เลขาฯสภาพัฒน์ เผยจุดเสี่ยงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8-10
พบรัฐบริหาร-ปกครองประเทศตลอด 30 ปี ทำงานอ่อนแอ โครงสร้างศก.ขาดการพึ่งพาตนเอง เล็งจัดงานใหญ่ 6 ส.ค.ระดมคนร่วมพิจารณาร่างแผนฯ 11 ดร.อำพล ย้ำชัดแผนยุทธศาสตร์ที่ดีไม่จำเป็นต้องมีหลายหน้า แต่ต้องเป็นความเห็นพ้องของคนทุกภาคส่วน
เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)จัดประชุมระดมความคิดเห็นทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) กลุ่มสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัตชั้น 1 อาคาร 4 ในประเด็นความคิดเห็นต่อกรอบแนวคิด ทิศทางการพัฒนาภายใต้แผนฯ 11 บทบาทสื่อมวลชนในการขับเคลื่อน และความคาดหวังของสื่อมวลชนเกี่ยวกับสังคมไทยที่พึงปรารถนา
ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช. กล่าวถึงบทบาทสื่อมวลชนกับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ว่า ว่า จากการรวมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน การวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ จาก สศช. ได้ข้อสรุปว่า ได้พบสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ ฉบับที่ 8 ที่ผ่านมา จนมาถึงฉบับที่10 คือ 1.ความอ่อนแอการทำงานด้านรัฐ ในการบริหารและปกครองตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่เป็นจุดเสี่ยงอย่างมาก 2.โครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอ ปล่อยให้เคลื่อนไหวไปตามแรงความผันผวนเศรษฐกิจจากต่างประเทศ มากกว่าในชาติ ขาดการพึ่งพาตนเอง มุ่งการส่งออก มากกว่าภาคการเกษตรที่เป็นทรัพยากรหลักของประเทศ 3.โครงสร้างประชากรที่ไม่สมดุล ผู้สูงอายุในชนบทมาก และวัยแรงงานเข้ามาทำงานในเมืองหลวง 4.การเสื่อมสลายของค่านิยมและวัฒนธรรมไทย เปลี่ยนระบบเกษตรมาใช้อุตสาหกรรม และ 5.การเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
ดร.อำพน กล่าวว่า หากจะช่วยหาทางป้องกันความมั่นคงของประเทศให้มีดัชนีชี้วัดจากความ สุขมากกว่าจีดีพี ต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี จึงเสนอ ว่า 1.ต้องยึดระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ยึดภาคเกษตรเป็นฐานรายได้หลักและความมั่นคงด้านอาหารของสังคมชนบท เชื่อมโยงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น 3.ยึดการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานความรู้และเทคโนโลยี 4.ยึดค่านิยมที่ดีและวัฒนธรรมไทย 5.ยึดชุมชนเป็นฐานที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ การมีส่วนร่วม 6.ยึดความเป็นเอกราช ความเป็นกลางในเวทีโลก ความเป็นพันธมิตรในเวทีอาเซียน
“ขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่างแผนฯ 11 และรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วน เพื่อเสนอแก่มติคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบ โดยจะประชุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 6 สิงหาคม ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีประชาชนกว่า 4,000 คน จากหลากหลายองค์กร ร่วมพิจารณา ซึ่งตนเห็นว่าแผนยุทธศาสตร์ที่ดีอาจไม่จำเป็นต้องมีหลายหน้า อาจมีเพียงแค่ 2 หน้าแต่เป็นความเห็นพ้องตรงกันของคนทุกภาคส่วนและมีคุณภาพก็เพียงพอแล้ว”
จากนั้น นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง จากหนังสือพิมพ์ อีคอนนิวส์ กล่าวถึงการจัดทำแผนฯ นั้น หากจะทำให้สำเร็จ ต้องสร้างให้เป็นแผนของชาติ ไม่ใช่เพียงเป็นแผนของรัฐ การร่างแผนฯ 11 ให้ได้ ตรงตามต้องการจากทุกๆส่วนเชื่อว่า จะช่วยเพิ่มมูลค่าทรัพยากรได้มาก และยั่งยืน โดยให้เอกชนเข้ามาช่วยดูแล ผลักดันชุมชนให้เข้มแข็ง และใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในการทำงาน
ส่วนนางฟองสนาน จามรจันทร์ นักจัดรายการวิทยุ กล่าวว่า การสร้างแผนฯ แต่ละฉบับที่ผ่านมาของ สศช. ยังขาดความทะเยอทะยาน เขียนเอกสารแบบราชการ และยังไม่มีเป้าหมายอย่างชัดเจน ทำให้การดำเนินการตามแผนเป็นไปได้ยาก ซึ่งสำหรับแผนฯ 11 นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทาง สศช. ต้องร่วมกันสร้างโจทย์ให้ได้ เช่น การกำหนดความสำคัญของภาคการเกษตร แยกพื้นที่อุตสาหกรรมให้ชัดเจน
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ ที่มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยออกมาช่วยอย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส หากมีการร่างแผนที่ชัดเจน การพัฒนาของประเทศ น่าจะเดินต่อไปได้ดี ขอเพียงความชัดเจน จาก สศช. สร้างแผนที่จะนำไปสู่สิ่งที่สำเร็จด้วยกัน”
ขณะที่นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ จากสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย กล่าวว่า วันนี้ชาวบ้านยังไม่ไว้ใจหน่วยงานของรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าอดีตนั้น สศช. ไม่สามารถทำงานตอบโจทย์ของชาวบ้านได้ จึงอยากให้เร่งรวบรวมข้อมูลความต้องการให้ได้มากที่สุด พิจารณา วิเคราะห์ จัดการและช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆของชาติ
สุดท้ายตัวแทนนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แผนฯ 11 ต้องเป็นแผนของชาติ ที่รัฐบาลต้องร่วมกันทำ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ โดยสื่อมีหน้าที่ช่วยดูแล สร้างระบบการตัดสินใจที่ดีของประชาชน และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้น