เตรียมปั้นยุทธศาสตร์ประเทศ ดึงคนไทยร่วมสร้าง “ประชาคมนักคิดยุคใหม่”
พล.อ.เอกชัย ชี้ที่ผ่านมาประเทศไทยขาด "นักยุทธศาสตร์" จี้เร่งผลิตนักคิดยุคใหม่ ร่วมแก้ปัญหา-วางยุทธศาสตร์ชาติ ด้าน “รองผอ.กองศึกษาวิจัยยุทธศาสตร์ฯ กองทัพ” เสนอสร้าง “ประชาคมนักคิด ” จัดทัพ 7 กระบวนการร่วมเปลี่ยนประเทศ หนุนสร้างคนสร้างชาติ ส่วน “นักวิจัย สวทน.” ระบุวันนี้คนไทยต้อง มองข้ามช็อต ไปให้ไกลกว่าแก้ปัญหา เชื่อต้องร่วมสร้างภาพอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายสถาบันทางปัญญาประชุม “ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย” ครั้งที่ 37 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดีรังสิต ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูปเป็นประธาน โดยพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และคณะ นำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยมิติการสร้างสมรรถนะทางยุทธศาสตร์ ในหัวข้อ “สร้างนักคิดยุคใหม่เพื่ออนาคตสังคมไทย”
พล.อ.เอกชัย กล่าวถึงแนวโน้มสังคมไทยในอนาคตว่า ชุมชนเมืองจะเป็นปัจเจกมากขึ้น ผู้คนจะเห็นแก่ตัวมากขึ้น ชุมชนเมืองกับชุมชนชนบทจะยิ่งแตกต่างกัน โดยเฉพาะรายได้ แรงงานภาคเกษตรจะไหลสู่ภาคอุตสาหกรรมเพราะค่าแรงที่ได้สูงกว่า ชาวชนบทจะมีที่ดินลดลงและขาดกรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื่องจากความเป็นประเทศอุตสาหกรรม ธุรกิจที่ดินมีราคาสูง มีความต้องการช่างฝีมือแรงงาน ดังนั้น สังคมต้องพัฒนาคนให้มีความชำนาญเฉพาะด้าน และระบบการติดต่อสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนผู้หญิงจะทำงานมีรายได้และพึ่งตนเอง รวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นด้วย
"ขณะนี้ประเทศไทยขาดการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพยากรณ์อนาคตของชาติ ขาดการสร้างนักคิดยุคใหม่ในการแก้ปัญหาชาติ ที่ผ่านมาการกำหนดยุทธศาสตร์ก็ไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชาติ ไม่ได้คิดถึงรากเหง้าความเป็นไทยและวัฒนธรรมของชาติ ไปมุ่งเน้นผลิตให้เด็กเยาวชนมุ่งเรียนแข่งขันกันในสายวิทยาศาสตร์ จนขาดการผลิตบุคคลากรที่จะมาทำงานด้านสังคม ส่งผลให้การแก้ปัญหาของสังคมตลอดมาใช้เพียงความเป็นศาสตร์แก้ไข ขาดศิลปะในการแก้ปัญหา ดังนั้นจึงต้องสร้างนักคิดยุคใหม่เพื่อศึกษายุทธศาสตร์ชาติโดยรักษารากเหง้าความเป็นไทยด้วย"
ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงการศึกษายุทธศาสตร์ชาติ ควรมีแนวทางในการสร้างความรู้จาก 3 ส่วนหลักซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีน้อยมาก คือ 1.ต้องทำให้มีการศึกษาเชิงอนาคตศาสตร์ 2.ต้องสร้างการศึกษาภูมิรัฐศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงสภาพปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศให้ได้ เช่น ทำให้เกิดการแมปปิ้งปัญหาของชาติในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ให้เห็นว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาและการแก้ไขอย่างไรบ้างแล้ว โดยเฉพาะกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ และ 3.