ระดมปัญหาเคลื่อนงานปฏิรูป “เหนือ-ใต้-อีสาน” โจทย์ใหญ่คือซื้อใจชาวบ้านก่อน
ปรีดาเผยชาวบ้านครึ่งหนึ่งต่อต้าน คกก.ปฏิรูป ต้องเร่งรูปธรรมซื้อใจ เชื่อมพื้นที่สู่ภาพประเทศ อคินแนะเรื่องไหนทำได้ไม่ต้องรอ บัณฑรให้เลิก กม.ฉุกเฉินฯ-ชุมนุมฯ อีสานระบุต้องละลายปัญหาสีก่อน เหนือใช้งานวิจัยไทบ้านขยับตามประเด็น ใต้โหนกระแสใช้เครื่องมือสมัชชา
วันนี้(20 ก.ค.) ที่มูลนิธิชุมชนไท โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทย โดยการหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ประชุมหาแนวทางเชื่อมโยงการทำงานจากพื้นที่สู่การปฏิรูป โดยมี ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ และ ผศ.บัณฑร อ่อนดำ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ(คปร.) ร่วมรับฟัง
นายจำนงค์ จิตรนิรันดร์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนเพื่อปฏิรูปสังคมและการเมือง กล่าวถึงปัญหาหลักๆในพื้นที่ภาคอีสานว่ามีความแตกแยกเรื่องสีทำให้การทำงานค่อนข้างยาก เช่น หากจัดเวทีระดมความเห็นที่มีแนวโน้มว่าเสื้อเหลืองจัด ชาวบ้านเสื้อแดงจะไม่ร่วม เมื่อบวกกับปัญหาเชิงประเด็นที่กระจัดกระจายอยู่มาก ทำให้ขับเคลื่อนงานปฏิรูปในพื้นที่ได้ลำบาก
“เพราะพื้นที่ยังครุกรุ่นและหวาดระแวง ถ้าจะปฏิรูปประเทศอาจต้องเริ่มจากรวบรวมประเด็นปัญหาและใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ละลายปัจจัยแอบแฝงพวกนี้ก่อน เป็นการลดความเป็นปฏิปักษ์ก่อนปฏิรูป”
นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำในภาคเหนือและอีสาน ก็มีประเด็นความแตกแยกเรื่องสี ทั้งชาวบ้านที่อยู่ในสถานการณ์หวาดระแวง และปัญหาที่เอ็นจีโอในพื้นที่ยังไม่ชัดเจน มีความกังวลว่ากระแสปฏิรูปจะทำให้ชาวบ้านเข้าไปเป็นแขนขาให้รัฐบาล จึงเสนอว่าวิธีขับเคลื่อนอาจใช้กลุ่มย่อยระดับท้องถิ่นตามกลุ่มปัญหาที่มีความพร้อม รวบรวมผลแล้วขยับเป็นกลุ่มใหญ่ ทั้งนี้ควรเปิดพื้นที่ให้เอ็นจีโอหารือถึงแนวทางร่วมกันก่อน
“อาจใช้งานวิจัยไทบ้านรวบรวมปัญหาและแนวทางแก้ไขเชิงพื้นที่เป็นเครื่องมือ จุดสังเกตคือเมื่อใช้คำว่าปฏิรูปชาวบ้านไม่เอาด้วย จึงน่าจะใช้เวทีนิเวศวัฒนธรรมในการจัดการลุ่มน้ำเพื่อระดมปัญหา”
นางพิชยา แก้วขาว จากโครงการปฏิบัติการชุมชนเมืองน่าอยู่ภาคใต้ กล่าวว่า ภาพรวมการปฏิรูปในพื้นที่ขยับได้แต่ไม่มาก สถานการณ์อาจดีกว่าภาคอื่นเพราะกลุ่มต่อต้านทำลักษณะปัจเจก แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่ความอ่อนไหวเชิงโครงสร้าง ดังนั้นต้องทำลักษณะโหนกระแสแต่ชัดเจนและอิสระ ส่วนรูปแบบการปฏิรูปเสนอใช้สมัชชาคนใต้เป็นเครื่องมือ นำไปสู่การมีส่วนร่วมในการพูดคุยประเด็น
ทั้งนี้ตัวแทน 3 ภูมิภาคเห็นพ้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก่อนการปฏิรูป เพราะเป็นการสร้างความไม่มั่นใจให้ชาวบ้าน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายฝ่ายไม่เข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว
