึ่งที่เป็นภัยภายนอกเข้ามาคุกคาม คือกระแสวัตถุนิยม ธนบัตรนิยม ทรงพลานุภาพ ใช้ให้ผีโม้แป้งได้ ทำให้คนที่เราเคารพนับถือ กลายเป็นคนชั่วร้าย ทำอย่างไรเราจะแก้ปัญหาของชาติที่รากฐานนี้ ต้องมาตั้งต้นที่โครงสร้าง อุดมการณ์ของประเทศไทยคืออะไร ทำจริงเป็นระบบ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาต้องเข้ามาช่วย”นายจรัญ กล่าว
ด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า รูปแบบขององค์กรปฎิรูปประเทศไทย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ทำให้รู้สึกมีความหวัง เนื่องจากมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาทั้งทางด้าน การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ การปฎิรูปจะทำได้สำเร็จหรือไม่นั้น อยู่ที่ลักษณะการทำงาน หากดูองค์กรแบ่งเป็น 2 ชุด กรรมการชุดที่มีศ.นพ.ประเวศ สามารถกลั่นกรองออกมาเป็นข้อสรุปที่มีความหมาย ขณะที่ชุดของนายอานันท์ มีกรรมการครบจึงไม่รู้สึกห่วง แต่เกรงว่าพอรับปัญหามาแล้ว จะคิดนโยบายมาตรการที่ปฎิบัติจนเกิดผลได้หรือไม่ เพราะวงนี้มีนักวิชาการจำนวนมากหวั่นว่าจะมาเถียงจนหมดเวลา
“ปัจจุบันความขัดแย้งยังมีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องสองมาตรฐาน และบุคคลระดับนำสองฝ่าย ยังไม่ให้อภัย และจับผิดกันอยู่ เป็นเชื้อใหญ่ให้คนนำไปขยายและแค้นเคืองกันต่อ และสื่อ ซึ่งตราบใดที่สื่อทีวี เป็นมือของทั้ง 2 ฝ่าย หยิบประเด็นสร้างความแค้น 3 เรื่องนี้มีผลต่อความขัดแย้งไม่มีทางเกิดความปรองดองได้”ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวด้วยว่า อยากให้คณะกรรมการปฏิรูปเข้าไปแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วย โดยไม่เน้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มุ่งการกระจายรายได้ การทำให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสเข้าถึงปัจจัยการผลิตอย่างเป็นธรรม ทั้งที่ดินและเงินทุน ที่สำคัญจะต้องมีการปรับปรุงระบบภาษีให้เห็นธรรม เพราะบ้านเราระบบภาษีทรัพย์สินมีความไม่เป็นมากธรรมที่สุด โดยเฉพาะกำไรจากการขายหลักทรัพย์ Capital GainsTax เชื่อว่ารัฐบาลไม่กล้า ทั้งๆที่ประเทศอื่นเก็บกัน