19 อรหันต์กก.ปฏิรูปฯ ห่วงปัญหาปากท้อง-ระบบราชการ-เกษตรกรรม-การศึกษา
“เลขาฯ กก.ปฏิรูป” เผย "อานันท์" พอใจภาพรวมการประชุมกรรมการนัดแรก ไร้ปัญหาขัดแย้ง แต่ทุกคนหนักใจปฏิรูปงานใหญ่ ห่วงการเดินไปสู่เป้าหมาย ด้าน “คุณหญิงกษมา” ย้ำกก.เป็นแค่คนจุดประกาย สังคมต้องร่วมผลักให้สำเร็จ พร้อมชูปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่วน “แม่สมปอง" ชี้ปัญหาปากท้องต้องมาก่อน เปรียบคปร.เป็นหมอรักษาสังคม
วันนี้ (12 ก.ค.) ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เปิดเผยกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยถึงการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ว่า การประชุมครั้งแรกเป็นการอธิบายงานปฏิรูปประเทศให้คณะกรรมการเข้าใจตรงกัน โดยนายอานันท์ ได้ให้กรอบการทำงานอย่างกว้างว่าจะมุ่งการทำงานที่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มากกว่าการเยียวยาปัญหาที่ผ่านมาที่เฉพาะเรื่อง
เลขานุการ คณะกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า นายอานันท์ ได้เน้นการทำงานที่มุ่งการแก้ปัญหาที่การปรับปรุงปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาภาพรวมในอนาคต และการปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการนำที่สิ่งคณะกรรมการชุดนี้ทำ ออกแลกเปลี่ยนและเผยแพร่สู่สังคมด้วย จะต้องเป็นการขับเคลื่อนทั้งสังคม เช่นเดียวกับกรณีการผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2540
ส่วนศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูป เข้าร่วมประชุมด้วยนั้น ดร.เดชรัต กล่าวว่า ศ.นพ.ประเวศ ได้อธิบายความสำคัญและแนวคิดการปฏิรูปประเทศ ต้องเกิดจากความพยายามที่จะปฏิรูปในหลายส่วน เช่น ปฏิรูประบบสุขภาพ ระบบการศึกษา การกระจายอำนาจ ปฏิรูปการเมือง เป็นต้น ซึ่งหากไม่ได้ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน จะทำให้การปฏิรูปไม่ประสบความสำเร็จ
“การประชุมที่ผ่านมาประธานก็พอใจที่กรรมการทุกคนร่วมแสดงความเห็น และแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างเสรี ไม่ได้มีปัญหาหรือความขัดแย้งอะไรกัน แต่กรรมการก็ยังมีความหนักใจอยู่ว่าจะดำเนินการเพื่อไปสู่วัตถุประสงค์ที่ต้องการได้อย่างไร ” เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป กล่าว
ดร.เดชรัต กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมครั้งแรกนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจที่กรรมการแสดงถึงความห่วงใย เช่น ปัญหาระบบราชการ โดยเฉพาะปัญหาระบบงบประมาณ ปัญหาเกษตรกรรม คุณภาพชีวิตเกษตร ปัญหาการศึกษา เป็นต้น รวมถึงเปิดโอกาสให้สอบถามลักษณะแนวทางการทำงานของคณะทำงานให้เกิดผลสำเร็จ จากั้น ได้วางกรอบให้คณะกรรมการประชุมกันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ที่บ้านพิษณุโลก ซึ่งไม่ให้สื่อมวลชนร่วมฟัง เนื่องจากต้องการให้ได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่
ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการปฏิรูป และอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการประชุมครั้งแรกว่า เป็นการเปิดประเด็นโดยกว้างให้กรรมการแต่ละคนแสดงความเห็นในเรื่องที่คิดและดำเนินการอยู่ โดยให้คณะกรรมการทั้ง 19 คนร่วมเปิดประเด็น พร้อมย้ำว่า คณะกรรมการทั้งหมดจะเป็นเพียงผู้จุดประกายในการปฏิรูป ซึ่งทุกคนสังคมต้องร่วมกันผลักดันการปฏิรูปด้วยจึงจะสำเร็จ