ต้องมีการศึกษาเรื่องกำลังอำนาจแห่งชาติ ว่าประเทศมีขีดความสามารถในแต่ละด้านระดับใดบ้าง เช่น การทหาร เศรษฐกิจ การเมือง สังคมวิทยา ฯลฯ โดยนักยุทธศาสตร์จะต้องยึดหลักคิดมองไกลและมองกว้างให้เห็นภาพอนาคตไปอีกหลายสิบปี และต้องรู้สถานการณ์ของโลก ภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ส่วนพ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง รองผู้อำนวยการกองศึกษาวิจัยทางยุทธศาสตร์ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย หนึ่งในคณะทำงานสร้างนักคิดยุคใหม่เพื่ออนาคตสังคมไทย กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยต้องการตัวแทนคนยุคใหม่(Change Agent) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคต ซึ่งประเทศไทยต้องสร้างประชาคมนักคิดยุคใหม่ (Strategic community) ให้เกิดขึ้นโดยยึดหลัก สร้างคนเพื่อให้คนกลุ่มนี้ไปสร้างชาติในอนาคต
ทั้งนี้การสร้างนักคิดยุคใหม่ต้องอาศัยการเชื่อมโยง 4 องค์ความรู้ประกอบกัน คือ การศึกษาอำนาจแห่งชาติ (National Power) ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) การคาดการณ์อนาคต (Foresight) และการวางแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Planning)
สำหรับกระบวนการความเป็นประชาคมนักคิดยุคใหม่นั้น พ.อ.ดร.ธีรนันท์ กล่าวว่า มี 7 กระบวนการ ได้แก่ มีการฝึกฝนอบรมเชิงยุทธศาสตร์ , สร้างการศึกษาด้านยุทธศาสตร์ , วิจัยเพื่อยุทธศาสตร์ , จัดประชุมทางยุทธศาสตร์ , จัดทัศนศึกษาเพื่อสร้างยุทธศาสตร์ , รวมถึงจัดเวทีพูดคุยและเสวนาเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์, สู่เป้าหมายเกิดอัจฉริภาพของประชาคมนี้
“ประเทศไทยเราอยู่คนเดียวไม่ได้ มีทั้งความเสี่ยงและโอกาสไม่ว่าระดับประเทศเพื่อนบ้าน ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ดังนั้นเกิดคำถามว่า เราจะอยู่อย่างไร วันนี้เราขาดหน่วยงานกำหนดยุทธศาสตร์ จึงควรมีประชาคมนักคิดขึ้นมาในการเชื่อมต่อระดับบนและล่างในสังคม เราต้องการตัวแทนของคนยุคใหม่ที่ต้องสร้างและพัฒนาขึ้นมาเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งไม่จำเป็นต้องสร้างสถาบันด้านนี้ หากสร้างประชาคมนักคิด เริ่มจากมองคนรุ่นใหม่ดึงนำคนเหล่านั้นมาสู่ประชาคมเพื่อสร้างคน และคนเหล่านี้ก็จะไปต่อยอดสร้างชาติ” พ.อ.ดร.ธีรนันท์ กล่าว
ด้านดร.สุชาต อุดมโสภกิจ นักวิจัยนโยบายศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวถึงนักคิดยุคใหม่ที่จะเข้ามาคิดยุทธศาสตร์ชาติว่า กล้าคิดนอกกรอบ เน้นการมีส่วนร่วม และต้องมีความมุ่งมั่นที่จะมอบอนาคตที่ดีกว่าให้คนรุ่นต่อไป ทั้งนี้ภาพอนาคต (Scenario) เป็นเรื่องที่เป็นจริงขึ้นได้ ไม่ใช่ภาพที่น่าจะเป็นหรือควรจะเป็น เพราะภาพอนาคตคือการซักซ้อมอนาคตจากการคุกคามเปลี่ยนเป็นข้อได้เปรียบ
“ขณะนี้คนไทยมองไม่เห็นอนาคตว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร จึงเกิดความพยายามทำโครงการให้เกิดความคิดการมองข้ามช็อต ไม่ใช่คิดเพื่อแก้ปัญหาปัจจุบัน แต่มองไปถึงการใช้โอกาสทำอะไรบางอย่างในปัจจุบัน ให้เกิดประโยชน์ในอนาคตระยะยาว ซึ่งเรามองว่าพลังนักศึกษาจะเป็นตัวแทนนำการเปลี่ยนแปลง change agent ได้”