นางปรีดา คงแป้น ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนเครือข่ายปฏิรูปประเทศไทย และกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ (คสป.) กล่าวว่า ขณะนี้โครงการเดินหน้าระดับหนึ่ง แต่บางพื้นที่ยังมีปัญหา จึงต้องหาภาพรวมการเคลื่อนงานให้เชื่อมโยงประเด็นจากพื้นที่สู่ระบบการปฏิรูประดับประเทศ
“เป้าหมายคือทำให้ชาวบ้านแสดงพลังเพื่อสังคม แล้วเสนอสิ่งใหม่ข้ามปัญหาเดิมให้ได้ ขณะนี้ชาวบ้านครึ่งหนึ่งต่อต้านกระแสและกรรมการปฏิรูป การแก้ไขอาจต้องทำรูปธรรมชัดเจนอย่าคิดกว้างๆ”
กรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ (คสป.) กล่าวอีกว่า ตุ๊กตาที่ตั้งไว้และเสนอ คสป.คือแนวทางปฏิรูปประเทศระยะสั้นหรือในระยะเปลี่ยนผ่านนี้จะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่เป็นเรื่องโครงสร้างให้ได้ หลักๆคือประเด็นการแย่งชิงทรัพยากรของกลุ่มต่างๆต้องยกมาเป็นยุทธศาสตร์ ตลอดจนการทำให้องค์กรชุมชนสร้างความเข้มแข็งได้ด้วยตนเอง ไม่ฝากไว้กับคณะกรรมการปฏิรูปเพียงอย่างเดียว ส่วนการประชุมครั้งต่อไปคาดว่าจะนำเรื่องการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลงานในเชิงประเด็น
ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ กรรมการ คปร.เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่าจากการเดินสายรับฟังปัญหาในเวทีชาวบ้านต่างๆ มีหลายเรื่องที่ต้องนำเข้า คปร.เพื่อดำเนินการแก้ไข ในเบื้องต้นจะแก้ปัญหาเร่งด่วนก่อน เช่น ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีข้อพิพาทที่ดินกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งต่อไประยะยาวต้องผลักดันการแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม
“บางเรื่องที่ทำได้ ควรทำก่อน ไปรอ คสป.ทุกเรื่องไม่ได้ เบื้องต้นอยากได้ข้อเสนอและข้อมูลกลุ่มปัญหาต่างๆให้มากที่สุด เพื่อนำไปย่อยและสรุปแนวทางขับเคลื่อนต่อ เพราะข้อมูลที่ได้มาจากชาวบ้านเป็นข้อมูลจริงและมีประโยชน์”
ผศ.บัณฑร อ่อนดำ กรรมการ คปร. เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการประชุม คปร. มาระยะหนึ่งแล้วมีประเด็นที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ เรื่องที่ดิน ป่า น้ำ เช่น กรณีเขื่อนปากมูล นอกจากนี้ยังเสนอให้คุณอานันท์ ปันยารชุน ไปชี้แจงกับรัฐบาลว่าให้ยกเลิกการจัดตั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะแล้วด้วย
“พวกเราไม่มีใครเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ อย่างกรณี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตอนแรกที่รัฐบาลทักษิณจะตั้ง ประชาธิปัตย์ก็ค้าน แต่ตอนนี้ใช้แหลกเลย ใครอยู่อำนาจรัฐก็ใช้พวกนี้ ผมว่าเราต้องตรวจสอบตลอดเวลา ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน” .