แบ่งงาน กก.สมัชชาฯ หมอประเวศ เปิด 14 คณะทำงาน
ย้ำชัดวันนี้ประเทศจำเป็นต้องปฏิรูปใหญ่เชื่อมโยงกันหมดทุกเรื่อง เปรียบคนไทยเหมือนไก่อยู่ในเข่ง ต้องรู้ว่าเข่งคืออะไร รวมตัวอย่างไรให้ออกจากเข่งให้ได้
วันนี้ (24 ก.ค.) สถานีวิทยุ อสมท F.M.96.5 MHz จัดงานสัมมนาครึ่งปีประเทศไทย “คิดเพื่ออนาคต ถอดโจทย์ประเทศไทย ตอน:เส้นทางปฏิรูป” ณ โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ ถ.รัชดาภิเษก โดยมีนายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน
จากนั้น ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป ปาฐกถาเรื่อง "คิดเพื่ออนาคต ถอดโจทย์ประเทศไทย ตอน สู่เส้นทางปฏิรูป" ว่า สื่อสำคัญที่สุดต่อการปฏิรูป เพราะเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้คนไทยรู้ความจริงหมดทั้งประเทศ เป็นเครื่องมือทรงพลังฝ่าวิกฤต สามารถฝ่าวิกฤตไปด้วยปัญญา
ส่วนการปฏิรูปประเทศ ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า จำเป็นต้องปฏิรูปใหญ่เชื่อมโยงกันหมดทุกเรื่อง โดยการปฏิรูปต้องเข้าใจสาเหตุ ทำไมบ้านเมืองเรามีทรัพยากรมากมายต้องมาวิกฤตอย่างนี้ เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คนไทยเหมือนไก่อยู่ในเข่ง ไก่รวมตัวกันไม่เป็น แต่คนไม่ใช่ไก่ คนต้องรู้ว่าเข่งคืออะไร รวมตัวอย่างไรให้ออกจากเข่งให้ได้ ซึ่ง เข่ง ในที่นี้ คือโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม
“โครงสร้างสังคมก็เช่นเดียวกันกำหนดอะไรไว้ก็เป็นอย่างนั้น เราจะอบรมศีลธรรมอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมจึงเสื่อมเสียทางศีลธรรม เพราะตัวโครงสร้างกำหนดไว้ เช่น โครงสร้างทางกฎหมาย ไม่เป็นธรรมแล้วแรงสุดๆ กฎหมายมีอคติต่อคนจน การเข้าถึงทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม คนจนดิ้นรนไม่มีที่ทำกิน แม้กระทั่งโครงสร้างทางภาษีอากร”
ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวถึงระบบการศึกษา คือการทำลายฐานข้างล่าง โดยไม่เข้าใจ และคนที่จบการศึกษาก็ไม่เข้าใจคนข้างล่าง นี่คือโครงสร้างการศึกษาที่ทำร้ายประเทศไทย ผลจึงแรงมาก ซึ่งมีคนไทยน้อยคนจะเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง ถึงเข้าใจก็แก้ไขยาก เพราะติดอยู่ในความรู้สึกนึกคิด จิตสำนึก จะแก้ได้ต่อเมื่อประเทศวิกฤตหนักจนคนทั้งประเทศมาร่วมมือกัน อย่างเยอรมนีกับญี่ปุ่น หลังแพ้สงครามเจริญรวดเร็วเพราะใช้วิกฤตแก้ปัญหาที่แก้ไม่ได้
“บ้านเมืองเราวิกฤตไปแล้ว หวังว่าความตายของพี่น้องคนไทย จะทำให้คนไทยเกิดความเศร้าสลด และเกิดเป้าหมายเดียวกัน ปฏิรูปประเทศ คนไทยไม่เคยมีเป้าหมายเดียวกัน ถ้าเรามีจะเกิดพลังมหาศาลสามารถออกจากวิกฤต การปฏิรูปต้องสร้างเป้าหมายเดียวกันของคนไทย ดังนั้นต้องอาศัยพลังทางสังคมและพลังทางปัญญา”
ทั้งนี้ ราษฎรอาวุโส ได้ยกตัวอย่างการเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญา และเห็นว่า คำเรียกร้องยังไม่ใช่นโยบาย สิ่งใดทำได้ต้องผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์ เพราะบางครั้งการแก้ปัญหาหนึ่ง กลับไปเพิ่มปัญหาให้ใหญ่กว่าเดิม ปฏิรูปคราวนี้เราจึงออกแบบคณะกรรมการ ออกเป็น 2 คณะ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ส่งเสริมภาคส่วนทางสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาเป็นเจ้าของ คณะกรรมการปฏิรูป ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน ทำหน้าที่สังเคราะห์เชิงนโยบาย หากขบวนการทางสังคมเคลื่อนไหว ซึ่งหากไม่ติดอาวุธทางปัญญา เรียกร้องไปรัฐบาลก็ทำไม่ได้
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้แบ่งการทำงานเป็น 14 คณะ ได้แก่ คณะที่ 1 องค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป คณะที่ 2 คณะกรรมการเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน และสภาผู้นำชุมชน คณะที่ 3 คณะกรรมการเครือข่ายผู้ใช้แรงงานและคนจน คณะที่ 4 คณะกรรมการเครือข่ายพลังสตรีเพื่อการปฏิรูป คณะที่ 5 คณะกรรมการพลังเยาวชนเพื่อการปฏิรูป คณะที่ 6 คณะกรรมการคนพิการเพื่อการปฏิรูป คณะที่ 7 คณะกรรมการผู้ด้อยโอกาสเพื่อการปฏิรูป คณะที่ 8 คณะกรรมการภาคธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะที่ 9 คณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป คณะที่ 10 คณะกรรมการอุดมศึกษาเพื่อการปฏิรูป คณะที่ 11 คณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป คณะที่ 12คณะกรรมการการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเป็นธรรม คณะที่ 13 คณะกรรมการเพื่อความยุติธรรม คณะที่ 14 คณะกรรมการประชาคมจังหวัด