ส่วนดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ นักวิจัย และกรรมการก่อตั้งเครือข่ายงานวิจัยสาขาการบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวถึงผลการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2550 กรณีตัวอย่างโครงการนำประชาชนจ.ลำพูนมาร่วมวาดภาพอนาคตจังหวัดในอีก 10-25 ปีข้างหน้าว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในรูปธรรมของความพยายามสร้างกระบวนการคาดการณ์อนาคตในประชาคมท้องถิ่น เป็นการติดอาวุธทางความคิดให้ประชาชน ในการนำไปกดดันภาคนักการเมืองท้องถิ่นให้ตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวถึงผลการสร้างภาพอนาคตว่า พบชาวลำพูนมองเห็น 4 ภาพ คือ 1.”ความรุ่งเรืองบนความเสื่อมโทรม” ซึ่งเป็นสวรรค์ของแรงงานชนกลุ่มน้อยและต่างด้าว เป็นเมืองแห่งขยะอุตสาหกรรมที่จะมีนิคมกำจัดขยะเกิดขึ้น เกิดธรุกิจขยะ นิคมอุตสาหกรรมล่มสลาย วัดเปลี่ยนแปลงมิติบทบาทจากศูนย์กลางเป็นการลดความแตกแยกของคนในสังคม เกิดผู้นำการเมืองใหม่ที่มีจริยธรรม และให้ความสำคัญกับทุนทางสังคม 2.”ย้อนรอยเมืองลำพูนยุคโลกาภิวัตน์”พืชเศรษฐกิจหลักลำไยถูกแทนที่ด้วยสวนยางพารา ผู้สูงอายุมีบทบาทมากในการเปลี่ยนแปลงเมืองลำพูน พัฒนาการการเมืองไร้ทิศทาง เกิดวัฒนธรรมล้านนาใหม่ และเกิดปัญหาขาดทักษะวิชาชีพ
3.”อินเตอร์ลำพูน” เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานและชาวจีนเข้าสู่เมืองอย่างชัดเจน บุคลากรที่รู้เรื่องเทคโนโลยีจะมีบทบาทขับเคลื่อนเมือง พื้นที่เกษตรกรรมลดลง เขตอุตสาหกรรมขยายตัว เกิดอาชีพใหม่ที่เน้นภาคบริการ เช่น บริการขนส่ง เกิดธุรกิจบริการและท่องเที่ยว ฯลฯ เกิดปัญหาชาวเมืองมีความเครียด ก้าวร้าว เบี่ยงเบนทางเพศ มีแนวโน้มเป็นเมืองหลวงแห่งทอมดี้ และภาพที่ 4 “เมืองลำพูนเลื่องชื่อลือนาม สิ่งแวดล้อมงาม การศึกษาเด่น” เกิดความแตกต่างทางอัตลักษณ์ชัดเจนระหว่างเชียงใหม่กับลำพูน มีประชากรแฝงเพิ่มขึ้น เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมชาวลำพูนกับวัฒนธรรมภายนอกอย่างรุนแรงและรวดเร็ว สื่อจะมีอิทธิพลสูงขึ้นต่อวิถีชีวิต เช่น เกิดอิเล็คทรอนิกส์เกษตร เป็นต้น สิ่งแวดล้อมจะเกิดผลกระทบขยายวงสัมพันธ์ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลก
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 มี.ค. มีการระดมสมองเพื่อหาประเด็นอุบัติใหม่ และล่าสุดเมื่อวันที่ 9-10 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการระดมสมอง "การมองอนาคตกรุงเทพมหานคร" เพื่อร่วมมองภาพอนาคตเมืองหลวงสู่ปีพ.ศ. 2573 โดยได้ภาพอนาคตมา 3 ภาพ คือ มองเรื่องการแข่งขันกับความร่วมมือ และการกระจุกตัว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อประมวลสรุปผล เพื่อนำสู่การปฏิบัติให้ได้มากที่สุด โดยสวทน.จะนำการมองอนาคตนี้ใส่เข้าไปในแผนแม่บท ส่วนกรุงเทพมหานครก็จะนำไปพิจารณาสู่การปฏิบัติเชิงนโยบาย และคาดว่าจะนำผลนี้ไปดำเนินการขยายสู่ 68 เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นเดียวกัน