คุณหญิงกษมา กล่าวอีกว่า ตนได้เสนอเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษา ให้กลับมาพิจารณาปัญหาโอกาสและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา เสนอให้ทบทวนประเด็นบทบาทของสถาบันครอบครัวในการส่งเสริมการศึกษา หน้าที่ของพ่อและแม่ รวมถึงเสนอให้สร้างมาตรการในการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาความสามารถที่แตกต่างกันของเด็กและเยาวชนให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในลักษณะการศึกษาในระบบเท่านั้น อีกทั้งเสนอประเด็นการดึงเด็กและเยาวชนที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการศึกษา เด็กด้อยโอกาส เด็กหรือเยาวชนที่หลงกระทำผิด ให้สามารถกลับมามีสิทธิและโอกาสเข้าสู่การได้รับการศึกษาได้ด้วยซึ่งเป็นประเด็นการขยายโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น
“ที่ผ่านมามีหลายคนพูดว่าปริญญาบัตรนั้นไม่สำคัญที่สุดในการศึกษาแล้ว แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าสิ่งนี้ยังเป็นเครื่องมือในการหารายได้อยู่ ในการประกอบอาชีพในสังคม ดังนั้นจะต้องมีการกลับมาทบทวนเรื่องการสร้างการศึกษา และประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วย ขณะนี้มีบุคคลหลายกลุ่มได้เริ่มสะท้อนและเสนอความคิดเห็นในเรื่องการจัดการศึกษาเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งก็ยินดีรับฟัง”
ขณะที่นางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำผู้ชุมนุมชาวปากมูล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และตัวแทนคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล หนึ่งในกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า ตนได้รับการติดต่อจากนายอานันท์โดยตรง ซึ่งนายอานันท์เห็นว่าจากประสบการณ์ที่ตนได้คลุกคลีกับคนยากจนและชาวบ้าน รวมถึงประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมาทำให้รอบรู้ปัญหาชาวบ้านในหลายทิศทาง และคาดหวังว่า จะนำความสามารถนี้มาช่วยระดมความคิดในการหาทางออกแก่ประเทศไทยได้
และเมื่อถามถึงการแก้ปัญหาคนจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำและป้องกันปัญหาที่จะเกิดในอนาคตนั้น นางสมปอง กล่าวว่า การเร่งแก้ปัญหาเรื่องปากท้องก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และจะเป็นเรื่องดีมาก ถ้าทำให้ไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันได้
“เดิมนั้นเห็นด้วยมาตลอดในการทำการปฏิรูปประเทศ แต่ที่ผ่านมาทำเพียงอาศัยมวลชนที่มีอยู่ในท้องถิ่นปฏิรูปตนเอง แก้ไขปัญหาต่างๆ กันเอง หากต่อไปรัฐเข้ามาสนับสนุนก็ยินดี แต่จะเข้ามาหาเสียงกับเรื่องนี้ ก็ไม่เห็นด้วย เพราะเราไม่สนับสนุนการเมือง ขณะนี้ภาพรวมปัญหาของประเทศเสมือนมีทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วยสะสมมาหลายสิบปี ดังนั้นต้องศึกษาให้ลึก เริ่มดูคนป่วยก่อน โดยคณะกรรมการปฏิรูปจะทำหน้าที่คล้ายกับหมอ ที่เมื่อรักษาคนป่วยให้หายจากอาการป่วยได้ สังคมก็จะยอมรับ และก็จะมีแรงสนับสนุนตามมาเอง” นางสมปอง กล่าว
เมื่อถามถึงภาพรวมรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 19 คนที่ออกมานั้น นางสมปอง กล่าวว่า ตนไม่ได้กังวลว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ ขอเพียงให้มีจุดยืนที่ชัดเจนและเป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ในการนำความจริงและปัญหาที่เกิดขึ้นมาเสนอ ต้องไม่มัวเกรงใจกัน เชื่อว่าจะทำให้การทำงานเดินหน้าไปอย่างราบรื่น และย้ำว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มียศฐาบรรดาศักดิ์ บางคนมีประสบการณ์ในแต่ละเรื่อง แต่อาจจะยังไม่เพียงพอเท่ากับคนที่อยู่กับปัญหานั้นจริงๆ