“อานันท์” ลั่นปฏิรูป 3 ปี ทำไม่ได้หมดต้องปฏิรูปชั่วอายุคน
วันนี้ (16 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประชุมคณะกรรมการเป็นครั้งที่ 3 ณ บ้านพิษณุโลก กรุงเทพมหานคร โดยนายอานันท์ กล่าวภายหลังการประชุมกว่า 4 ชั่วโมงว่า ได้ขอบเขตของการทำงานค่อนข้างลงตัวแล้ว และพร้อมให้ความเห็นชอบร่วมกันอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่ 22 ก.ค.นี้
ประธานกรรมการปฏิรูป กล่าวถึงกรอบการทำงานว่า แม้จะได้แผนการทำงานแล้ว แต่ยังเป็นเพียงขอบเขตที่กว้างภายใต้ประเด็นใหญ่ ยังไม่มีการแบ่งหน้าที่ลงลึกชัดเจน โดยสิ่งที่ได้ยังเป็นเรื่องนามธรรม ภายใต้หัวข้อใหญ่ เช่น การสร้างความยุติธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เป็นวัตถุประสงค์เป้าหมาย อีกทั้งยังต้องทำเรื่องต่างๆ เช่น ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูประบบราชการ ระบบยุติธรรม การกระจายอำนาจ จัดเป็นหัวข้อเล็กๆ ที่เป็นประเด็นหลัก ดังนั้น ต้องวางลำดับว่า สิ่งใดเป็นเรื่องเร่งด่วน ภายใน 6 เดือนก่อน อาทิ เรื่องที่ประชาชนเดือดร้อนในความเหลื่อมล้ำ ปัญหาที่แก้ไขได้เฉพาะหน้า เช่น ปรับปรุงกฎกระทรวง ปรับปรุงระบบราชการบางอย่าง ที่เป็นอยู่ในอำนาจ ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน
นายอานันท์ กล่าวอีกว่า การปรับปรุงกฎหมายหรือโครงสร้างทั้งหมด คงทำไม่ได้ เพราะไปเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน แต่สิ่งที่อยากเห็น คือ การที่รัฐบาลเล็กลงมา อำนาจรัฐต้องลดลง เพิ่มอำนาจแก่ประชาชน แต่ไม่ถึงขั้นต้องเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องของการเมือง ไม่ใช่การดูเรื่องความขัดแย้งขณะนี้ แต่จะเน้นที่ความสัมพันธ์เชิงการเมือง
“การปฏิรูปภายใน 3 ปี นั้น ทำไม่ได้ทั้งหมด ต้องปฏิรูปชั่วอายุคน อย่างในต่างประเทศก็ยังปฏิรูปไม่หมด เพราะมนุษย์และสังคมเป็นสิ่งที่มีชีวิต เปลี่ยนแปลงทุกยุค ซึ่งไม่ต้องห่วงเรื่องเวลา การปฏิรูป ไม่ใช่ยาสารพัดนึก แต่ต้องทำไปเรื่อย ตราบที่คนยังมีการเปลี่ยนแปลง”นาอานันท์ กล่าว และว่า คำว่า ปฏิรูป เป็นคำโก้ แต่ความหมายจริงคือ เปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้สอดคล้องกับบริบททางด้านต่างๆ ในสังคม อย่าติดยึดที่ระยะเวลา ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่
อคินเผยกก.เห็นต่างแต่พูดคุยกันได้
สำหรับกรรมการปฏิรูป ม.ร.ว อคิน รพีพัฒน์ ประธานมูลนิธิชุมชนไท และนักพัฒนาอาวุโส กล่าวถึงบรรยากาศการประชุมว่า มีความคิดเห็นพูดคุยแตกต่าง แต่สามารถพูดคุยกันได้ ความคิดเห็นที่ผู้เข้าร่วมเสนอนั้นเสริมสร้างให้มอบอำนาจของประชาชนมากขึ้น แต่ในส่วนของตนนั้นยังไม่ได้เสนออะไร แต่ในที่ประชุม ทุกคนคิดถึงเรื่องชุมชน ตามกรอบการคิดทั้ง 3 กรอบในการปฏิรูป
“กรอบแรก คือ การลดความเหลื่อมล้ำ กรอบที่สอง คือ ปัญหาของประชาชน และกรอบที่สาม คือ เรื่องพื้นที่ ซึ่งมุ่งหมายในการการกระจายอำนาจ ให้ความสำคัญ คือ ประชาชน การสร้างความเป็นธรรมที่เป็นปัญหาและนำไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย”
สังคมผู้ปฏิรูปประเทศ นิธิยันไม่หนักใจ
ส่วนนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศว่า ขณะนี้โจทย์ใหญ่ของคปร.คือสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การประชุมครั้งที่ 3 ก็ทำให้โจทย์นั้นเล็กลงแล้วเกิดประเด็นคำถามย่อยในเรื่องต่างๆ ซึ่งครั้งต่อไปจะต้องมาร่วมกันหาคำตอบให้คำถามย่อยจากประเด็นหลักนี้ซึ่งต้องใช้เวลาในการหาคำตอบสักระยะ ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาฯลฯ
เมื่อถามถึงว่าหนักใจหรือไม่กับภารกิจนี้ นายนิธิ กล่าวว่า ไม่หนักใจหรือวิตกกังวลทุกข์ร้อนในงานนี้ เพราะคปร.ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า พวกเราไม่ใช่ผู้ปฏิรูปประเทศ แต่สังคมเป็นผู้ปฏิรูปประเทศไม่ใช่คปร.เป็นคนทำ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครมีอำนาจไปปฏิรูปอะไรได้
“คนที่มีอำนาจเราก็อย่าไปไว้ใจเขา ไม่ว่าคณะไหนก็อย่าไปไว้ใจทั้งนั้น รวมถึงอย่ามาไว้ใจผมด้วย ทั้งหมดเหล่านี้ต้องโยนลงไปให้สังคมเห็นว่าเป็นสมบัติของเขา เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องเป็นผู้ผลักดัน กรรมการชุดนี้ไม่ได้มีหน้าที่ให้คำตอบกับรัฐบาล หลักๆ คือให้คำตอบกับสังคม แล้วก็เป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องผลักดันเรื่องนี้”
เมื่อถามว่าการปฏิรูปนี้เป็นการพยายามแก้ปัญหาหลังจากเกิดกรณีคนเสื้อแดงออกมาเรียกร้อง นายนิธิ กล่าวว่า ตนคิดว่าการปฏิรูปนี้ไม่ได้ต้องการตอบโจทย์คนเสื้อแดงหรือคนเสื้อเหลือง รากฐานของปัญหานี้ไม่ใช่แค่ที่คนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลืองพูดอย่างเดียว รากฐานปัญหามันลึกกว่านั้น ซึ่งตนก็พยายามบอกคปร.ว่าต้องเข้าใจและพยายามหาคำตอบบอกสังคมให้ได้ว่าจะต้องแก้อย่างไร ไม่ใช่แก้เพื่อไม่ให้เห็นการทะเลาะกัน แต่ต้องแก้เพื่อให้ทุกคนไม่ว่าสีไหนได้มีความหวังในชีวิต มีโอกาสในการพัฒนาตัวเองต่อไปได้ข้างหน้า รวมถึงประเทศด้วยว่าจะอยู่ต่อไปข้างหน้าได้อย่างไรด้วย ซึ่งค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าเราไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาทางการเมืองระยะสั้น
สิ้นก.ค.ได้ 5 ด้านที่กก.จะปฏิรูป
ส่วนดร.เดชรัต สุขกำเนิด เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า ขอบเขตการทำงานจะมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะ เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งจะมองทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว แต่ไม่ใช่มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สิ้นเดือนก.ค.นี้จะบอกได้ว่า 5 ด้านที่จะดำเนินการนั้นมีอะไรบ้างในแต่ละด้าน อาจจะมีการยกเรื่องปัญหาเกษตรกรและที่ทำกินขึ้นมาทำการแลกเปลี่ยนและสื่อสารออกมาสู่สังคมด้วย และจะมีคำแนะนำที่เป็นรูปธรรมในการปฏิรูป
“มาตรการแรกของคปร.ที่จะเป็นรูปธรรมนั้นต้องรอสัปดาห์หน้าทราบผล รวมถึงแผนและกรอบการทำงานคาดว่าจะเสร็จสิ้นในสัปดาห์หน้าด้วย และในวันที่ 19 ก.ค.นี้สมัชชาคนจนก็จะจัดเวทีรวมคดีคนจนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้กรรมการปฏิรูปได้ร่วมรับฟัง ซึ่งจะมีม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์, นายบัณฑร อ่อนดำ และตนก็จะไปร่วม”
เลขานุการคปร. กล่าวด้วยว่า สิ่งที่คปร.ย้ำเป็นพิเศษคือการปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ต้องมีแรงขับเคลื่อนจากสังคม เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่คณะกรรมการมาประชุมกันแล้วเสนอต่อรัฐบาลแล้วจะสำเร็จ แต่สุดท้ายต้องอยู่ที่สังคมว่าจะตอบรับ สนับสนุน สังคมจะรู้สึกว่าเป็นทิศทางที่ประเทศควรจะเป็นหรือไม่ ดังนั้นกรรมการปฏิรูปจึงมีความจำเป็นในการรับฟัง พูดคุยหารือกับประชาชน ทำให้การปฏิรูปเป็นขบวนการของสังคม ซึ่งจุดชี้ขาดจะอยู่ที่มีแรงขับเคลื่อนจากสังคมได้จริงหรือไม่